เลขา สบอช.เผยแนวคิดจัดการน้ำเปลี่ยนได้ตลอด 5 ปี หากมีโมเดลที่ดีรับพิจารณา
แน่นขนัด! เวทีรับฟังความเห็นโครงการบริหารจัดการน้ำ ที่เชียงใหม่ ช่วงเช้าผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน แสดงความเห็นก่อนใครเพื่อน ส่วนชาวบ้านที่ลงทะเบียนล่วงหน้ารอรอบบ่าย ด้านหาญณรงค์ แนะกบอ.ปรับรูปแบบ-ท่าที ให้รับฟัง ปชช.มากขึ้น
วันที่ 30 ตุลาคม 2556 ในเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการก่อสร้าง “อ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม-อ่างเก็บน้ำแม่ขาน” ของประชาชน อำเภอแม่แจ่ม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดเชียงใหม่นั้น ตลอดทั้งวัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมหลายพันคน รวมถึงกลุ่มเอ็นจีโอ นักวิชาการ และกลุ่มบริษัทที่ชนะการประมูลในโครงการ อาทิ บริษัท เค วอเตอร์ และตัวแทนผู้ชำนาญการจากกลุ่มบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ เป็นต้น
แจงลำดับขั้นเวทีรับฟังความเห็น
สำหรับขั้นตอนการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นของประชาชน ทำได้ 3 ช่องทาง ได้แก่
1.ลงทะเบียนล่วงหน้ากับทางอำเภอที่มาประชาสัมพันธ์และรับลงทะเบียน จะได้รับสติ๊กเกอร์สีเขียว สามารถเข้าร่วมในการประชุมกลุ่มย่อยเวทีช่วงบ่ายได้ รวมถึงได้รับค่าพาหนะคนละ 400 บาท
2.ลงทะเบียนออนไลน์ จะได้รับสติ๊กเกอร์สีส้ม บางส่วนสามารถเข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยในเวทีช่วงบ่ายได้
3.ผู้สนใจมาลงทะเบียนหน้างาน (walk in) จะได้รับสติ๊กเกอร์สีชมพู ไม่สามารถเข้าร่วมในการประชุมกลุ่มย่อยได้ เนื่องจากไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเวทีในช่วงเช้า ช่วงแรกเป็นการเปิดวิดีทัศน์ และนำเสนอโครงการฯ จากนั้นเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนคนละ 5 นาที โดยส่วนใหญ่ของผู้ที่ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นเป็นผู้นำชุมชน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ที่มีรายชื่ออยู่ในมือพิธีกรก่อนแล้ว
ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่มีโอกาสได้แสดงความเห็น
ต่อจากนั้น เวทีในช่วงบ่าย มีการแบ่งเป็นห้องย่อย ทั้งหมด 20 ห้อง คือ กลุ่มย่อยแม่แจ่ม 1-11 และกลุ่มย่อยแม่ขาน 12-20 จัดไว้เฉพาะประชาชนที่ลงทะเบียนล่วงหน้าเท่านั้น โดยจะได้รับสติ๊กเกอร์สีเขียวเข้าร่วมห้องละ 100 คน
นอกจากนี้ บริเวณภายนอก มีรายงานว่า พบชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมห้องย่อย ถือป้ายผ้าประท้วง โดยแสดงความไม่พอใจกับกระบวนการพิจารณาที่ไม่เปิดโอกาสให้พูดแสดงความเห็น ทั้งที่เสียงของประชาชนควรจะมีความสำคัญและมีอำนาจกว่ามติคณะรัฐมนตรี
สำหรับโซนนิทรรศการโครงการใน 9 โมดูล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนใหญ่ประชาชนให้ความสนใจเข้าชม และสอบถามในโมดูล A1 ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม และแม่ขาน ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเจ้าหน้าที่ประจำบูธ A1 ระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่เข้ามาสอบถามถึงแผนรับมือกับผลกระทบและหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกรณีต้องย้ายที่อาศัยและที่ทำกิน ซึ่งเป็นเรื่องเชิงนโยบายที่ยังให้คำตอบไม่ได้
แนะจัดทำเวทีย่อยๆ ระดับพื้นที่
ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ที่มาร่วมสังเกตการณ์ในงาน กล่าวว่า พื้นที่เชียงใหม่จัดการรับฟังความคิดเห็นเน้น 2 ส่วน ได้แก่ เขื่อนแม่ขาน และเขื่อนแม่แจ่ม ซึ่งส่วนมากเชิญเพียงกำนันผู้ใหญ่บ้านขึ้นแสดงความเห็นเท่านั้น ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ที่ลงชื่อเข้าแสดงความเห็นถูกตัดสิทธิ์ออก
“ยืนยันว่า การสร้างเขื่อนลุ่มน้ำปิง ทั้งเขื่อนห้วยตั้ง แม่แจ่ม และแม่ขาน จะทำให้น้ำจะไหลเข้าเขื่อนภูมิพลน้อยลง เป็นการตัดยอดน้ำ ปัจจัยไม่ใช่แก้ปัญหาน้ำท่วม แต่เป็นการนำโครงการมาใส่ให้ครบตามที่จะทำมากกว่า
