ACT ส่งสัญญาณสังคมนานาชาติ จับตาแก้ไข พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาตรา 3
"ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" ออกโรงหนุนแถลงการณ์องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ค้านกฎหมายนิรโทษกรรม ชี้ปล่อยไป จะสร้างค่านิยมใหม่ โกงแล้วไม่ผิด อนาคตยากแก้ไข ที่สำคัญยังทำลายกระบวนการยุติธรรมให้ไร้ความศักดิ์สิทธิ์
วันที่ 29 ตุลาคม 2556 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับสมาชิกองค์กรในภาคธุรกิจ การเงินและการลงทุน ได้เข้ายื่นหนังสือแถลงการณ์ต่อองค์การสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องให้ตระหนักถึงกรณี ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับแก้ไขเพิ่มเติมความในมาตร 3 มีเจตนาและมุ่งหมายที่จะลบล้างให้คดีทุจริตคอร์รัปชั่นถูกเพิกถอนไปทั้งหมด พร้อมกับร่วมส่งสัญญาณเตือนให้รัฐบาลปฏิบัติตามอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต (United Convention against Corruption : UNCAC 2003) ที่รัฐบาลเคยให้สัตยาบันไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียในสายตาของประชาคมโลก
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึงการยื่นหนังสือแถลงการณ์ต่อองค์การสหประชาชาติในครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการ คือ
ประการที่หนึ่ง ต้องการให้สังคมนานาชาติรับรู้ว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน พร้อมด้วยสมาชิกองค์กรในภาคธุรกิจ การเงินและการลงทุน รวมทั้งภาคประชาชน ให้ความสนใจอย่างมากต่อการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทย
ประการที่สอง ต้องการให้สังคมนานาชาติจับตามองท่าทีของรัฐบาลไทย กรณีร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับแก้ไขเพิ่มเติมความในมาตร 3 เพื่อล้างผิดคดีทุจริตทั้งหมด แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยกำลังดำเนินการขัดต่ออนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (UNCAC 2003) ซึ่งจะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อกระบวนการต่อสู้คอร์รัปชันของทุกภาคส่วนในสังคมไทย
นายประมนต์ กล่าวอีกว่า การที่กรรมาธิการเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีมติเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมความในร่างมาตรา 3 มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อความพยามยามของสหประชาชาติในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้เล็งเห็นถึงความร้ายแรงของปัญหาและการคุกคาม จนนำมาสู่การมีมติให้พิจารณากำหนดเครื่องมือทางกฎหมายระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นที่มาของอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (UNCAC 2003) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548 และรัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ซึ่งรัฐบาลไทยจะต้องจัดให้มีมาตรการที่จำเป็น รวมทั้งมาตรการทางกฎหมายและทางบริหารเพื่อให้มีการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังและน่าเชื่อถือ
“องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ และสมาชิกองค์กรในภาคธุรกิจ การเงินและตลาดทุน จะแลกเปลี่ยนทัศนะและข้อคิดเห็นกับผู้แทนขององค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยเพิ่มเติมในประเด็นผลกระทบของร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับแก้ไขเพิ่มเติมความในมาตร 3 ที่อาจจะส่งผลเชิงลบต่อถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทย รวมถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมและความเชื่อมั่นของประชาคมโลกในอนาคต”
อย่างไรก็ตาม สำหรับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติเมื่อ พ.ศ. 2555 พบว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 88 จาก 176 ประเทศ ด้วยคะแนนเพียง 37 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ต่ำกว่าประเทศซาอุดิอาระเบีย อันดับที่ 66 และประเทศจีน อันดับที่ 80 ชี้ให้เห็นว่าคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไข
ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า ดังนั้น หากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ จะยิ่งซ้ำเติมให้ภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยตกต่ำ ประเทศไทยอาจจะถูกประณามจากประชาคมโลก เนื่องจากได้ดำเนินการที่สุ่มเสี่ยงว่าขัดแย้งหรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามอนุสัญญา และเป็นประเทศเดียวในโลกที่ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับฐานความผิดในคดีคอร์รัปชัน
อดีตขุนคลังหนุน ค้านกฎหมายล้างผิดคนโกง
ขณะที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความลงเฟชบุคล่าสุด สนับสนุน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ออกแถลงการณ์คัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม โดยชี้แจงเหตุผลต่อไปนี้
1. สถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทย มีความรุนแรงมากขึ้น ในทุกระดับ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
ขณะนี้ ประเทศไทยสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปกับการทุจริตมากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี แทนที่จะนำไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างความแข็งแกร่ง และศักยภาพการแข่งขันของประเทศ
2. กฎหมายนี้ เป็นการส่งเสริมการกระทำทุจริต ส่งผลให้ผู้มีส่วนร่วมคิด ทั้งตัวการ ผู้สนับสนุน และผู้ถูกใช้ให้กระทำ ไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย ซึ่งจะทำให้คอร์รัปชัน ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จนมิอาจประมาณความสูญเสียได้
3. การล้างผิดในคดีทุจริต ทำลายระบบคุณธรรมและจริยธรรมของสังคมอย่างร้ายแรง
และคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนชาติ จะมีค่านิยมใหม่ว่า โกงแล้วไม่มีความผิด โกงแล้วล้วนได้แต่ผลดี ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความล้มเหลวทางสังคมอย่างใหญ่หลวง เกินกว่าจะแก้ไขได้
4. กฎหมายดังกล่าว จะตัดโอกาสที่ผู้ถูกกล่าวหา จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรมให้ถึงที่สุด จะไม่สามารถลบล้างความระแวงแคลงใจของคนในสังคม
ที่สำคัญกระบวนการยุติธรรมของประเทศก็จะหมดความศักดิ์สิทธิ์ เพราะไม่สามารถทำให้สังคมเชื่อในคำตัดสิน และไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษตามครรลองของกฎหมาย เพื่อชดใช้และรับผิดต่ออาชญากรรมร้ายแรง ที่กระทำต่อแผ่นดินและคนไทยทั้งประเทศได้
5. รัฐบาลนี้ได้เคยประกาศเจตนารมณ์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 ให้คำมั่นว่าการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันถือเป็นภารกิจหน้าที่ และนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลและข้าราชการทุกคน
แต่กฎหมายนี้ ขัดแย้งอย่างชัดแจ้งต่อคำประกาศเจตนารมณ์ของรัฐบาล ซึ่งส่งจะผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความพยายามต่างๆ ของรัฐบาลนี้ อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และไม่ควรเกิดขึ้น
6. รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบัน เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 แต่ทว่า กฎหมายนี้ มีเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงว่าจะขัดแย้งและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามอนุสัญญาฯ
กฎหมายนี้ จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรก และประเทศเดียวในโลก ที่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับคดีอันเป็นความผิดฐานคอร์รัปชันภายหลังลงนามให้สัตยาบัน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียในสายตาของประชาคมโลก