จากอินเดีย สู่บางกอก ศิลปะ ช่องคลอด สิทธิสตรี และการเมืองไทย
"..ทรายเชื่อว่าศิลปะไม่เคยตาย ตั้งแต่ยุคไหน สมัยไหนแล้ว มีคนพยายามเผางานศิลปะ เผาบทกวี แต่เราก็ยังมีงานศิลปะและบทกวี หรืออย่างฟรีดา คาโล ที่เป็นแรงบันดาลใจของทราย เขาทำงานศิลปะที่วิจารณ์การเมือง งานเขาก็โดนทุบทิ้ง ตั้งไม่รู้กี่ครั้ง..."
ไม่นานมานี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับร้าน Dialogue Coffee andGallery จัดกิจกรรม Light Up Nights เสวนาถกเถียงประเด็นสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย
โดยมี ทราย-วรรณพร ฉิมบรรจง เข้าร่วมเสวนาพร้อม VDO ART “My Body My Weapon” บันทึกกิจกรรมการจัดแสดงงานศิลปะของเธอในประเทศอินเดีย
โดยทางเข้างานนิทรรศการดังกล่าวถูกนำเสนอด้วยประติมากรรมรูปขาสองข้างถ่างแยกออก ซึ่งผู้เข้างานต้องเดินเข้า-ออก ผ่าน “ช่องคลอด” หรือประตูที่อยู่ตรงกลางหว่างขานี้ นัยเสียดเย้ยสังคมอินเดียที่ผู้หญิงถูกกดขี่ จนชัดเจนแจ่มแจ้งนับแต่ทางเข้า
แต่มากไปกว่านั้น ทราย วรรณพร ยังได้หอบหิ้วเรื่องราวอีกมากมายที่เธอพบเห็นมาบอกเล่าให้ฟังผ่านมุมมองของคนทำงานศิลปะที่ไม่เพียงสร้างงานเพื่อสุนทรียะส่วนตน
แต่ทรายยังยืนยันหนักแน่นว่างานศิลปะของเธอ ต้องพร้อมรับใช้สังคม ส่วนรวม และกล้าที่จะยืนหยัดต่อต้านอำนาจที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม
นับจากบรรทัดนี้ไป คือเรื่องราวการเดินทางของเธอ ที่ไม่ใช่แค่จากอินเดียสู่ไทย แต่เริ่มขึ้นจากความรู้สึกในใจสู่การแสดงออกผ่านงานศิลปะที่เธอรักและลงมือทำมาตลอดระยะเวลานับ 10 ปี
--------
“งานศิลปะในช่วงแรกๆ ของทราย เริ่มจากความรู้สึกของตัวเอง แล้วก็ต้องการสื่อกับสังคม เห็นอะไรก็ถ่ายทอดอย่างนั้น มีทั้งงานศิลปะที่เรียกร้องเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ ประท้วงเขื่อน เรียกร้องเรื่องสันติภาพ"
"แต่เมื่อทรายไปอินเดียในช่วงนั้นก็มีเรื่องผู้หญิงถูกกดขี่เกิดขึ้นที่อินเดีย ทรายก็รู้สึกรับไม่ได้ ผู้หญิงที่อินเดียถูกดูถูกมาก ก่อนหน้านี้ทรายไปอยู่อินเดียมา 2 ปี รู้สึกว่าทำไมเขาดูถูกผู้หญิงแบบนี้ เรารู้สึกขัดแย้ง มหาวิทยาลัยศิลปะที่ทรายไปเรียน ทุกคนจะทำหัวข้อเรื่องต้นไม้ เรื่องธรรมชาติ เรื่องหมู่บ้าน ที่อินเดียทุกคนไม่พูดเรื่องสังคม ไม่พูดเรื่องการเมือง แล้วตอนที่ทรายได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัย เขาจะมีเอกสารให้เราเซ็นว่าเราเป็นนักเรียนต่างชาติ เราจะไม่ยุ่งเรื่องการเมืองหรือการประท้วงใดๆ ทั้งสิ้น ทรายก็เลยเริ่มรู้สึกว่า งั้นฉันจะทำเรื่องนี้สิ จะทำได้ไหม ทรายก็เลยทำเรื่องนี้ ( งานนิทรรศการ ที่ทางเข้าเป็นช่องคลอดผู้หญิง ) ส่งอาจารย์"