อย่างไรก็ตาม เวทีที่จะจัดหลังจากนี้กว่า 50 เวที ขอให้ปรับรูปแบบการรับฟังความคิดเห็นที่มีท่าทีในการรับฟังมากกว่านี้ และขอให้ฟังผู้ที่มีผลกระทบโดยตรงมากกว่านี้ ชี้แจงในที่ประชุมมากกว่าการเปิดวิดีทัศน์ และควรจัดในพื้นที่ ทำเวทีย่อยๆ มากกว่า เพราะเรื่องจำนวนคนไม่ใช่ประเด็น แต่เนื้อหาในการจัดและการรับฟังเป็นประเด็นที่สำคัญมากกว่า”
แจงเป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้น ปรับเปลี่ยนได้ตลอด 5 ปี
ขณะที่นายสุพจน์ โตวิจักษ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ภายใต้แผนงานโมดูล A1 การสร้างอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่ขาม ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านห้วยโท้ง ต.บ่อหลวง และอ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม ตั้งอยู่ที่บ้านแม่มุ ต.แม่นาจน อ.แม่แจ่ม
โดยที่โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ขาน ได้มีการออกแบบพร้อมรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทำการศึกษาเบื้องต้นแล้ว เพียงทบทวนผลการศึกษาที่มีอยู่เดิมให้เป็นปัจจุบัน
ขณะที่โครงการอ่างเก็บน้ำแม่แจ่มเป็นโครงการที่กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาเบื้องต้น เมื่อเดือน กันยายน 2553 ซึ่งทั้ง 2 โครงการอยู่ภายใต้การดำเนินงานของกลุ่มบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด มหาชน
อย่างไรก็ตาม โมเดลที่นำเสนอเพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนในครั้งนี้ นายสุพจน์ กล่าวว่า เป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้นที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดระยะเวลา 5 ปี และจะต้องศึกษารายละเอียดโครงการ ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และนำกลับมาจัดรับฟังความคิดเห็นอีกหลายต่อหลายครั้ง ทั้งนี้ หากมีโมเดลใดที่ดีกว่า รัฐบาลก็รับพิจารณา
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การจัดเวทีรับฟังครั้งนี้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ (กบอ.) เดินทางมาร่วมสังเกตุการณ์ด้วย
ผู้ว่าฯ เชียงใหม่สรุปภาพรวม
ด้านนายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ แถลงสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นช่วงเย็นว่า มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 4,595 คน ตลอดการรับฟังมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับโครงการ โดยกลุ่มที่เห็นด้วยมองในภาพรวมว่าเป็นการช่วยบริหารจัดการได้ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย มองในแง่ว่าเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ หลายหมู่บ้านได้รับผลกระทบ และต้องการความชัดเจนว่าจะให้ชาวบ้านย้ายไปที่ไหน หรือจะมีการเยียวยาอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องเชิงนโยบาย ที่ต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำความเข้าใจกับประชาชนน้อย ควรเข้าไปจัดเวทีในพื้นที่ ในชุมชน เพื่อหาทางออก ทางเลือก
“โดยเฉพาะเรื่องอ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม ชาวบ้านเสนอหลายแนวคิด เช่น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำเป็นเขื่อนขนาดเล็ก แทนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เนื่องจากเกรงว่าวิถีชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติจะถูกทำลาย จากนี้ทางคณะวิทยากรจะนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวล เพื่อจัดทำเป็นรายงาน ทั้งนี้หลังจากเสร็จสิ้นเวทีสุดท้ายที่ กรุงเทพฯ ประมาณวันที่ 21-22 ธันวาคม 2556 จะประกาศผลจากการประมวลแก่สาธารณชนตามช่องทางต่างๆ และนำไปประมวลในแต่ละโมดูล”
บรรยากาศการรับฟังในเวทีใหญ่ ห้องย่อย
และผู้ประท้วงที่เป็นชนเผ่าที่ไม่ได้เข้าร่วมแสดงความเห็น
ยืนดูผู้ประท้วง
สร้าง 2 เขื่อนนี้ (แม่แจ่ม แม่ขาน) ใช่เลย !!