ทำไมเราต้องคิด? ทำเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง
ในงานเวที 'ภาคีพัฒนาประเทศไทย' ครั้งที่ 1 หัวข้อ ร่วมปฏิรูปประเทศไทย 'สวิง ตันอุด' หัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเอง ได้เผยเเพร่บทความเกี่ยวกับการจัดการตนเองของท้องถิ่นไทยไว้อย่างน่าสนใจ ว่าเหตุใดจึงต้องปั้นเเต่งให้เกิดขึ้น...
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ปฏิรูป ที่ต้องมีการปฏิรูปก็เพราะบ้านเมืองเราเผชิญกับวิกฤติในทุก ๆ ด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้ในช่วง 4-5 ปีมานี้ เกิดความขัดแย้ง เกิดการแบ่งแยกและมีการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะมีใคร หรือรัฐบาลชุดใดจะจัดการปัญหาเหล่านี้ได้
ถ้าเราจะวิเคราะห์ให้ลึกถึงเหตุที่บ้านเมืองเราไม่สามารถจัดการกับปัญหาความวุ่นวาย และความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่การเรียกร้องที่รุนแรงขึ้นทุกทีนั้น เหตุที่แท้จริงคือ ‘การรวมศูนย์อำนาจ และการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม’
แนวคิดเรื่องนี้เกิดจากอะไร ทำไมประเทศไทยถึงเกิดวิกฤติรอบแล้วรอบเล่าจนถึงทางตัน
ประเทศไทยมีการประท้วงไม่ต่ำกว่า 5,000 ครั้ง/ปี ประชาชนรวมกลุ่มกันปิดล้อมทำเนียบ ศาลากลาง ปิดถนน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และอาจจะถึง 10,0000 ครั้งในอนาคต การชุมนุมเรียกร้องระดับจังหวัดในรอบปีที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ มีการชุมนุมเรียกร้องเฉพาะที่ศาลากลางจังหวัดถึง 66 ครั้ง และทุกข้อเรียกร้องจังหวัดไม่สามารถจัดการได้เลย
จังหวัดทำหน้าที่เป็นเพียง ‘บุรุษไปรษณีย์’ ส่งต่อข้อเรียกร้องเข้าสู่รัฐบาลเท่านั้น เพราะจังหวัดไม่มีอำนาจในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ อำนาจการตัดสินใจ การบริหารการจัดการทรัพยากร และบุคลากรทุกอย่างนี้ล้วนขึ้นอยู่ที่ส่วนกลางทั้งสิ้น ดังนั้นทำเนียบรัฐบาลจึงเต็มไปด้วยประชาชานที่ไปเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา เพราะศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่นั่น แต่เมื่อถามกลับว่าเมื่อไปล้อมทำเนียบแล้วได้อะไร...เกือบทุกครั้งของการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาของประชาชน สิ่งที่ได้รับกลับมา คือ คณะกรรมการมาศึกษาการแก้ไขปัญหา แต่เมื่อดำเนินการไปกรรมการเหล่านั้นก็ต้องส่งเรื่องกลับมาให้รัฐบาลอีก เพราะตนเองไม่มีอำนาจแก้ไขปัญหา
ประเทศไทยมีงบประมาณบริหารประเทศในปี 2554 จำนวน 2,070,000,000,000 บาท ที่นำมาจัดสรรให้กับหน่วยงานและท้องถิ่นบริหาร ที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่เสียภาษีให้ส่วนกลางประมาณ 150,000 ล้านบาท แต่ได้กลับคืนมาให้ท้องถิ่นบริหารเองเพียง 40,000 ล้านบาท
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องพูดกัน เรื่องว่าทำไมจังหวัดต้องจัดการตนเอง เพราะตอนนี้ท้องถิ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 25% ในขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2540 เขียนไว้ว่าท้องถิ่นต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 35% แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยได้รับ
ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นงบประมาณที่ท้องถิ่นจัดเก็บจะนำไว้บริหารท้องถิ่นถึง 80% ส่งเข้าส่วนกลางเพียง 20% ของประเทศจีน 30% อยู่ที่ส่วนกลางอีก 70% อยู่ที่ท้องถิ่น แต่ของประเทศไทย ท้องถิ่นต้องส่งเข้าส่วนกลางทั้งหมด และส่วนกลางจัดสรรให้ท้องถิ่นเพียง 25% และยังมีนโยบายหรือแผนงานที่สั่งให้ทำและใช้งบประมาณในส่วนที่จัดสรรมาอีก หรือที่ท้องถิ่นเรียกกันว่า ‘งบฝาก’ ถ้าเป็นแบบนี้ท้องถิ่นไม่มีทางพัฒนาตนเองให้เจริญและเข้มแข็งได้
การบริหารประเทศเป็นเหมือนคอขวด ที่แคบเกินไปสำหรับการแก้ไขปัญหา ทำอย่างไรท้องถิ่นจังหวัดจะแก้ไขปัญหาเองได้ ทำไมจึงไม่จัดการคอขวด
เหตุที่ปัญหาเมืองไทยถึงแก้ไม่ตก
เหตุที่บ้านเราไม่สามารถจัดการกับปัญหาความวุ่นวายและความขัดแย้งทางการเมือง จนนำไปสู่การเรียกร้องที่รุนแรงขึ้นนั้น เหตุที่แท้จริง คือ ‘การรวมศูนย์อำนาจ’ และการจัดการทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นเหตุ
การรวมศูนย์เป็นการปกครองแบบแนวดิ่งสั่งการจากบนลงล่าง และมีอำนาจบังคับบัญชาสูงทำให้เกิดการแย่งชิงกันเข้าไปยึดกุมอำนาจ หากใครชนะและเข้าไปยึดอำนาจนี้ได้ก็บังคับบัญชาได้ทั้งประเทศ อำนาจก็เลยกระจุกตัวอยู่กับชนชั้นนำเพียงไม่กี่กลุ่มที่ครอบครองทุนและทรัพยากรเอาไว้ การรวมศูนย์อำนาจนี้ก็ทำให้การดูแลทุกข์สุขของประชาชนไม่มีประสิทธิภาพและเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น การผูกขาดอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งกลุ่มทุนใหญ่หรือแม้แต่ทุนข้ามชาติต่างเข้าไปคุมสภาพอำนาจรัฐไว้
การพัฒนาที่ผ่านมาจึงมุ่งแต่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ออกกฎหมายมาเอื้อประโยชน์กับทุน จนส่งผลกระทบกับประชาชนในชุมชนท้องถิ่นที่ดำรงชีวิตอยู่บนฐานทรัพยากร
เหตุของปัญหา คือ ‘การรวมศูนย์อำนาจ และการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม’ ทำอย่างไรจะกลับมาสู่ท้องถิ่นนิยม ท้องถิ่นจัดการตนเอง เพราะท้องถิ่นแต่ละที่มีต้นทุน มีอัตลักษณ์ มีวัฒนธรรมของตนเอง
หลุมดำแห่งศูนย์อำนาจ
โครงสร้างการบริหารประเทศของประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลก ส่วนกลางทำหน้าที่สนับสนุน ตรวจสอบ กำกับการบริหารงานท้องถิ่นเท่านั้น แต่ของประเทศไทยส่วนกลางกลับดูดอำนาจ การตัดสินใจ งบประมาณ ทรัพยากร บุคลากร ความเจริญไปไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมด และกำหนดกฎระเบียบ ข้อบังคับ ต่าง ๆ มาครอบท้องถิ่น ส่วนกลางจึงกลายเป็น ‘หลุมดำแห่งอำนาจ’
การรวมศูนย์อำนาจ คือ หลุมดำแห่งอำนาจ ความเป็นท้องถิ่นถูกดูดไปโดยหลุมดำแห่งศูนย์กลางอำนาจ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมท้องถิ่น ความหลากหลายทางชาติพันธุ์หายไปหมดด้วยการถูกบังคับ แต่การจัดการตนเอง แก้ไขปัญหาชุมชนท้องถิ่นของตนเองด้วยความร่วมมือร่วมใจกันหายไป ระบบเหมืองฝายหายไป
สมัยพญาเม็งรายรายได้ส่งอ้ายฟ้าเข้ามาเป็นไส้ศึกในเมืองหริภุญไชยด้วยตำแหน่งแก่เหมืองแก่ฝาย เพราะบทบาทนี้เป็นหัวใจควบคุมการใช้ทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีความสำคัญอันยิ่งยวด จนสามารถล้มพญายีบาลงได้ แม้เวลาจะผ่านมา 1,000 กว่าปีแล้ว แต่เรื่องการถูกแย่งชิงทรัพยากรยังคงเป็นเรื่องที่ย่ำซ้ำที่ทุกกาลเวลา ความขัดแย้งเกิดขึ้นจากการรวมศูนย์กลางอำนาจ อัตลักษณ์ของเราแทบจะเสียไปหมดสิ้น ตอนนี้เหลือเพียงแค่เปลือก เพียงแต่กระพี้ ซึ่งมีโชว์ให้ซื้อให้ชมในโรงแรมหรือในนิทรรศการ แต่ความเป็นจริงในวิถีชีวิตดั้งเดิมหายไป อันเป็นผลพวงจากการรวมศูนย์อำนาจ