"อาจารย์ก็ปวดหัวมาก เขาบอกว่ามันเป็นศิลปะที่เกี่ยวกับการเมือง วันนั้น เราก็ถกเถียงกันเรื่องนี้ ทรายบอกว่าทรายอยากทำเรื่องนี้ เขาก็ค่อนข้างปวดหัว ทรายก็ไม่ยอม แต่เขาก็บอกว่าให้ระวังถ้าจะทำเรื่องนี้ ทรายก็ออกแบบให้อาจารย์ดู ซึ่งเขาก็ไม่แฮปปี้ เพราะเราทำเรื่องผู้หญิง แล้วทางเข้าเป็นช่องคลอด อาจารย์ไม่กล้าเข้านะ เขาไปเดินเข้าทางด้านข้าง”
ทรายเล่าว่าเหตุผลที่เธอทำงานศิลปะชิ้นนี้ ก็เพื่อต้องการบอกว่า
“ทรายอยากให้เขาหันมามองความเป็นมนุษย์ ผู้ชายทุกคนเกิดมาจากแม่ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ชายอินเดียกลับกดขี่ผู้หญิง ทรายก็เลยตั้งใจพูดเรื่องนี้ แล้วเขาก็หยุดทรายไม่ได้ แต่เขาขอให้ทรายลดไซส์ให้เล็กลง”
เมื่อถามว่าตอนนี้ อะไรคือปัญหารุนแรงที่สุดในสังคมอินเดีย ทรายตอบว่าการข่มขืนยังเป็นภัยรุนแรงที่สุดสำหรับผู้หญิง
นอกจากนี้ สุภาพสตรีนักต่อสู้ที่เป็นแรงบันดาลใจคนสำคัญให้ทรายคืออิรอม ชาไมลา ( Irom Shamila ) ที่เรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียยุติการส่งทหารอัสสัม ไรเฟลเข้ามาคุกคามในมานิปูร์
“รัฐบาลอินเดียส่งทหารอัสสัมไรเฟลเข้าไปในพื้นที่เขา อยากยิง อยากฆ่าใครก็ฆ่า อยากข่มขืนก็ทำ จนอิรอม ชาไมลารู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ขอให้รัฐบาลนำทหารเหล่านี้ออกไป อิรอมประท้วงมา 13 ปีแล้ว ทรายพยายามจะไปพบเขา 3 รอบ แต่ก็ไม่ได้เพอร์มิต ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าไปที่นั่น”
ทรายบอกว่า ครั้งหนึ่ง เธอเคยจัดแสดงนิทรรศการนี้ ในเทศการงานศิลปะที่อินเดีย ซึ่งมีทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่มาดูงานศิลปะของเธอ ทรายเล่าว่าคนที่ชอบจะชอบมาก คนที่เกลียดก็เกลียดมาก และทรายเล่าถึงเหตุการณ์ยิงนักศึกษาหรือการสลายการชุมนุมที่เดลีในกรณีที่นักศึกษาออกมาประท้วงให้แก่นักศึกษาหญิงที่ถูกข่มขืนและถูกฆ่าตาย นักศึกษาที่มาประท้วงในคราวนั้น มีเด็กรุ่นใหม่ไม่น้อยกว่า 100 คน นำกีตาร์มาเล่นเพลงอิมเมจิน ของ จอห์น เลนนอน แม้ทรายไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ประท้วงที่เดลี
แต่เธอบอกว่าสิ่งที่สัมผัสได้คือ การเรียกร้องความเป็นธรรมในครั้งนี้ เป็นการรวมพลังของคนรุ่นใหม่ให้มาขับเคลื่อนร่วมกันได้มากที่สุดครั้งหนึ่งในเดลี
นอกจากปัญหาการกดขี่ผู้หญิง การทารุณกรรมและประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอินเดียแล้ว ทรายยังสนใจสถานการณ์ความขัดแย้งในปาเลสไตน์ และทุกวันนี้ เธอยังคงเดินทางเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ พร้อมกับหาแรงบันดาลใจ เพื่อสร้างงานศิลปะที่สะท้อนปัญหาในแต่ละสังคมรวมถึงปัญหาสากลของสังคมโลก
และเมื่อถามถึงการแสดงงานศิลปะของเธอในเมืองไทยวันนี้ ทรายจะยืนยันว่าได้เห็นแน่ ทั้งสะท้อนภาพการเมืองไทย ควบคู่กับการแสดงออกทางความคิดผ่านงานศิลปะในแบบฉบับของเธอ
“จะได้เห็นงานของทรายแน่นอน ทรายทำแน่นอน แต่ก็โดนเตือนตลอดเวลานะ เพราะทรายโดนคดีอยู่ด้วย ( เนืเนื่องจากขึ้นเวทีชุมนุมร่วมกับเครือข่ายพันธมิจตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ) ทำให้รู้เหมือนโดนปิดกั้น บางทีเราครีเอท มีความคิดสร้างสรรค์แล้วรู้สึกเหมือนโดนตบหัว ว่า “อย่าทำนะ เดี๋ยวมีเรื่อง” เราก็รู้สึว่าทำไมเป็นแบบนี้ ล่าสุดทรายไปเวียนนา ก็เขียนรูปสัญลักษณ์นาซีแล้วทรายโดนแขวนไว้ เพราะในสมัยยุคฮิตเลอร์ ใครเห็นสัญลักษณ์นาซีก็จะหวาดกลัวมาก เหมือนเมืองไทยตอนนี้เลย หรือก่อนจะไปอินเดีย ทรายทำงานศิลปะชื่อ War Wall เป็นเซรามิควอล์ มีลูกกระสุนกับระเบิดหล่นลงมาจากฟ้า ที่ฝนตกกลางกรุงเทพฯ และมีรถถัง มีมืออยู่บนพื้น และเพทน์กราฟฟิตี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับทักษิณก่อนรัฐประหาร แล้วก็หลังรัฐประหาร งานใหญ่มาก ยาว 3 เมตร งานชิ้นนี้แรงมาก มีคนอยากมาเผางานด้วย และงานชุดนี้ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์มาเปิดงาน อาจารย์บอกว่ามันไม่ใช่เพนท์ติ้ง แต่มันคือการบันทึกเรื่องราวของสังคมว่าเกิดอะไรขึ้น”
“ทรายรู้วึกว่าการเมืองไทยตอนนี้น่าเบื่อมาก ตอนนี้รัฐบาลใครจะพูดอะไรก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ มันไม่ใช่ประชาธิปไตย ออกกฎหมายเพื่อที่จะเซ็นเซอร์ เรารับไม่ได้ แต่ในความคิดทราย เขาจะปิดกั้นยังไง ทรายไม่สน เพราะงานศิลปะต้องการเสรีภาพในการนำเสนอ ทรายจะทำแน่"
