พีระพงษ์ มานะกิจ : ประกาศมาตรา 37 ไม่แทรกแซงสื่อ
“...จริงๆ ก็ไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะหากเจ้าของสถานีโทรทัศน์จะแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อจริง สามารถร้องเรียนมายังระบบรับเรื่องร้องเรียนของ กสทช.ได้ แล้วผมจะเข้าไปแก้ไขปัญหาอีกที ซึ่งส่วนตัวมองว่า มาถึงยุคสมัยนี้แล้ว ใครไปทำอะไรไว้ที่ไหน มันปิดกันไม่ได้อยู่แล้ว...”
“พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ” กรรมการ กสทช.และกรรมการ กสท.ให้สัมภาษณ์กับ “สำนักข่าวอิศรา” www.isranews.org ก่อนที่ ร่างประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. .... ที่ออกตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม กสท. ในวันที่ 28 ตุลาคม 2556 นี้ ซึ่งถือเป็นโค้งสุดท้ายการพิจารณาร่างประกาศฯ ฉบับนี้แล้ว
ที่ผ่านมา ร่างประกาศฯ ฉบับนี้ถูกหลายฝ่าย ทั้งนักวิชาการ นักวิชาการ นักกฎหมาย รวมถึงภาคประชาชน วิจารณ์ว่าเปิดโอกาสให้นายทุนสามารถเข้าแทรกแซงการทำงานของสื่อได้ ในอีกด้านก็มองว่าจะทำให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเองไม่กล้าตรวจสอบการทำงานของรัฐ
รวมทั้งมีข้อสงสัยว่าร่างประกาศฯ ฉบับนี้ อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ที่ให้สื่อมีเสรีภาพไม่ถูกแทรกแซงโดยนายทุน-นักการเมือง รวมถึงยังมองว่าร่างประกาศฯ ฉบับนี้ ขยายความมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ เกินกว่าที่ตัวกฎหมายกำหนด
โดยองค์กรวิชาชีพสื่อ จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ถึงกับออกประกาศ
พล.ท.พีระพงษ์ จะมาชี้แจงสารพัดข้อข้องใจข้างต้น ผ่านบทสัมภาษณ์นี้
00000
ขั้นตอนการพิจารณาร่างประกาศฯ ฉบับนี้
ผมเสนอให้ที่ประชุม กสท.ในวันที่ 28 ตุลาฯ พิจารณา ซึ่งหากผ่านการพิจารณาจาก กสท. ขั้นต่อไปก็คือส่งไปให้ที่ประชุม กสทช.พิจารณา ซึ่งตามปกติจะใช้เวลาเป็นเดือน แต่คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในปี 2556 นี้
มีเสียงวิจารณ์ว่ามีเนื้อหาเปิดโอกาสให้นายทุนหรือเจ้าของกิจการสามารถแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อได้
ไม่มีข้อความที่ว่าอยู่ในร่างประกาศฯ ฉบับนี้เลย เพียงแต่บอกว่าให้ผู้รับผิดชอบช่วยสกรีนเนื้อหาที่อาจจะไม่เหมาะสมตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ ซึ่งร่างประกาศฯ ฉบับนี้ก็แค่ลงรายละเอียดของมาตรา 37 เท่านั้น ไม่ได้มีการระบุอะไรที่มากกว่านั้นเลย และถึงไม่มีร่างประกาศฯ ฉบับนี้ออกมา ก็มีมาตรา 37 ให้บังคับใช้ได้อยู่แล้ว
เหตุที่ต้องมีการเขียนร่างประกาศฯ ฉบับนี้ขึ้นมา เพราะทางผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ เองอยากให้การบังคับใช้มาตรา 37 มีความชัดเจนมากขึ้น
จริงๆ ก็ไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะหากเจ้าของสถานีโทรทัศน์จะแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อจริง สามารถร้องเรียนมายังระบบรับเรื่องร้องเรียนของ กสทช.ได้ แล้วผมจะเข้าไปแก้ไขปัญหาอีกที ซึ่งส่วนตัวมองว่า มาถึงยุคสมัยนี้แล้ว ใครไปทำอะไรไว้ที่ไหน มันปิดกันไม่ได้อยู่แล้ว
และที่ผ่านมา ผมก็ยังไม่เห็นสถานีโทรทัศน์ช่องไหนไปกลั่นแกล้งนักข่าวเลยนะ
อีกด้านก็มีการวิเคราะห์ว่าร่างประกาศฯ ฉบับนี้จะทำให้สื่อ โดยเฉพาะโทรทัศน์ เซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น
อย่างกรณีช่อง 5 ยุติการออกอากาศสกู๊ปเรื่องบริษัทเค-วอเตอร์ขาดทุนกลางคัน เท่าที่ตรวจสอบ ก็พบว่าช่อง 5 ทำถูกแล้ว เพราะสกู๊ปดังกล่าว ข้อเท็จจริงยังไม่สุด ทำให้มีเนื้อหาด้านเดียว เรื่องนี้จึงต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพการทำงานของแต่ละฝ่ายด้วย
ที่ผมเป็นห่วงคือมีรายการข่าวบางรายการ ที่ไม่ใช่ข่าว แต่เป็นการเล่าความ ใส่ความเห็นมากเกินไป มีการชี้นำ ทั้งๆ ที่รายการข่าวควรจะเน้นข้อเท็จจริง แต่นี่คิดเอง พูดเอง โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในข่าวได้ชี้แจง ซึ่งการชี้แจง เราก็เข้าใจว่า ไม่จำเป็นต้องวันเดียวกัน แต่อย่างน้อยต้องมี
แต่แหล่งข่าวบางฝ่ายเชิญอย่างไรก็ไม่ยอมมา แบบนี้สื่อก็อาจทำงานไม่ได้เลย
ก็อาจระบุไว้ก็ได้ว่าพยายามเชิญแล้ว...
