เปิดผลประโยชน์ "อัยการใหญ่" ในรัฐวิสาหกิจ ปมชิงเก้าอี้บอร์ด ปตท.?
"..พูดกันในหมู่ข้าราชการอัยการว่า นายจุลสิงห์ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ไม่ค่อยลงรอยกับนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อสส.คนปัจจุบันเท่าใดนัก โดยนายจุลสิงห์พยายามผลักดัน รอง อสส.รายอื่นที่ไม่ใช่นายอรรถพลขึ้นดำรงตำแหน่ง อสส.แทนตนเอง แต่ไม่สำเร็จ.."
เพิ่งพ้นตำแหน่งอัยการสูงสุด (อสส.) มาไม่ยันไม่ทันครบเดือน นายจุลสิงห์ วสันต์สิงห์ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากอัยการอาวุโสอย่างกระทันเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ทั้งๆที่สามารถอยู่ในตำแหน่งอัยการอาวุโสได้อีกหลายปีจนถึงอายุ 70 ปี
อะไรคือสาเหตุทำให้นายจุลสิงห์ยื่นหนังสือลาออกจากราชการอย่างกระทันหัน
พูดกันในหมู่ข้าราชการอัยการว่า นายจุลสิงห์ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ไม่ค่อยลงรอยกับนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อสส.คนปัจจุบันเท่าใดนัก โดยนายจุลสิงห์พยายามผลักดัน รอง อสส.รายอื่นที่ไม่ใช่นายอรรถพลขึ้นดำรงตำแหน่ง อสส.แทนตนเอง แต่ไม่สำเร็จ
หลังจากที่นายอรรถพลรับตำแหน่ง อสส.ต่อจากนายจุลสิงห์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ได้มีแนวคิดในการปรับปรุงการบริหารงานในสำนักงาน อสส.ใหม่หลายเรื่องโดยเฉพาะการส่งอัยการระดับสูงไปดำรงตำแหน่งกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจ ที่จะให้คณะกรรมการข้าราชการอัยการ (ก.อ.) เป็นผู้คัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมไปดำรงตำแหน่ง แทนที่จะให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งระบุชื่ออัยการที่ต้องการให้ไปเป็นบอร์ด
ดังนั้น เมื่อนายจุลสิงห์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการอย่างกระทันหัน ทำให้คาดกันว่า อาจจะเป็นเพราะความขัดแย้งของอดีต อสส.กับ อสส.คนปัจจุบันถึงจุดสุกงอมด้วยสาเหตุ 2 ประการสำคัญ คือ
1.นายอรรถพลได้สั่งให้นายจุลสิงห์ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ชุดหนึ่งของวุฒิสภา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา กรณีมีความเห็นไม่ส่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีก่อการร้ายซึ่งทำให้นายจุลสิงห์โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากฝ่ายตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ แต่นายจุลสิงห์ปฏิเสธจะไปชี้แจงต่อ กมธ.ชุดดังกล่าว โดยอ้างว่ามีข้อขัดข้อง และยื่นหนังสือลาออกในวันเดียวกัน
2.เรื่องตำแหน่งของกรรมการหรือบอร์ดบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งนายจุลสิงห์เป็นบอร์ดมานานหลายปีโดยเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2556 นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. ได้ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า นายจุลสิงห์ กรรมการอิสระ และประธานกรรมการตรวจสอบของบริษัท ได้ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการและ คณะกรรมการบริษัท ปตท. ได้มีมติแต่งตั้งนายอรรถพลเข้าเป็นกรรมการอิสระแทนนายจุลสิงห์ โยดให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2556 ทางบริษัท ปตท. โดยนายไพรินทร์ได้ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯอีกครั้งว่า นายจุลสิงห์ได้ขอยกเลิกการลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท ปตท. และคณะกรรมการบริษัท ปตท. นัดพิเศษมีมติรับทราบและเห็นชอบให้นายจุลสิงห์ ดำรงตำแหน่งกรรมการต่อไป และอนุมัติยกเลิกมติการแต่งตั้งนายอรรถพลเป็นกรรมการบริษัท ปตท. แทนนายจุลสิงห์
แต่เมื่อนายจุลสิงห์ยื่นหนังสือลาออกจากราชการแล้ว ค่อนข้างแน่นอนว่า นายอรรถพลคงได้รับแต่งตั้งเป็นบอร์ด ปตท.ในฐานะตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด.
