“แม่โจ้โพลล์” เผยปัญหาเกษตรกรโครงการหลวง สะท้อนภาพเกษตรกรรมไทย
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำรวจเกษตรกร พบมีปัญหาต้นทุนร้อยละ 48 ราคาผลผลิตร้อยละ 38 ขายผ่านพ่อค้าคนกลางร้อยละ 76 แต่ร้อยละ 37 อยากขายเอง ร้อยละ 41 อยากเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
ว่าที่ร้อยตรี ดร.สุรชัย กังวล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า แม่โจ้โพลล์สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มเกษตรกรโครงการหลวงในพื้นที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ในหัวข้อ “สหกรณ์การเกษตรกับการพลิกฟื้นความหวังเกษตรกรด้วยพืชความหวังใหม่” เพื่อทราบถึงแนวทาง และความต้องการพัฒนาการเกษตรของเกษตรกร โดยสอบถามเกษตรกรบนพื้นที่สูง 165 ราย ระหว่าง วันที่ 21 เม.ย.-6 พ.ค.54
โดยเกษตรกรบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.70 ตัดสินใจทำการเกษตรในปริมาณเท่าเดิมกับปีที่ผ่านมา เพราะพื้นที่เพาะปลูกและแรงงานมีจำนวนจำกัด ต้องการดูแลผลผลิตให้มีคุณภาพ ขณะที่ร้อยละ 15.10 ตัดสินใจเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร เพราะต้นทุนการเพาะปลูกต่ำและผลผลิตมีราคาค่อนข้างดี และต้องการปลูกทดแทนต้นที่มีอายุมาก ทั้งนี้มีเพียงร้อยละ 3.20 ที่ตัดสินใจลดพื้นที่การเพาะปลูกลง เพราะเกษตรกรต้องใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมากซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ รวมถึงสภาพพื้นที่และสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยในการเพาะปลูก
ทั้งนี้เกษตรกรร้อยละ 48.40 ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูง รองลงมาร้อยละ 38.10 ประสบปัญหาการขายผลผลิตได้ราคาต่ำ ร้อยละ 22.20 ประสบปัญหาเรื่องคุณภาพของผลผลิต ร้อยละ 20.60 ประสบปัญหาเรื่องขาดแคลนเงินทุนในการผลิตและพัฒนาคุณภาพผลผลิต ขณะที่ร้อยละ 17.50 ประสบปัญหาจากโรคพืชและแมลงศตรูพืชเข้าทำลายพืชผลผลิตทางการเกษตร ร้อยละ 12.70 ต้องประสบปัญหาพื้นที่ทำการเกษตรมีน้อยเนื่องจากเป็นพื้นที่สูง และร้อยละ 10.30 เจอปัญหาการขาดความรู้ในการเพาะปลูกพืช
ด้านการขายผลผลิตทางการเกษตร พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.20 ขายให้กับพ่อค้าคนกลางเพราะสะดวกและไม่จำเป็นต้องหาตลาดเอง รองลงมา ร้อยละ 11.10 ขายให้กับโครงการหลวงเนื่องจากเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตของชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 11.10 นำผลผลิตไปขายด้วยตนเอง มีเพียงร้อยละ 1.60 เท่านั้นที่ขายผลผลิตให้กับสหกรณ์ ส่วนแนวทางในการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตของตนเองนั้นร้อยละ 41.30 เห็นควรมีการจัดการพื้นที่เพาะปลูกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และร้อยละ 37.30 เห็นควรให้นำผลผลิตไปขายนอกพื้นที่ด้วยตนเอง และร้อยละ 13.50 ควรมีการแปรรูปผลผลิต
ว่าที่ร้อยตรีดร.สุรชัย กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของความช่วยเหลือเกษตรกรร้อยละ 65.10 ระบุว่าได้รับการอบรมให้ความรู้ ร้อยละ 53.20 ระบุกล่าวได้รับการสนับสนุนด้านการตลาด ขณะที่ร้อยละ 46.80 ได้รับการสนับสนุนด้านพันธุ์พืชที่เพาะปลูก ร้อยละ 41.30 บอกว่าได้รับการสนับสนุนด้านการเงินและปัจจัยการผลิต และร้อยละ 1.60 บอกว่าได้รับส่วนลดราคาปุ๋ยและยาฆ่าแมลง
ทั้งนี้ด้านความช่วยเหลือในส่วนของสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงนั้น ร้อยละ 40.40 ต้องการให้จัดตั้งกองทุนกู้ยืมเพื่อจัดซื้อปัจจัยการผลิตสำหรับสมาชิก รองลงมาร้อยละ 28.80 ต้องการให้เป็นตัวกลางในการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่แน่นอนสำหรับสมาชิก ขณะที่ร้อยละ 9.60 ต้องการให้เป็นหน่วยงานที่ช่วยสรรหาพันธุ์พืช ที่เหมาะสมที่จะปลูกในพื้นที่และควรให้มีเจ้าหน้าที่โครงการหลวงเข้ามาอบรม และให้ความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตร และร้อยละ 7.70 บอกว่าควรจัดตั้งกองทุนเมล็ดพันธุ์พืชสำหรับสมาชิกและควรจัดตั้งกองทุนสวัสดิการในการดูแลสุขภาพสมาชิก .
ที่มาภาพ : http://e-service.agri.cmu.ac.th/research/view_research_detail.asp?TRes_id=01-065-A-47