ประจานเวทีรับฟังน้ำเชียงใหม่2มาตรฐานชาวบ้านปีก“เจ๊แดง”ผ่านเข้างานฉลุย
ประจานเวทีรับฟังน้ำสองมาตรฐาน ขบวนชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบตรงจากเขื่อนถูกสกัดห้ามเข้าประชุมแต่ชาวบ้านปีก “เจ๊แดง” ผ่านฉลุย-เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกเต็มเหนี่ยว นักศึกษาร่วมกันผลัดเวรเป็นหลัก-ให้กำลังใจชาวแม่แจ่ม-แม่ขาน
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่บริเวณศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ในโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยตามแผนแม่บทการบริหารการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดยด้านหน้าศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ เครือข่ายนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเชียงใหม่ และเครือข่ายชาวบ้านจากอำเภอแม่แจ่ม อำเภอสะเมิง อำเภอเชียงดาว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากแผนการสร้างเขื่อนประมาณ 300 คน ได้ร่วมเดินเท้าจากองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมชุมนุมเพื่อรณรงค์ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ซึ่งระหว่างเดินเท้าได้มีฝนตกตลอดทาง
โดยทันทีที่เข้ามาถึงประตูที่ 1 ของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าฯ นักศึกษาพยายามพาชาวบ้านเข้าร่วมเวที ถูกขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และให้ขบวนนักศึกษาและชาวบ้านเดินเข้าที่ประตู 6
นายเจนภพ ชัยคำ นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เชียงใหม่ กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าคำสั่งดังกล่าวมาจากใคร แต่ที่แน่ๆ ระยะห่างจากประตู 1-6 ก็ไม่ได้ไกลกัน เราเดินตากฝนมาด้วยความสงบ เพียงเพราะหวังเข้าร่วมเวทีด้วย แต่เจ้าหน้าระบุชัดเจนว่าไม่ให้เข้า ขณะเดียวกันกลุ่มชาวบ้านที่ลงจากรถยนต์ที่มีผู้นำมากลับได้เข้าทางประตูแรก โดยไม่มีเงื่อนไข
“แต่ชาวบ้านที่มากับเราต่างก็เข้าใจในเรื่องที่เกิดขึ้น และตั้งใจจะเข้าร่วมรับฟังข้อมูลจากภาครัฐบาลพร้อมเสนอข้อคัดค้านและข้อคิดเห็นอย่างเต็มที่ พวกเรานักศึกษาจะผลัดกันเข้าไปเป็นกำลังใจให้ชาวบ้าน โดยใครมีเรียนก็เลื่อนเวลาไปก่อน คือ เรียนบ่ายเข้าเช้า เรียนเช้าก็เช้าร่วมกับชาวบ้านภาคบ่าย เพราะที่นี่มีการประชุมตลอดวัน” นายเจนภพ กล่าว
เวลาประมาณ 09.30 น.ขบวนชาวบ้านและนักศึกษาได้เข้าไปภายในศูนย์ประชุมฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แยกขบวนชาวบ้านไปไว้ยังอาคารด้านข้างที่ประชุม พร้อมเจรจากับตัวแทนนักศึกษา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่า ให้ส่งตัวแทนร่วมรับฟังความคิดเห็นแค่เพียง 10 คน เป็นนักศึกษา 5 คน และเป็นชาวบ้าน 5 คน เนื่องจากไม่มีที่นั่ง อย่างไรก็ตามภายหลังมีการต่อรองจำนวนคนเพิ่ม โดยเจ้าหน้าที่อนุญาตให้นักศึกษาเข้าร่วมได้ 10 คนและเป็นชาวบ้าน 5 คน โดยทั้งหมดต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชน และลงทะเบียนเข้าร่วม ส่วนกลุ่มชาวบ้านที่ถือป้ายรณรงค์ต่างๆ ให้รออยู่ด้านนอก โดยผู้แทนตำรวจได้รับหนังสือจากตัวแทนชาวบ้านและรับแถลงการณ์จากกลุ่มนักศึกษา โดยรับปากว่าจะนำไปยื่นให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดให้รับรู้ข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ชาวบ้านกลุ่มใหญ่ได้สวมเสื้อแดงที่เขียนชื่อ “ส.ส.เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เขต 3 เชียงใหม่”ได้รับการอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการประชุมในการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้
นายจิรายุ คงแดง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตนและเพื่อนนักศึกษาคิดไว้แล้วว่า จะต้องเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันนี้ แต่ยังหวังเสมอว่า รัฐบาลจะมีแนวทางให้ชาวบ้านได้ร่วมเสนอข้อคิดเห็นของตนเองได้ ซึ่งมั่นใจว่าตัวแทนนักศึกษาที่เข้าร่วมจะสามารถอธิบายถึงเหตุผลในการคัดค้านเขื่อนและร่วมรับฟังข้อมูลจากที่ประชุมเพื่อเผยแพร่สู่กลุ่มอื่นๆ ที่รออยู่นอกอาคาร
นางดารนี ชัยเทศน์ ชาวบ้านแม่ซา ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม กล่าวว่า ชาวบ้านปกาเกอะญอ ส่วนหนึ่งประมาณ 70 คนรู้ล่วงหน้าว่าเวทีจะมีการจำกัดจำนวนคนฟัง จึงได้ลงทะเบียนล่วงหน้า แต่เงื่อนไขการรับฟังยังไม่น่าเชื่อถือ
นางดารนี กล่าวต่อว่า ชาวบ้านปกาเกอะญอ ส่วนหนึ่งประมาณ 70 คนรู้ล่วงหน้าว่าเวทีจะมีการจำกัดจำนวนคนฟัง จึงได้ลงทะเบียนล่วงหน้า แต่เงื่อนไขการรับฟังยังไม่น่าเชื่อถือคือ ทางที่ประชุมกำหนดว่าให้แต่ละอำเภอนำเสนอความคิดเห็นแค่ 45 นาที โดยตัวแทนบ้านแม่ซา นั้นจะนำเสนอเรื่องของผลกระทบด้านป่าไม้และการป้องกันน้ำท่วมที่ไม่ได้ผลเพราะการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม ตลอดจนเสนอแผนพัฒนาชุมชนด้วยศักยภาพท้องถิ่น และเรียกร้องให้รัฐบาลเคารพสิทธิชุมชน
“เราเดินทางออกจากหมู่บ้านมาที่ประชุม พวกเราออกค่าใช้จ่ายกันเอง คนละ 100-200 บาทเป็นค่ารถและค่าอาหาร พวกเรามาเข้าร่วมรับฟังทั้งๆที่รู้ว่า เนื้อหาการประชุมคงเป็นไปในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งการเดินทางของพวกเรา ลำบากมาก ทั้งไกลแถมฝนตก รถติดโคลน ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาได้ทุกครอบครัว
แม้พวกเราเชื่อว่าการเข้าร่วมเวทีนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะเขามีเวลาให้แค่ 45 นาที เพื่อให้คนทั้งอำเภอพูด มันจะเป็นไปได้อย่างไร ไม่มีทางที่ข้อมูลเรื่องผลกระทบจากเขื่อน จะพูดกันได้ในเวลาที่เขาให้มา เราบอกเลยว่าเข้าไปก็ทำได้แค่ฟังอย่างเดียว ถึงอย่างไรก็ไม่ยุติธรรมสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ” นางดารนี กล่าว
-------
หมายเหตุ:ที่มาข่าว เฟซบุ๊ก ภาสกร จำลองราช (Paskorn Jumlongrach) นักข่าวอิสระ