ขณะที่แหล่งข่าวในสำนักงานอัยการสูงสุดอ้างว่า ช่วงแรกที่นายจุลสิงห์ยอมลาออกจากบอร์ด ปตท.เพราะคาดว่า จะได้รับการแต่งตั้งเป็นบอร์ด บริษัท ปตท.สผ. แต่เมื่อไม่แน่ใจว่าจะได้รับการแต่งตั้งหรือไม่ เลยมาขอยกเลิกการลาออกจากบอร์ด ปตท.
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัท ปตท.มีการแจ้งเปลี่ยนตัวบอร์ด ปตท.ที่เป็นตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดกลับไป กลับมา เช่นนี้ ย่อมทำให้สาธารณชนเข้าใจว่า เป็นการช่วงชิงตำแหน่งดังกล่าวซึ่งที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การที่ข้าราชการระดับสูงช่วงชิงกันเข้าดำรงตำแหน่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่เพราะเป็นแหล่งผลประโยชน์สำคัญลำพังเฉพาะค่าเบี้ยประชุม โบนัสและผลตอบแทนก็สูงกว่าเงินเดือนหลายเท่าตัว
ก่อนหน้านี้ เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (TPD-Thailand Political Database) ได้เผยแพร่รายงานการตรวจสอบกรณีที่อัยการเข้าดำรงตำแหน่งบอร์ดในรัฐวิสาหกิจต่างๆ พบว่า ในปี 2556 มีอัยการเข้าไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่จำนวน 4 คน ประกอบไปด้วย
1. นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง ได้แก่ 1. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ 3. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
2. นายถาวร พานิชพันธ์ รองอัยการสูงสุด และคณะกรรมการอัยการ ดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจ 1 แห่ง คือ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
3. นายตระกูล วินิจนัยภาค รองอัยการสูงสุด และคณะกรรมการอัยการ ดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งได้แก่ 1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 2. โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง
4. นายเข็มชัย ชุติวงศ์ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ได้แก่ 1. บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 2. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังในเรื่องดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2553-2555 พบว่า มีอัยการหลายคนเข้าไปดำรงตำแหน่งในกรรมการรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2554 มีอัยการทั้งหมดจำนวน 10 คนที่เข้าไปเป็นบอร์ดของรัฐวิสาหกิจ โดยอัยการที่ได้รับค่าตอบแทนรวมมากที่สุด คือ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ เข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้รับค่าตอบแทนรวมทั้งหมด 4,902,731.65 บาท
รองลงมาคือ นายชัยเกษม นิติสิริ เข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับค่าตอบแทนรวมทั้งหมด 1,483,531.36 บาท
อันดับ 3 คือ นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ ได้เข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ขนส่ง จำกัด และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้รับค่าตอบแทนรวมทั้งหมด 1,348,825.81 บาท
ในปี 2553 มีอัยการที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ จำนวน 6 คน คือ นายชัยเกษม นิติสิริ, นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์, นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ, นายวิชาญ ธรรมสุจริต, นายอรรถพล ใหญ่สว่าง และนายวีระชัย คล้ายทอง ซึ่งอัยการทั้ง 6 คนนี้ เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป
ทั้งนี้ อัยการที่ได้รับค่าตอบแทนรวมมากที่สุด คือ นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยได้รับค่าตอบแทนรวมทั้งหมด 3,203,732.18 บาท
รองลงมาคือ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ได้เข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) ได้รับค่าตอบแทนรวมทั้งหมด 954,709.8 บาท
อันดับ 3 คือ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ได้เข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ การไฟฟ้านครหลวง และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้รับค่าตอบแทนรวมทั้งหมด 766,913 บาท