วิจัยทำนา 1 ไร่ ได้ 1 แสน ‘รศ.วรรณา ประยุกต์วงศ์’ ชี้ผลลัพธ์มากกว่าตัวเงิน
เปิดวิจัยเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน ‘รศ.วรรณา ประยุกต์วงศ์’ ชี้ผลลัพธ์มากกว่าตัวเงินเกษตรกรเข้าใจวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ผลิตเพื่อกินอิ่ม เหลือจึงขาย หวังสร้างวิทยากรเผยแพร่ความรู้ทั่วประเทศ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 8 หัวข้อ ‘การปรับเปลี่ยนประเทศไทยภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก’ ณ อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยในการประชุมกลุ่มย่อย ‘เศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนท้องถิ่น และสิ่งแวดล้อม’ รศ.ดร.วรรณา ประยุกต์วงศ์ The NETWORK (Thailand) นำเสนอแนวคิดการเรียนรู้จากการลงมือทำเกษตรทฤษฎีใหม่สู่เศรษฐกิจพอเพียง:กรณีศึกษาหลักสูตรการอบรมทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท ว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ใช้สถานที่และหลักสูตร) โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย มีเป้าหมายเพื่อสร้างวิทยากรต้นแบบเผยแพร่ความรู้ให้กับเกษตรกรในชุมชนอื่น ๆ
ส่วนเงื่อนไขเข้าร่วมนั้นต้องเป็นลูกค้าธ.ก.ส. สามารถใช้ชีวิตแบบเสื่อผืนหมอนใบ งดอบายมุขตลอด 5 เดือน เข้ามาเรียนรู้ลงมือทำในแปลงนาสาธิตที่โครงการ ต.บางตะไนย์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี กับอาจารย์เจ้าของหลักสูตร 3 คน และผู้ช่วยอาจารย์ 5 คน มีเกษตรกรเข้าร่วม 85 คน
สำหรับหลักสูตรโครงการนั้น รศ.ดร.วรรณา ระบุว่า ได้ใช้กลยุทธ์การตลาดเป็นตัวนำ (เงิน) เพื่อสร้างความสนใจให้กับเกษตรกร ประยุกต์กับหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด เนื่องจากไม่ใช้สารเคมี ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะมีนาอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยคูน้ำ ตามคันนาปลูกพืชผัก และเลี้ยงสัตว์ด้วย ก่อเกิดทฤษฎีแปลงนาที่สามารถป้องกันลม ผสมเกสร และเกื้อกูลกันระหว่างสัตว์บกและสัตว์น้ำ
ที่สำคัญ เกษตรกรจะสามารถบริหารจัดการน้ำในแปลงนาจากคูน้ำโดยรอบได้มากขึ้น
“โครงการนี้ถือเป็นนวัตกรรมใหม่จึงไม่อยากเข้าไปเพียงแค่ประเมินกิจกรรม CSR ของธ.ก.ส.เท่านั้น แต่จะต้องเข้าไปเรียนรู้และถอดบทเรียน เรียกว่า กินนอนอยู่ด้วยกัน เพื่อศึกษาเกี่ยวกับผลผลิต ดิน น้ำ ทั้งก่อนและหลังโครงการ ตลอดจนการนำความรู้กลับไปใช้” นักวิจัย กล่าว และว่า การทำกิจกรรมดังกล่าวจะเน้นลงมือปฏิบัติ ประกอบกับการบรรยาย การตรวจแปลง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ การอัดวิดีโอ และทดลองหลายรูปแบบ
กระบวนการนี้ยังได้ปลูกฝังคุณค่าการดำเนินชีวิต เพราะธ.ก.ส.จะจัดหาอาหารให้เฉพาะเดือนแรกเท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 2 จะต้องเก็บผลผลิตในแปลงมาบริโภคเอง โดยธ.ก.ส.จะจัดหาเฉพาะข้าวสารเท่านั้น
