“เจษฎ์” ชี้ พรบ.นิรโทษฯ สุดซอย ล้างผิดไปถึงคดี ป.ป.ช.-ศาลรธน.
“เจษฎ์” นักวิชาการด้านกม.ชี้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมล้างไม่ได้ล้างผิดแค่คดีคตส. ยังรวมไปถึงคดีของ ป.ป.ช.-ศาลรธน. เชื่อสุดท้าย กมธ.ยอมแก้แต่ “ทักษิณ” ต้องได้ประโยชน์
นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวถึงการแปรญัตติแก้ไขเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของ โดยเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการ (กมธ) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า เนื้อหาที่มีการแปรญัตติไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะคดีของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคดีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยประกาศคณะรัฐประหาร เนื่องจาก กมธ.เสียงข้างมากได้เพิ่มถ้อยคำว่า “หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร” โดยมีการระบุห้วงเวลา จนถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ให้พ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
“ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคดียุบพรรค คดีสลายม็อบ 7 ตุลาฯ รวมถึงคดีสลายม็อบ ปี 2553 ก็จะได้รับการนิรโทษกรรมไปด้วย ซึ่งจะเป็นการปลดล็อกให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และบ้านเลขที่ 109 กลับมาลงเล่นการเมืองได้ทันที รวมถึงสามารถไปจดทะเบียนตั้งพรรคไทยรักไทยได้อีกครั้ง เพราะร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้จะระบุว่า ไม่เคยถูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคมาก่อน” นายเจษฎ์กล่าว
นายเจษฎ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยนี้ อาจมีการแปรญัตติขึ้นมาเพื่อต่อรองทางการเมือง โดยเป็นไปได้ว่าจะมีการแก้ไขในการพิจารณาวาระ 2 ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่บนพื้นฐานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องได้ประโยชน์ โดยอาจมีการแก้ไขในทำนองว่า ให้คำพิพากษาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกลบล้างไป แต่ไม่ตัดสิทธิในการหยิบคดีขึ้นมาฟ้องใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556 ที่ประชุม กมธ.นิรโทษกรรม ได้มีมติด้วยเสียงข้างมาก แปรญัตติปรับแก้เนื้อหา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาตรา 3 โดยให้ใช้ถ้อยคำต่อไปนี้
"ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว สืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้น ระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ รวมถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจ และผู้สั่งการด้วย แต่ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112"
ทั้งนี้ กมธ.นิรโทษกรรมนัดประชุมเพื่อสรุปร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวันที่ 24-25 ตุลาคม 2556 ก่อนส่งให้ที่ประชุมสภาฯ พิจารณาในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2556
ภาพประกอบ - เจษฎ์ โทณะวณิก จากเว็บไซต์ www.tcijthai.com