ตัวอย่างเช่น เมืองลำพูนมีอายุ 1,354 ปี มีวัด จำนวน 366 วัด ไม่นับสำนักสงฆ์ นับเฉพาะที่ถูกกฎหมายในเขตเมืองมีถึง 137 วัด ตัวเมืองเป็นยิ่งกว่ามรดกโลก เพราะมีอายุถึง 1,300 กว่าปี แต่น่าเสียใจอย่างยิ่งลำพูนถูกรัฐกำหนดให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม
ส่วนจังหวัดเชียงใหม่ในเขตคูเมืองมีวัดมากกว่า 100 วัด นักท่องเที่ยวต่างชาติต่างชื่นชมพากันเดินเที่ยวดูเมืองเก่าดูวัด เขารู้ถึงความสำคัญว่าวัดไหนเป็นวัดแรกของจังหวัดเชียงใหม่ แต่สิ่งที่ส่วนกลางมาจัดการเรื่องการท่องเที่ยวให้เชียงใหม่กลับไปสร้างไนท์ซาฟารี
การรวมศูนย์ทำให้เกิดผลกระทบ ตัวหนังสือเมืองภาคเหนือหายไป ตัวหนังสือทางภาคอีสานก็หายไป ตัวหนังสือของพี่น้องกะเหรี่ยงหายไป อำนาจการตัดสินใจ เรื่องน้ำดินป่าหายไป ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เช่น ประวัติศาสตร์ขุนหลวงวิลังก๊ะ พระนางจามเทวี พญาเม็งรายหายไป เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนประวัติศาสตร์เส้นตรงที่รัฐส่วนกลางกำหนดให้ อัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นของเราถูกทำลาย เพื่อทำให้เหมือนกันทั้งประเทศ ท้องถิ่นไม่สามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่มาจัดการตนเองได้เป็นแต่เพียงผู้ร้องขอและรอคอย
สิ่งที่ได้รับจากส่วนกลางทุกท้องถิ่นเหมือนกันหมด ตั้งแต่การก่อสร้างศาลากลาง สถานีอนามัย เป็นต้น ในประเทศอเมริกา พบชนเผ่าหนึ่งมีเหลืออยู่เพียง 3 คน อเมริกาทุ่มเงินหลายร้อยล้านดอลล่าร์ เพื่อฟื้นฟูเผ่านี้ แต่ที่ประเทศไทยกลับใช้เงินหลายหมื่นล้านเพื่อทำลายชนเผ่า เพราะอยากให้มีเอกลักษณ์เหมือนกันทั้งประเทศ
การเคลื่อนตัวทางประวัติศาสตร์ไทย
ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทยจะเกิดเหตุการณ์ใหญ่ขึ้นทุกรอบ 40 ปี เริ่มในปี 2435 รัชกาลที่ 5 รวมอำนาจหัวเมืองเข้าสู่ส่วนกลาง ปี 2475 รัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญ ปี2516 เกิดการต่อสู้ของภาคประชาชนเพื่อขับไล่เผด็จการทหาร
ก่อนปี 2435 ท้องถิ่นจังหวัดแบบในปัจจุบันนี้ ถูกเรียกว่า หัวเมือง มีหัวเมืองเชียงใหม่ หัวเมืองพิษณุโลก หัวเมืองปัตตานี เป็นต้น และหัวเมืองเหล่านี้เป็นอิสระ มีการปกครองตนเองทั้งสิ้น
ปี 2435 อยู่ในช่วงที่สยามประเทศกำลังเผชิญกับลัทธิล่าอาณานิคม อังกฤษ ฝรั่งเศส ต่างมุ่งหวังเอาประโยชน์จากประเทศสยาม ดังนั้นรัชกาลที่ 5 จึงต้องปฏิรูปประเทศโดยการรวมศูนย์กลางอำนาจ จัดตั้ง 12 กระทรวง ทบวง กรม เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่น ซึ่งเป็นความเหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น
