“ช่อง7” โล่ง “จันทร์25” ไม่ประมูลทีวีดิจิตอล-กสทช.สรุปยื่นซอง 29 ราย
กสทช.สรุปเอกชนยื่นประมูลทีวีดิจิตอล 29 บริษัท 41 ซอง “ช่อง 7” โล่งอกไร้ปัญหาหุ้นไขว้ หลัง “จันทร์25” ถอนตัว “สุรางค์” ออกแถลงอ้างห่วงต้นสังกัดเดิม
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2556 ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. แถลงสรุปจำนวนผู้เข้ายื่นซองประมูลทีวีดิจิตอล ที่สำนักงาน กสทช. เปิดให้มีระยะเวลายื่นซองระหว่างวันที่ 28-29 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่ามีผู้สนใจยื่นซองประมูลทั้งสิ้น 29 บริษัท 41 ซอง แบ่งเป็น
- หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว มีผู้ยื่น จำนวน 6 บริษัท (จากจำนวนช่องที่จะประมูล 3 ช่อง) ได้แก่ 1.บริษัท โรสมีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด 2.บริษัท ไทยทีวี จำกัด 3.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด (ช่อง 3) 5.บริษัท เนชั่น คิดส์ จำกัด (เครือเนชั่น) และ 6.บริษัท ทรู ดีทีที จำกัด
- หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ มีผู้ยื่น จำนวน 10 บริษัท (จากจำนวนช่องที่จะประมูล 7 ช่อง) ได้แก่ 1.บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด 2.บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด 3.บริษัท 3เอ. มาร์เก็ตติ้ง จำกัด 4.บริษัท ไอ-สปอร์ต มีเดีย จำกัด 5.บริษัท ไทยทีวี จำกัด 6.บริษัท โพสต์ ทีวี จำกัด (เครือโพสต์) 7.บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด 8.บริษัท โมโน เจนเนอเรชั่น จำกัด 9.บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด (เครือเนชั่น) และ 10.บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด
- หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (ทั่วไป SD) มีผู้ยื่น จำนวน 16 บริษัท (จากจำนวนช่องที่จะประมูล 7 ช่อง) ได้แก่ 1.บริษัท บีบีทีวี แซทเทลวิชั่น จำกัด (ช่อง 7) 2.บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด 3.บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด 4.บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด 5.บริษัท โฟร์ วัน วัน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด 6.บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (เครือไทยรัฐ) 7.บริษัท ไทยทีวี จำกัด 8.บริษัท ทัช ทีวี จำกัด 9.บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด (ช่อง 3) 10.บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด 11.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 12.บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด 13.บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด 14.บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด 15.บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด และ 16.บริษัท ทรู ดีทีที จำกัด
- หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (ทั่วไป HD) มีผู้ยื่น จำนวน 9 บริษัท (จากจำนวนช่องที่จะประมูล 7 บริษัท) ได้แก่ 1.บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง 7) 2.บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด 3.บริษัท พี เอ็ม กรุ๊ป จำกัด 4.บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด (ช่อง 3) 5.บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด 6.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 7.บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด 8.บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด และ 9.บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (เครือไทยรัฐ)
นายฐากร กล่าวว่า ขั้นต่อตอนไปคือการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลต่อไป โดยสำนักงาน กสทช. จะประกาศรายชื่อผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลภายใน 45 วันทั้งนี้ระหว่างนี้ผู้ยื่นซองประมูลทุกคนถือว่าเข้าสู่ช่วงไซเลนส์พีเรียด คือห้ามติดต่อสื่อสารกับผู้ยื่นซองประมูลรายอื่นๆ จนว่าจะสิ้นสุดกระบวนการประมูลและมีการรับรองรายชื่อผู้ชนะการประมูล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีที่เป็นที่จับตาคือ บริษัท จันทร์ 25 จำกัด ที่มีนางสุรางค์ เปรมปรีดิ์ เป็นเจ้าของ และก่อนหน้านี้เคยซื้อซองประมูลประเภททั่วไป HD เนื่องจากนางสุรางค์มีหุ้นอยู่ในบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หรือช่อง 7 กว่า 21% ซึ่งหากทั้ง 2 รายยื่นประมูลช่องเดียวกันพร้อมกันจะทำให้ถูกตัดสิทธิ์ทั้งคู่เนื่องจากมีหุ้นไขว้กันเกิน 10% ตามประกาศ กสทช. อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 29 ตุลาคม นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ที่ปรึกษากฎหมายบริษัท จันทร์ 25 จำกัด ได้เดินทางมาที่สำนักงาน กสทช. แต่ไม่ได้ยื่นซองประมูล เพียงแต่อ่านแถลงการณ์ว่า นางสุรางค์ตัดสินไม่เข้าร่วมการประมูลทีวีดิจิตอลครั้งนี้ ทำให้กรณีดังกล่าวสิ้นสุดลงไป
ทั้งนี้ในแถลงการณ์ของบริษัท จันทร์ 25 จำกัด ระบุว่า “เมื่อพิจารณาโดยรอบด้าน ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด และพนักงานที่มีความจงรักภักดีและร่วมกับคุณสุรางค์ คุณแม่ และพี่ชายทั้งสอง ก่อตั้งและร่วมกันสร้างสถานีจนมาเป็นสถานีโทรทัศน์ชั้นนำในปัจจุบัน บริษัท จันทร์ 25 จำกัดจึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทและคุณสุรางค์ ยังยืนยันว่ามีความประสงค์ที่จะทำธุรกิจในวงการโทรทัศน์ต่อไป รวมทั้งจะใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นติดตามการดำเนินงานและการปฏิบัติต่อพนักงานของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด”