เครือข่ายนศ.เชียงใหม่ ออกแถลงการณ์จี้รัฐเปิดข้อมูล ระบุพิกัด-ผลกระทบการสร้างเขื่อน
เครือข่ายนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ให้ อปร.เปิดพื้นที่ชาวบ้านร่วมแสดงความเห็นโครงการน้ำเพิ่มขึ้น มีแผนรับความเสียหาย-ผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ปชช.ในพื้นที่สร้างเขื่อนชี้ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต
วันที่ 29 ตุลาคม 2556 กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ จัดงาน “ค่าคน ค่าเขื่อน” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นข้อมูล ข้อเท็จจริง และผลกระทบที่ได้รับจากการปฏิบัติตามโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุกภัยของประเทศ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมี เครือข่ายนักศึกษา นักวิชาการ เอ็นจีโอ รวมถึงกลุ่มชนเผ่าปกาเกอะญอจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ เข้าร่วมกิจกรรม ณ ลานหน้าคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จากนั้น กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกแถลงการณ์การรับฟังความเห็นครั้งแรกที่ จ.ลำพูน นั้น คณะอนุกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (อปร.) ได้นำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ 9 โมดูลโครงการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านการประมูลเรียบร้อยแล้ว เข้าสู่กระบวนการเท่านั้นโดยยังมิได้บอก ผลประโยชน์และผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ดำเนินโครงการ ซึ่งไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องและผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการได้ทำความเข้าใจและยอมรับกับการจัดทำโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ มีข้อเรียกร้องต่อ อปร. ดังนี้
1. ให้ข้อมูลที่ระบุพิกัดพื้นที่ที่จะดำเนินการให้ชัดเจน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบโดยตรง เพื่อให้ประชาชนติดตาม ปรึกษาได้
2.ควรให้ข้อมูลที่ระบุถึงผลประโยชน์และผลกระทบที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับ แผนรองรับและการเยียวยาความเสียหาย เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับ
3.การให้ข้อมูลรายละเอียดเอกสารควรมีฉบับที่เป็นภาษาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในผลกระทบอย่างชัดเจนและทั่วถึงเพื่อประกอบการตัดสินใจ เนื่องจากให้หลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในการดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์
4.รัฐบาลควรมีการลงพื้นที่ สำรวจ ตรวจสอบบริบทอย่างต่อเนื่องและมีการทำแบบสอบถามและสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม โดยมีแบบประเมินด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่มีความเป็นธรรมและโปร่งใส
ขณะที่ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบ นายพตี ตาแยะ ชาวบ้านสบลาน กล่าวว่า กลุ่มชาวบ้านได้ลงพื้นที่ดูหลายเขื่อนที่สร้างมาก่อนหน้านี้ พบว่า มีผลกระทบอีกมากที่ไม่ได้รับการแก้ไข พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแม่แจ่ม และแม่ขาน จะทำลายป่าและพื้นที่ทำกิน ซึ่งหาซื้อไม่ได้ เอาคืนไม่ได้ ที่สำคัญคือไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน
ด้านนายศตวรรต ดุสิตากร ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่สร้างเขื่อนแม่ขาน กล่าวว่า การจะสร้างเขื่อน โดยอ้างว่า เพื่อเก็บกักน้ำในฤดูน้ำหลาก และสำรองน้ำในฤดูแล้งนั้น หากวัดระยะทางจากแม่ขานไปจบที่แม่น้ำปิง เป็นระยะทางไม่ถึง 20 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่มีความอุดมสมบูรณ์พร้อม ไม่เคยแห่งแล้ง ทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ชาวบ้านจึงตั้งคำถามว่าจะทำเขื่อนไปให้ใครอีก
“เงินที่จะนำมาชดเชยให้ไม่ได้ตอบปัญหา เพราะไม่สามารถทดแทนวิถีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ได้ วันที่ 30 ตุลาคม 2556 กลุ่มชาวบ้านบางส่วนจะถูกคัดกรองให้เข้าร่วมกิจกรรมการรับฟังความเห็นของรัฐบาลด้วย แต่หากมีความจริงใจในการรับฟังความคิดเห็นจริง ควรจัดให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมมากกว่านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มย่อยควรให้ชาวบ้านมีโอกาสได้เข้าร่วมมากขึ้น”
