ชาวบ้าน-เอ็นจีโออุดรฯ หวั่นทุนจีนเตรียมบุกขุดเหมืองโปแตชอีสาน
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรฯ โวยเอพีพีซี ออกแบบสำรวจความเห็นด้านเดียวลักไก่ประกอบอีเอชไอเอให้ผ่านโครงการ “อุตสฯจังหวัด” เผยทุนจีนสำรวจทำเหมืองโปแตซขอนแก่น สารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด เอ็นจีโอกังวลผลกระทบกว้างขวาง แค่ที่อุดรฯยังไม่เคลียร์ปัญหาชาวบ้าน
เร็วๆนี้ ที่ห้องประชุมสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กว่า 60 คน ยื่นหนังสือกับอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อคัดค้านการทำแบบสำรวจความคิดเห็นขอประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียต่อกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี โดยมีนายวรากร บำรุงชีพโชต หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ มารับหนังสือและตอบข้อซักถามของกลุ่มชาวบ้าน
ทั้งนี้บริษัทเอเชียแปซิกฟิก โปแตชคอร์ปอเรชั่น จำกัด(เอพีพีซี) ได้จัดทำแบบแสดงความคิดเห็นขนาดครึ่งหน้ากระดาษ A4 พร้อมเอกสารเผยแพร่โครงการฯ และกล่องรับเอกสารนำไปวางตามหน่วยงานราชการ 20 แห่งในพื้นที่ อ.เมืองและ อ.ประจักษ์ศิลปาคม อาทิ ที่ว่าการอำเภอ, องค์การบริหารส่วนตำบล, สำนักงานเทศบาล และสถานีอนามัย ฯลฯ เพื่อสำรวจความคิดเห็นประชาชน แล้วนำไปประกอบการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA)
โดยนางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่าการทำแบบสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวของบริษัท ทำให้เกิดความสับสนขึ้นในพื้นที่ เพราะไม่ได้มีในขั้นตอนของกฎหมายแร่ แต่บริษัทจะเอาผลไปแอบอ้างกับการทำอีเอชไอเอประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการที่กำลังทำอยู่ และการเอาเอกสารไปวางตามหน่วยงานราชการเพื่อให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นก็เป็นการให้ข้อมูลด้านเดียวจึงไม่มีความเหมาะสมใดๆ ที่จะนำไปอ้างอิงเชิงวิชาการ
นายวรากร กล่าวว่าสำนักงานฯไม่ได้รับเอกสารดังกล่าวและไม่ทราบเรื่อง ซึ่งโดยหน้าที่ของตนก็รอเพียงเอกสารจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ส่งมาให้ปิดประกาศเขตเหมือง ขั้นตอนต่อไปก็เป็นเรื่องของบริษัทที่จะดำเนินการเอง ส่วนหนังสือของกลุ่มฯที่ยื่นมาวันนี้จะนำเรียนอธิบดี
เมื่อชาวบ้านถามว่า ตอนนี้ทราบข่าวว่ามีนักลงทุนจากประเทศจีนเข้ามาดูพื้นที่เพื่อจะทำเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายวรากร ตอบว่า ประเทศจีนให้ความสนใจจะเข้ามาลงทุนเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสานจริง ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตปุ๋ยเคมี และมีธุรกิจในประเทศลาว แต่ไม่ได้บอกชื่อบริษัท ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ทางกรมฯก็ได้พาลงไปดูพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ดก่อนที่จะมาที่อุดรธานี
“จีนสนใจที่จะขุดแร่โปแตชแทบทุกพื้นที่ในภาคอีสาน และในส่วนของอุดรฯ ผมก็บอกไปว่าถ้าไม่สร้างความกระจ่างชัดให้กับชาวบ้านในพื้นที่ก่อน คุณก็จะไม่สามารถทำอะไรได้ จะเกิดปัญหาความขัดแย้งเหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้”
ชาวบ้านถามต่อว่าจีนให้ความสนใจที่จะซื้อกิจการหรือร่วมลงทุนกับบริษัทเอพีพีซี ที่เหมืองโปแตชอุดรหรือไม่ นายวรากรตอบว่าคงไม่ ถ้าหากเขาจะทำเหมืองจริงก็คงยื่นขอสัมปทานแปลงใหม่ที่ไม่ทับซ้อนกับเจ้าของเดิมที่กำลังยื่นขออยู่ ไม่ว่าจะเป็นที่ขอนแก่น มหาสารคาม หรือจังหวัดใด
นายวรากร ยังเปิดเผยเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าวว่าบริษัทจากประเทศจีนที่เข้ามาดูพื้นที่จะขุดเหมืองโปแตชในภาคอีสานนั้น มีสายสัมพันธ์กับสถานทูตจีน ซึ่งตนก็ได้พาลงไปดูจุดที่จะทำการสำรวจในพื้นที่ อ.เพ็ญ จ.อุดรฯ และคาดว่าจะมีการขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจหาแหล่งแร่โปแตชภายในปีนี้ โดยจะครอบคลุมพื้นที่ไปถึง จ.หนองคาย และสกลนคร
ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ(ศสส.) อีสาน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนคิดว่าการที่ทุนจีนจะบุกเข้ามาลงทุนในภาคอีสานนั้น คงไม่ใช่แค่เรื่องเหมืองโปแตชเ แต่จีนกำลังจะขยายพื้นที่ทางเศรษฐกิจมายังทางตอนใต้บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะนำเอาเกลือไปใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งภาคอีสานถือว่าเป็นศูนย์กลางสำคัญที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพราะมีพื้นที่ราบเป็นบริเวณกว้างและสามารถต่อติดค้าขายออกสู่ทะเลไปทางประเทศเวียดนามได้
“ถ้ามีเหมืองแร่โปแตชผุดขึ้นมาอีกจะทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมตามมามากมาย เช่น ความเค็มของเกลือจะแพร่แผ่กระจายไปทั่วภาคอีสาน ปัญหาแรงงาน อาชญากรรม ยาเสพติด ซึ่งรัฐควรศึกษาให้รอบด้าน ที่ผ่านมาเครือข่ายนักวิชาการและชาวบ้านในพื้นที่เรียกร้องให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมแร่โปแตช ระดับยุทธศาสตร์ทั่วภาคอีสาน หรือที่เรียกกันว่าเอสอีเอ แต่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ กพร.ก็ทำในส่วนของตัวเองจึงเกิดปัญหาเรื่องของความเป็นกลาง”.