ซุปเปอร์บอร์ด โวย กสทช. “หั่นงบ-กั๊กข้อมูล”
ซุปเปอร์บอร์ด กสทช.เปิดผลทำงาน 6 เดือนแรก พบอุปสรรคเรื่อง “งบ-คน” โวยโดน กสทช.หั่นเพียบ แถมเจอกั๊กเอกสาร-ไม่ให้ความร่วมมือ
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2556 ที่โรงแรมสุโกศล คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กตป.) หรือ “ซุปเปอร์บอร์ด กสทช.” ร่วมแถลงความคืบหน้าการทำงานของ กตป.ในรอบ 6 เดือนหลังได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมวุฒิสภาโดยอำนาจหน้าที่หลักของ กตป.ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 มาตรา 70 คือติดตามตรวจสอบการทำงานของ กสทช. พร้อมรายงานข้อเท็จจริงต่อวุฒิสภา
พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ประธานกรรมการ กตป. กล่าวว่า ตามกฎหมาย กตป.จะต้องขออนุมัติงบประมาณและบุคลากรจาก กสทช. ซึ่งที่ผ่านมามีการขออนุมัติงบจ้างบุคลากร ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ 41 คน และเจ้าหน้าที่ 40 คน แต่ กสทช.อนุมัติให้เพียงผู้เชี่ยวชาญ 11 คน และเจ้าหน้าที่ 30 คนเท่านั้น ซึ่งตนจะทำเรื่องอุทธรณ์ไปยัง กสทช.เพื่อของบจ้างบุคลากร ในส่วนของผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเป็น 36 คน
“เวลานี้สถานที่ทำงานของ กตป.ทั้ง 5 คน มีความกว้างแค่ราว 50 ตารางเมตร และมีเจ้าหน้าที่อยู่เพียง 3 คนเท่านั้น ดังนั้นพวกผมคงจะเสนอให้แก้กฎหมาย ให้การอนุมัติงบหรือบุคลากรของ กตป.ไม่ได้มาจาก กสทช. เพราะคงไม่มีใครอยากให้อะไรกับคนที่จะมาตรวจสอบตัวเอง แต่ก็เข้าใจว่าคงทำไม่เสร็จในวาระ 3 ปีของ กตป.ชุดนี้” พล.อ.ธวัชชัยกล่าว
พล.อ.ธวัชชัยยังกล่าวว่า สำหรับที่เลขาธิการ กสทช.บอกว่า อนุมัติงบให้ กตป.ถึง 43 ล้านบาทนั้น มีงบที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรเพียง 14 ล้านบาท ที่เหลือเป็นงบที่มีภารกิจเฉพาะ ที่ไม่สามารถเบิกไปใช้นอกเหนือจากนั้นได้ เช่น งบจ้างหน่วยงานภายนอก งบจัดรับฟังความเห็น ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานอย่างมาก
นายอมรเทพ จิรัฐิติเจริญ กรรมการ กตป. กล่าวว่า กสทช.ถือเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจมาก เพราะสามารถอนุมัติได้ทั้งงบประมาณและกำลังคนของตัวเอง จึงสมควรที่จะมีความโปร่งใส แต่ปรากฏว่า เวลานี้ กสทช.กลับไม่ยอมรับการตรวจสอบจาก กตป. โดยหากเป็นการขอเอกสารหรือขอให้ส่งคนมาชี้แจงจากสำนักงาน กสทช.จะได้รับความร่วมมือ แต่ถ้าขอไปยังบอร์ด กสทช.มักจะไม่ได้รับความร่วมมือ อย่างก่อนหน้านี้ขอเอกสารเกี่ยวกับการออกประกาศคุ้มครองผู้บริโภคกรณีคลื่นมือถือ 1800MHz สิ้นสุดสัมปทานไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556 แต่ถึงเวลานี้ก็ยังไม่ส่งมาให้
“เอกสารบางอย่างเราถึงขนาดต้องไปขอจากสมาชิกรัฐสภาแทนที่จะขอจาก กสทช.” นายอมรเทพกล่าว
นายประเสริฐ อภิปุญญา กรรมการ กตป. กล่าวว่า ปัญหาที่พบในการทำงาน กสทช.รอบ 6 เดือนที่ผ่านมา มีอาทิ การแก้ไขปัญหาผู้บริโภคที่หากเป็นฝั่งทีวีจะเร็วแต่ถ้าเป็นฝั่งโทรคมจะช้า โดยเฉพาะเรื่องการโอนย้ายเลขหมาย ที่ กสทช.เคยมีมติให้ได้สูงสุดวันละ 3 แสนเลขหมาย แต่เมื่อดำเนินการจริงกลับทำไม่ได้ เพราะผู้ประกอบการไปใช้ระบบโควตา จึงเห็นว่าสำนักงาน กสทช.ควรจะลงโทษผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามมติ กสทช.
“อีกปัญหาที่พบคือการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของ กสทช.ให้สาธารณชนได้รับทราบ ตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ทั้งข้อมูลเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่หยุดเอาขึ้นเว็บตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 ผลการวิจัยที่ว่าจ้างหน่วยงานภายนอกก็ไม่เคยมีการเปิดเผยเลย รวมไปถึงรายจ่ายของสำนักงาน กสทช.กรณีค่าตอบแทนของที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการชุดต่างๆ ที่ไม่เคยมีการเปิดเผยเช่นกัน” นายประเสริฐกล่าว
นายประเสริฐยังกล่าวว่า กตป.ได้วางแผนการปฏิบัติงานเบื้องต้นแล้ว โดยจะประเมินการทำงานของ กสทช.ด้วยรูปแบบ CIPP Model และประเมินประสิทธิภาพโดยหลักเกณฑ์ PMQA ที่หน่วยงานของรัฐชอบใช้ เพราะเท่าที่มอง กสทช.ก็มีวิธีทำงานคล้ายหน่วยงานของรัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ กตป.หรือซุปเปอร์บอร์ด กสทช. มีจำนวนทั้งสิ้น 5 คน ประกอบด้วย พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร นายอมรเทพ จิรัฐิติเจริญ นายประเสริฐ อภิปุญญา นายพิชัย อุตมาภินันท์ และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์