นักวิจัยเผย คนกทม.ยินดีจ่ายป้องกันน้ำท่วม หากภาครัฐนำไปบริหารจัดการได้จริง
นักวิจัย ระบุคน กทม.ชี้น้ำท่วมปี 2554 กระทบการประกอบอาชีพสูงสุด เห็นด้วยตั้งกองทุนป้องกันน้ำท่วม ยินดีจ่าย 1,513 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ลดความเสียหายชีวิต-ทรัพย์สิน หากภาครัฐบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.วรวรรณ ตุ้มมงคล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนองานวิจัยเรื่อง "ความเต็มใจจ่ายเพื่อป้องกันน้ำท่วมของประชาชนในกรุงเทพมหานคร" ในการประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 8 ณ อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาฯ
ดร.วรวรรณ ตั้งประเด็นการศึกษาว่า หากกรุงเทพมหานครมีวิธีบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ภาคประชาชนเข้ามามีร่วมร่วมในการดำเนินการ ประชาชนในกรุงเทพฯ จะยินดีร่วมจ่ายในการป้องกันปัญหาอุทกภัยหรือไม่ มากน้อยเพียงใด
โดยได้ศึกษาจาก 3 เขตของกรุงเทพมหานครที่ได้รับผลกระทบจากอุกภัย ปี 2554 ได้แก่ เขตบางซื่อ เขตบางเขน และเขตจตุจักร จำนวน 649 ตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง รายได้เฉลี่ย 23,172 บาทต่อเดือน ช่วงอายุ 35-54 ปี สำเร็จการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ประกอบอาชีพค้าขายหรือทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม มีระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 63.74 เซนติเมตร ระยะเวลาถูกท่วมเฉลี่ย 31 วัน
ดร.วรวรรณ ระบุว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า ผลกระทบที่ได้รับสำหรับกรุงเทพมหานคร ในปี 2554 มีความรุนแรงอยู่ใน "ระดับปานกลาง" ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ผลกระทบด้านการประกอบอาชีพมีความรุนแรงเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ด้านค่าใช้จ่ายในการป้องกันน้ำท่วม ด้านการดำรงชีวิต และด้านสุขภาพจิต
"กลุ่มตัวอย่างกว่า 80% เห็นด้วยกับการจัดตั้งกองทุนป้องกันน้ำท่วม และยินดีจ่ายสนับสนุนกองทุนฯ ด้วยเห็นว่า เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง รวมถึงการดูแลป้องกันและบริหารจัดการน้ำท่วม ควรเป็นหน้าที่ของทุกคน เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและเพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในกรุงเทพฯ ดีขึ้น" ดร.วรวรรณ กล่าว และว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความประสงค์จ่ายเป็นเงินบริจาค หรือโอนเข้าบัญชี สำหรับค่าเฉลี่ยความเต็มใจจ่ายเพื่อป้องกันน้ำท่วมในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 1,513.10 บาทต่อครัวเรือนต่อปี
"สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เห็นด้วย และไม่ยินดีจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนกองทุนฯ เนื่องจากมองว่า การดูแล ป้องกันและบริหารจัดการ เป็นหน้าที่ของรัฐอยู่แล้ว อีกทั้ง ไม่เชื่อมั่นในการบริหารจัดการ และมีรายไม่มาก แต่จะเต็มใจจ่ายหากมีรายได้เพิ่มมากขึ้น"
อย่างไรก็ตาม ดร.วรวรรณ ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่มีผลต่อความเต็มใจจ่ายว่า เป็นเรื่องจำนวนเงินเริ่มต้นที่เสนอ จำนวนสมาชิกในครัวเรือน ลักษณะบ้านพักอาศัย สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา การเป็นเจ้าของที่พักอาศัยและมูลค่าความเสียหาย ส่วนสำคัญที่จะทำให้ประชาชนยินดีร่วมจ่ายเงิน คือ ภาครัฐสามารถนำไปบริหารจัดการป้องกันน้ำท่วมได้ เช่น รัฐอาจให้ประชาชนร่วมจ่ายโดยการบริจาคเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในแบบฟอร์มการเสียภาษี
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.siamintelligence.com