"ทรายเชื่อว่าศิลปะไม่เคยตาย ตั้งแต่ยุคไหน สมัยไหนแล้ว มีคนพยายามเผางานศิลปะ เผาบทกวี แต่เราก็ยังมีงานศิลปะและบทกวี หรืออย่างฟรีดา คาโล ที่เป็นแรงบันดาลใจของทราย เขาทำงานศิลปะที่วิจารณ์การเมือง งานเขาก็โดนทุบทิ้ง ตั้งไม่รู้กี่ครั้ง แล้วทุกวันนี้ มีทั้งการถ่ายมีวิดีโอ มีกล้องบันทึกภาพต่างๆ ไว้ ดังนั้น งานศิลปะมันไม่หายไปไหน เช่น ถ้ามีคนเอาอะไรมาบังรูปนี้ไว้ แต่รูปมันก็จะยังอยู่ตรงนั้น"
เมื่อถามว่า นับแต่วันแรกที่เริ่มทำงานศิลปะ จนถึงวันนี้ ระหว่างการทำงานศิลปะเพื่อสุนทรีย์ รับใช้ตัวตนของตนเองการการทำงานศิลปะเพื่อรับผิดชอบสังคม เรียกร้องเพื่อส่วนรวม เธอให้น้ำหนักกับอย่างไหน ทรายตอบว่า
“คนอื่นทรายไม่ทราบ แต่ทรายทำทั้งหมดที่พูดมา บางครั้งทรายก็มีอารมณ์สุนทรีย์ ทรายอยากเขียนเพลง เขียนรูป เขียนพอร์ตเทรต ดอกไม้ ภูเขา ทะเล เป็นความสุขส่วนตัว ทรายทำควบคู่กันไป ทรายไม่คิดเรื่องการขาย เพราะทราย ไม่ใช่ศิลปินดังและทรายขายงานไม่ได้ และถึงแม้ทรายขายงานไม่ได้ ทรายก็จะไปขายก๋วยเตี๋ยว แต่ทรายทำทั้งหมดที่ว่ามา คือทำงานศิลปะรับใช้สังคมและรับใช้ตัวเอง”
“ตอนที่ทรายโดนยิง ตอนที่ไปประท้วง โดนแก๊สน้ำตา วันต่อมา ทรายก็ไปซื้อถุงมือเลย จะเอาไว้จับไฟแล้วพรุ่งนี้ไปใหม่ เรารู้สึกว่าทุกคนในที่นั้น มีสิทธิ์ตายได้นะไม่ใช่แค่เรา แต่ความกลัวมันหายไปเลยและงานศิลปะมันก็ออกมาจากความรู้สึกนั้น ความรู้สึกที่ว่ามันไม่ถูกต้อง ซึ่งการทำงานศิลปะรับใช้สังคมมันทำให้ทรายรู้สึกมีความสุข การที่เราทำอะไรเพื่อคนอื่นแล้วเรามีความสุข จริงๆ แล้วมันก็เหมือนเรารับใช้ตัวเอง ยิ่งทำแล้วเราก็ยิ่งมีความสุข เมื่อยิ่งมีความสุข เราก็น่าจะยิ่งทำ
"การพูดประเด็นเรื่องสังคม ทรายพูดตรงๆ เลยนะ พลังทรายไม่ได้เยอะมากแต่ทรายอยากเปลี่ยนโลก ซึ่งทรายก็ต้องอาศัยพลังเยอะมาก ในการที่จะทำแบบนั้น บ่อยครั้ง ทรายก็เลยต้องคิดเรื่องงานของตัวเองและคิดเรื่องสังคมด้วย คิดถึงคนอื่นไปด้วยในขณะเดียวกัน แล้วทรายก็อยากเห็นว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับสังคมนี้ ทรายเปลี่ยนไม่ได้ไม่เป็นไร แต่มันก็จะมีคนใหม่ๆ มาสานต่อความคิด เหมือนที่ทรายได้เห็นคนรุ่นก่อนๆ ทั้งจาก มหาตมะ คานธี, เช กูวารา ใครต่อใครอีกเยอะที่เป็นแรงบันดาลใจให้ทราย เช่นเดียวกัน"
"สิ่งที่เราทำวันนี้ก็อาจจะได้รับการสานต่อไปโดยคนรุ่นหลัง”ทรายยืนยัน