ขณะที่นายนิคม พุทธา แกนนำอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่ปิง จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงภาพบรรยากาศแวดวงนักศึกษาที่มาแบ่งปันเวลา ใช้สติปัญญา ความรักความห่วงใยเรื่องธรรมชาตินั้น ห่างหายไปนานจนคิดว่า จะไม่ได้เห็นบรรยากาศนั้นอีกแล้ว แต่มาได้เห็นอีกครั้ง
ส่วนมีโครงการบริหารจัดการน้ำที่จะมีก่อสร้างเขื่อนจำนวนมากนั้น นายนิคม เชื่อว่าก็ยังเกิดภัยพิบัติที่รุนแรง โดยที่ไม่มีการเรียนรู้จากโครงการหรือเขื่อนที่มีมา เช่น เขื่อนภูมิพล ที่มีปริมาณตะกอนไปทับถมจนทำให้น้ำในเขื่อนมีปริมาณสูง
“ไม่ว่าจะน้ำแล้งหรือน้ำท่วม มีเขื่อนหรือไม่มีเขื่อน ไม่ใช่สาเหตุในการแก้ปัญหา สาเหตุหลักที่แท้จริงคือพื้นที่ป่าต้นน้ำถูกทำลาย ระบบนิเวศน์ที่กักเก็บน้ำอย่างถาวร เพียงพอ ซึ่งการสร้างเขื่อนจะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติทางภาคเหนือ แม่น้ำ ผืนป่า ชุมชนที่อาศัยอยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน วิถีชีวิตที่งดงามสูญหายไป ดังนั้น ทุกคนต้องไม่นิ่งดูดาย และต้องช่วยกันรักษาทรัพยากรเหล่านี้ไว้”
ด้านดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิทธ อาจารย์วิทยานวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังจะเสียความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรให้กับนายทุน นักการเมือง หรือกลไกของการพัฒนาประเทศ เพื่อประโยขน์ของตนหรือพวกพ้อง การรวมตัวกันครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เพราะความสงสาร ความห่วงใย แต่เป็นเพราะเห็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น จากการตระเวนไปในเวทีรับฟังความคิดเห็นต่างๆ พบว่า นักศึกษาในทุกพื้นที่ตื่นตัวและทำงานกันเป็นเครือข่ายเพื่อต่อต้านความอยุติธรรม ซึ่งเชื่อว่า พลังบริสุทธิ์จะสามารถเอาชนะทุกสิ่งได้
ส่วนนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย และอดีตกรรมการสมัชชาปฏิรูป ผู้ทำงานช่วยเหลือคนชายขอบ กล่าวถึงพลังนักศึกษา เป็นการใช้พลังบริสุทธิ์เพื่อรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญาชุมชนและธรรมชาติ หวังว่า พลังที่เราประสานกันในวันนี้จะเป็นการจุดเทียนเริ่มต้นให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ที่ชาวบ้าน หรือเผ่าปกาเกอะญอ ที่ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติอย่างเรียบง่าย มีมิติทางจิตวิญญาณในการรักษาป่าไว้อย่างยั่งยืน
"แม้ครูฝ่ายกิจกรรมอาจจะไม่เข้าใจในกิจกรรมที่เราทำ แต่ขอให้เราพิสูจน์ว่า เด็กรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน แหล่งต้นน้ำลำธาร เพื่อรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังๆ ซึ่งผลการศึกษาหลักวิชาการ ผลดีผลเสีย ของโครงการ 3.5แสนล้าน การสร้างเขื่อน ฟลัดเวย์ สร้างแหล่งน้ำต่างๆเพื่อตอบสนองทุน และโครงการที่รัฐบาลสร้างล้วนแต่เป็นอภิมหาโครงการทั้งนั้น ไม่ได้เป็นโครงการที่คำนึงถึงการรักษาธรรมชาติ ภูมิปัญญา ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยวิถีพอเพียง ดังนั้นจึงต้องปลุกพลังนิสิตนักศึกษาให้ฟื้นขึ้นมา เพื่อให้พลังนิสิตนักศึกษากลับมาเป็นผู้นำสังคมอีกครั้งหนึ่ง"
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กำหนดการเดิมนั้น จะมีการจัดกิจกรรม“ค่าคน ค่าเขื่อน”บริเวณ อ.ม.ช. ต่อมามีการย้ายสถานที่มาเป็นบริเวณลานหน้าคณะมนุษยศาสตร์ ซึ่งแหล่งข่าวในกลุ่มผู้จัดงาน ระบุว่า เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องให้เหตุผลว่าทางกลุ่มเครือข่ายยื่นหนังสือกระชั้นชิดเกินไป พร้อมทั้งให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า เกรงจะมีมือที่ 3 เข้ามาสร้างความวุ่นวายภายในมหาวิทยาลัย และจะส่งผลกระทบต่อตัวนักศึกษาและมหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมดังกล่าวภายในมหาวิทยาลัย
ส่วนวันที่ 30 ตุลาคม 2556 ช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 06.00 น.เป็นต้นไป มีรายงานว่า กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ นัดรวมพลเดินเท้าไปยังเวทีรับฟังความเห็นโครงการน้ำฯ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรณรงค์ให้ชาวเชียงใหม่ไปร่วมรับฟัง มิใช่กิจกรรมที่มุ่งหวังจะต่อต้านการสร้างเขื่อนแต่อย่างใด