เราอยากให้สื่อเป็นมืออาชีพมากขึ้น ต้องไปดูเจตนา ถ้าคุณพยายามให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องในข่าวทุกฝ่ายได้ชี้แจง คุณก็ไม่ได้ทำอะไรผิดจากข้อกำหนดในร่างประกาศฯ ฉบับนี้
เช่นถ้ามีการเผาสถานีราชการสักแห่ง แทนที่สื่อจะฟันธงไปว่าเป็นฝีมือใคร สื่อควรจะเปิดให้ฝ่ายต่างๆ ได้พูด โดยไม่ทำตัวเป็นพนักงานสอบสวนเสียเอง
สถานีโทรทัศน์ช่องที่มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เขามาดูร่างประกาศฯ ฉบับนี้ ก็บอกว่าไม่เห็นมีอะไรเลย เพราะเขาทำกันอยู่แล้ว เขาบอกว่า พวกผมทำอยู่แล้ว และที่ทำอยู่ก็เข้มอยู่แล้ว อย่างกรณีสกู๊ปบริษัทเค-วอเตอร์ บางช่องเขามองว่าเป็นเรื่องการเมือง และยังมีข้อมูลไม่ครบถ้วน จึงตัดสินใจไม่ออกดีกว่า เพราะไม่อยากตกเป็นเหยื่อของฝ่ายใด
กลับกันถ้าสถานีโทรทัศน์ช่องใด เอาแต่กลัวมากๆ จนเซ็นเซอร์ตัวเอง กลไกตลาดก็จะทำงาน คนก็จะไม่ดู จนช่องต้องกลับมาทบทวนตัวเองอีกที
องค์กรวิชาชีพสื่อท้วงว่าร่างประกาศฯ ฉบับนี้จะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ที่คุ้มครองเสรีภาพการทำงานของสื่อ เพราะเปิดช่องให้เจ้าของกิจการที่เป็นนายทุนเข้ามากำกับเนื้อหาได้
จริงๆ เรื่องนี้เราเองก็เป็นห่วง แต่ฝ่ายกฎหมายของเราได้ดูอย่างละเอียดแล้ว ก็เห็นว่าไม่ได้ขัดมาตราไหน ผมจึงคิดว่าไม่น่าจะขัดนะ
นักวิชาการก็ระบุว่ามีการขยายความเกินกว่าที่ระบุไว้ในมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ
ไม่ได้ขยายความอะไรเลย เราแต่เขียนลงรายละเอียดมากขึ้น เดิมในมาตรา 37 เขียนมาเป็นนามธรรม ร่างประกาศฯ ฉบับนี้ ก็ลงรายละเอียดให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
จริงๆ ใครที่คัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศฯ นี้ สามารถมาเสนอผมได้โดยตรง หรือโทรศัพท์มาพูดคุยก็ได้ ถ้าอันไหนผมเห็นว่าดี ก็อาจนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในร่างประกาศฯ ฉบับนี้ต่อไป
มุมกลับคือจะส่งผลถึงขนาดทำให้สื่อไม่กล้าตรวจสอบอำนาจรัฐหรือรัฐบาลหรือไม่
ไม่น่าจะถึงขั้นนั้น ไม่ใช่ห้ามการตรวจสอบ ผมไม่ใช่คนของรัฐบาล เป็นองค์กรอิสระ
อย่าลืมว่า สถานีโทรทัศน์ที่รัฐเป็นเจ้าของมีช่องเดียว คือช่อง 11 หากช่อง 11 ไม่ตรวจสอบ สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ก็สามารถทำหน้าที่ได้ เช่นไทยพีบีเอส หรือหนังสือพิมพ์และสื่ออื่นๆ ก็ตรวจสอบรัฐบาลไป ใครที่ไม่ทำหน้าที่ ก็จะตกข่าวคนอื่นๆ
หวังอะไรจากร่างประกาศฯ ฉบับนี้
ผมต้องการสื่อที่มีคุณภาพ มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น หวังว่าเมื่อบังคับใช้จริง จะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลง
00000
ภา่พประกอบ - พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ จากเว็บไซต์ www.innnews.co.th