ปี 2475 รัชกาลที่ 7 ถูกเรียกร้องและกดดันจากคณะราษฎร ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย พระองค์ต้องสละอำนาจให้กับประชาชน โดยมีกระแสพระราชดำรัส “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมแก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” แต่หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา อำนาจไม่เคยอยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ตกอยู่กับกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปกครอง ผลัดกันยึดอำนาจมาโดยตลอด
ปี 2515-2519 เกิดเหตุการณ์เรียกร้องของประชาชน เพื่อขับไล่เผด็จการ 14 ตุลาคม 2516 และ 16 ตุลาคม 2519 เกิดเหตุการณ์ต่อสู้เรียกร้องของประชาชนกับรัฐบาล ทำให้มีการสลายการชุมนุมของประชาชน เกิดการเข่นฆ่าประชาชน และปัจจุบันก็ยังคงเกิดการต่อสู้เรียกร้องของประชาชนกับรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และเกิดถี่ขึ้น มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
จังหวัดต้องจัดการตนเอง
ตั้งแต่มีการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ในปี 2535 เป็นต้นมา มีกฎหมายกว่า 800 ฉบับ เขียนโดยรัฐส่วนกลาง และเพื่ออำนาจรัฐส่วนกลางทั้งสิ้น ที่ผ่านมาท้องถิ่นถูกรัฐใช้กฎหมาย ซึ่งเปรียบเสมือนสุ่มไก่มาครอบไว้ตลอด ซึ่งถ้าจะมองถึงเหตุที่รัชกาลที่ 5 ต้องรวมหัวเมืองทั้งหลาย เป็นเพราะสมัยนั้นต้องต่อสู้กับการล่าอาณานิคม การสื่อสารและการคมนาคมขนส่งก็ไม่สะดวกสบายต้องใช้เวลานาน แต่ปัจจุบันการล่าอาณานิคมก็ผ่านไปแล้ว การติดต่อสื่อสารระหว่างรัฐส่วนกลางและท้องถิ่นเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางอีกแล้ว
คนโบราณฉลาดที่จะออกแบบ เช่น กระจกโบราณจะมีหลายช่องหลายสี มองดูแล้วสวยงาม ซึ่งแตกต่างกับปัจจุบันที่การออกแบบกระจกบานใหญ่เพียงบานเดียว ทำให้ไม่ปลอดภัยถ้าเจอหินหรืออะไรมากกระเด็นใส่เกิดความเสียหายกระทบทั้งบานกระจกแบบโบราณทำเป็นล๊อคใส่สีสวยงามตรงไหนแตกก็ซ่อมตรงนั้น เหมือนกับการบริหารบ้านเมือง บ้านเรารวมศูนย์อำนาจไว้ส่วนกลาง และส่วนกลางบริหารจัดการทั้งประเทศเหมือนกันหมด เช่นเดียวกับกระจกหนึ่งบาน เวลาเกิดปัญหาที่หนึ่งกระทบกันหมด
เหมือนกรณีช้างที่เชียงใหม่ต้องอดข้าว ทั้ง ๆ ที่มีการชุมนุมอยู่ที่ราชประสงค์ ทำไมเราไม่ออกแบบใหม่ทำให้กระจกบานเล็กหลาย ๆ บาน อยู่ที่บานใหญ่ มันจะทำให้สวยงามและหลากหลาย ที่สำคัญหากเกิดปัญหาแตกร้าวก็เปลี่ยนเพียงบานเดียวที่แตก ไม่ต้องเปลี่ยนใหม่หมด
ในปี 2556 ครบ 80 ปี ประชาธิปไตยไทย 120 ปีแห่งการรวมศูนย์อำนาจ เรามาช่วยกันเสนอให้ ‘จังหวัดจัดการตนเอง’
โครงสร้างของบ้านเราเป็นแบบเจดีย์คว่ำ ส่วนยอดซึ่งควรจะแคบแต่กลับกว้างและเต็มเปี่ยมไปด้วยอำนาจและเงินที่มากถึง 75% ในขณะที่ตัวฐานเจดีย์ที่ควรจะกว้าง แต่กลับแคบและแหลม เพราะมีอำนาจและเงินในการบริหารอยู่เพียง 25% โครงสร้างเจดีย์เลยคว่ำตรงปลายทิ่มลง ถ้าลมพัดก็ล้มเพราะไม่มั่นคง เปรียบเหมือนการแก้ไขปัญหาแบบรวมศูนย์ ที่ทำให้การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นไม่เป็นจริง จะพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญได้อย่างไร ถ้าเป็นแบบนี้อีกร้อยชาติก็ไม่มีทางเจริญ
การบริหารแบบเจดีย์คว่ำเป็นระบบที่ถูกสร้างมา เราจะทำอย่างไรให้เป็นเจดีย์หงาย เรากลับหัวเจดีย์ขึ้น ทำให้เจดีย์มันถูกตั้งฐาน ทำให้ฐานแน่นขึ้น ทำให้ท้องถิ่นจัดการตนเองได้มากขึ้น ทำให้ส่วนที่หนัก 75% อยู่ที่ฐาน ส่วนยอดคือส่วนกลางอยู่ข้างบนเพียง 25% ทำให้ท้องถิ่นเกือบ 8,000 แห่ง ทั้งจังหวัด และอปท.จัดการตนเอง