รศ.ดร.วรรณา กล่าวถึงผลการศึกษาว่า เกษตรกรทั้ง 85 คน ได้เกรด A และสอบตก แบ่งเป็น การทำนามีผลผลิตข้าวเปลือกสูงสุด 473 กก./แปลง เฉลี่ย 900 กก./ไร่ ต่ำสุด 30 กก./แปลง
กรณีที่มีผลผลิตตกต่ำนั้น ก็เนื่องมาจากเจ้าของแปลงป่วยไปราว 2 เดือนครึ่ง
ส่วนพืชผัก ทั้งบริโภคและขายสูงสุด 727 กก./แปลง (ชั่ง) ต่ำสุด 30 กก./แปลง (ประเมิน)
ไข่เป็ด เกษตรบางคนบอกว่า มีประสบการณ์เลี้ยงเป็ดอยู่แล้วจึงอยากขอเพื่อเชื่อมโยงโครงการเท่านั้นเพียง 20 ตัว หรือบางคนบอกว่า อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญขอ 83 ตัว และยังมีขอสูงถึง 123 ตัว ซึ่งสุดท้ายก็ไปไม่รอด อย่างไรก็ตาม โดยเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 50 ตัว ทั้งบริโภคและขายสูงสุด 3,803 ฟอง/แปลง ต่ำสุด 845 ฟอง/แปลง
ปลาดุก ประสบปัญหาเกี่ยวกับการเจริญเติบโต เนื่องจากมีการจัดการปัจจัยการผลิตมาให้เกษตรกรในสัปดาห์ที่ 6 เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถมีผลิตผลออกสู่ตลาดได้ทัน โดยมีน้ำหนักสูงสุด 423 กก./แปลง
สำหรับกบนั้น รศ.วรรณา ระบุว่า ไม่มีผลผลิตเลย เพราะเกษตรกรเลี้ยงไม่เป็น ปล่อยออกจากกระชังทำให้กบกินกันเอง บ้างก็หนีออกจากแปลง
ส่วนกุ้งฝอยนั้น ธ.ก.ส.ไม่สามารถจัดหามาให้เกษตรกรเลี้ยงได้คนละ 10 กก./แปลง (85 แปลง:850กก.) ได้
“เมื่อนำมาวิเคราะห์เชิงสถิติจะพบว่า เกษตรกรที่มีการปลูกผักมากหรือหนาแน่นจะได้ผลผลิตข้าวและปลาสูง นั่นหมายถึงแต่ละแปลงมีความสัมพันธ์กันเชิงบวกอย่างมีนัยยะสำคัญ” นักวิชาการ ประเมิน และว่า ตรงกันข้ามเกษตรกรที่ปลูกผักน้อยหรือไม่หนาแน่นจะได้ผลผลิตข้าวและปลาน้อย
สุดท้าย แม้โครงการ 1 ไร่ ณ วันนี้ ยังไม่ได้ 1 แสน ตามเป้าหมายก็ตาม เนื่องด้วยกิจกรรมในโครงการไม่ครบ รวมถึงปลามีน้ำหนักน้อย ซึ่งหากจะให้ได้ต้องได้ปลา 6 ตัว/กก. แต่จากการเลี้ยงปลา 10,000 ตัว เกษตรกรทำได้เพียงป้องกันไม่ให้ปลาหลุดหรือเป็ดลงไปกินปลาจนหมด ผู้ทำวิจัย ชี้ให้เข้าใจว่า เกษตรกรไม่เคยทำกิจกรรมผสมผสานในพื้นที่จำกัดมาก่อน ฉะนั้นจึงถือว่า “เป็นการเรียนรู้จากความล้มเหลว”
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจ คือ กลุ่มเกษตรกร 84 คน มี 1 คนที่ไม่จบหลักสูตร
เกษตรกรจำนวน 76 คน หรือร้อยละ 90 สามารถเป็นวิทยากรในชุมชนตนเองได้
การนำความรู้ไปใช้ในแปลงเกษตรของตนเองจำนวน 80 คน ร้อยละ 94
การขุดแปลงสาธิตและปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในแปลง จำนวน 47 คน ร้อยละ 55
“โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้ความสำเร็จของเงื่อนไขเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ซึ่งถือเป็นการสร้างไม่เฉพาะคนต้นแบบและสมรรถนะเท่านั้น แต่ยังเป็นการนำความรู้ไปแก้ปัญหาที่ต้องเผชิญได้
ที่สำคัญ เกษตรกรไม่ติดใจว่า ทำนา 1 ไร่ ไม่ได้เงิน 1 แสนบาท เพราะเข้าใจว่า จะต้องทำเพื่อบริโภคให้อิ่มก่อน แล้วจึงขาย มิใช่ผลิตเพื่อขายอย่างเดียว” รศ.ดร.วรรณา สรุปบทเรียนที่ได้จากลงพื้นที่วิจัยทิ้งท้าย...
ที่มาภาพ: http://www.dailynews.co.th/Content.do?contentId=115519