ส่วนกลางทำหน้าที่สนับสนุน ตอนนี้พวกเราต้องคิดนอกกรอบ ทุกอย่างเป็นไปได้หมดถ้ามนุษย์คิดจะทำ เราพลิกความคิดของเราจากบริหารประเทศผ่านกระทรวง ทบวง กรม มาเป็นใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ตำบลจัดการตนเอง เมืองจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง ทำไมเราจะทำไม่ได้
เรื่องที่จังหวัดจัดการและไม่จัดการ
ประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลกมีโครงสร้างการบริหารประเทศอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนกลางและท้องถิ่น ของเราระบบภูมิภาคใหญ่ขึ้น ๆ ถ้าเราจะจัดการตัวเองจะทำอะไรบ้าน การจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ดินน้ำป่า เป็นเรื่องที่คนในจังหวัดจัดการได้และจัดการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เรื่องการศึกษา การท่องเที่ยว การศาสนาและวัฒนธรรม ก็เป็นเรื่องที่จังหวัดทำได้เองทั้งสิ้น
แม้แต่เรื่องของตำรวจก็เช่นกัน ตอนนี้ทั่วโลกตำรวจเป็นตำรวจของเมือง ไม่ใช่ตำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ตำรวจไม่ได้ทำงานกับท้องถิ่น และหลายครั้งที่ตำรวจกลายเป็นปัญหาของท้องถิ่น ถ้าเราจะทำให้ตำรวจเป็นตำรวจของเมือง ของท้องถิ่น หรือมีทั้ง 2 ระบบ ตำรวจศูนย์กลางกับตำรวจท้องถิ่น ทำไมจะทำไม่ได้ หรือเรื่องการจัดสวัสดิการจังหวัดก็ทำได้ ตอนนี้ถ้ารวมทุนกองทุนหมู่บ้านจัดตั้งเป็นธนาคารจังหวัดก็น่าจะมีความเป็นไปได้ ออกแบบให้ประชาชนเป็นหุ้นส่วนเป็นเรื่องที่ทำได้
ยกตัวอย่าง เรื่องฟุตบอล เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วไม่มีคนดู คนเตะฟุตบอลดูกันเอง เพราะฟุตบอลเป็นเรื่องของส่วนกลาง แต่ตอนนี้ท้องถิ่นจังหวัดเข้ามาบริหารเรื่องฟุตบอล มีทีมฟุตบอลของจังหวัด จัดการแข่งขัน และพัฒนานักฟุตบอลในจังหวัดของตนเอง เพื่อนำไปแข่งขันกับจังหวัดอื่น ทำให้การดูและการพัฒนานักฟุตบอลเป็นไปอย่างคึกคัก สนุกสนานทั้งคนดู นักฟุตบอล และผู้จัดฟุตบอลเป็นรูปธรรมให้เห็นชัดที่สุดว่าถ้าท้องถิ่นจัดการเอง ทำให้เกิดการมีส่วนร่วม
แม้จะยกพวกตีกันบ้างก็แสดงถึงสัญญาณที่ดี เพราะมีความเป็นเจ้าของ อย่างประเทศบราซิลหรืออังกฤษในกีฬาฟุตบอลก็มีการตีกัน นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าการที่จังหวัดจัดการฟุตบอลเอง ทำให้วงการฟุตบอลพัฒนาไปเร็วแค่ไหน และถ้าเราจินตนาการถึงเรื่องอื่น ๆ ที่จังหวัดมีอำนาจในการจัดการกับปัญหาหรือวางแนวทางการพัฒนาตนเองได้ทุกด้านแล้ว ท้องถิ่นจังหวัดจะพัฒนาไปได้ไกลขนาดไหน
แนวคิดเรื่องจังหวัดจัดการตนเองไม่ใช่การแยกประเทศ แต่เป็นแนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอย่างแท้จริง และเพื่อให้ดำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติ จึงมีสิ่งที่จังหวัดจะไม่จัดการ เพราะเป็นบทบาท หน้าที่ของรัฐบาล คือ ความมั่นคง ทหาร กองกำลัง, การต่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, ระบบเงินตราภายในประเทศ ใช้ระบบเดียวกันทั้งประเทศ และระบบศาล ระบบยุติธรรม และต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน จึงไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน .
ที่มาภาพ: http://www.codi.or.th/reform/