“หมอประเวศ” เสนอ “ไม่ยุบโรงเรียนเล็ก” แต่ควบการศึกษาไว้ที่ชุมชน
เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 16 มิถุนายน 2554 เวลา 17:42 น.
เขียนโดย
ธิดามนต์ พิมพาชัย ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน
หมวดหมู่
เครือข่ายการศึกษาทางเลือกรุกค้านยุบ 7 พันโรงเรียนเล็ก ยื่นหนังสือกระทรวงศึกษาฯ-4 พรรคการเมือง “ชินภัทร” เสียงอ่อนถ้าพิสูจน์ดีจริงโรงเรียนก็อยู่ต่อได้ สมาคมฯโรงเรียนเล็กตอก สพฐ.ข้อมูลมั่ว
วันที่ 16 มิ.ย. 54 ที่กระทรวงศึกษางธิการ สภาเครือข่ายการศึกษาทางเลือก จัดประชุม "ปัญหาและทางออกการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 7,000 โรง" สืบเนื่องมาจากนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ให้ยุบโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ลงประมาณ 50% ในปี 2561
โดยมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี, ศ.ดร.ระพี สาคริก, ม.ร.ว.อคิน ระพีพัฒน์, อ.สุลักษณ์ ศิวะรักษ์ และ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง และเครือข่ายโรงเรียน-ครู-ผู้ปกครอง-นักเรียนที่ได้รับผลกระทบทั้ง 4 ภาคเข้าร่วมโดย นายสุรพล ธรรมร่มดี รองอธิบดีสถาบันอาศรมศิลป์ นำเสนอผลการศึกษาว่าการยุบโรงเรียนขนาดเล็กจะสร้างผลกระทบให้เด็กยากจนยิ่งขาดโอกาสทางการศึกษา เพราะคนจนไม่สามารถส่งลูกไปเรียนในเมืองได้
"ที่สำคัญเป็นการทำลายรากฐานการเรีนรู้ วัฒนธรรมท้องถิ่น ความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งถือเป็นการทำลายรากฐานที่สำคัญของชาติด้วย"
นายสุรพล นำเสนอทางออกว่า ศธ.ควรยุติคำสั่งยุบหรือควบรวมโรงเรียนเล็กจนกว่าจะสรุปทางออกร่วมกันกับภาคประชาสังคม ผู้ได้รับผลกระทบ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) โดยปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติในการปฏิรูปการศึกษาที่ให้ความเสมอภาคกับคนทุกกลุ่ม ให้ความสำคัญกับท้องถิ่น และชุมชนมีส่วนร่วม รวมทั้งพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเอาต้นทุนมาเป็นตัวชี้วัด
"โรงเรียนมีประสิทธิภาพไม่ได้เกี่ยวกับขนาดเล็กหรือใหญ่ แต่เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ผู้บริหาร โรงเรียนขนาดใหญ่ก็มีปัญหามากมาย ทั้งความแออัด การแข่งขัน ขาดการเรียนรู้วิถีชิวิตและรากเหง้าวัฒนธรรม"
ด้าน ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่าครอบครัวและชุมชนมีความสำคัญต่อการศึกษา แต่ในฐานะที่ต้องดูแลการศึกษาเพื่อปวงชน 12 ล้านคนต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพควบคู่กับคุณภาพ ซึ่งปรากฏการณ์ 15 ปีที่ผ่านมาโรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งไม่มีนักเรียนสักคน และพบว่าโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งเป็นสัดส่วนร้อยละ 45 ของโรงเรียนที่ สพฐ.ดูแล มีนักเรียนเพียงร้อยละ 12 ของทั้งหมด แต่ใช้ครูมากถึงครึ่งหนึ่ง จึงเป็นปัญหาเชิงการบริหารและงบประมาณที่ต้องหาทางออก
เลขาธิการ สพฐ.กล่าวต่อว่าไม่ได้ยืนกระต่ายขาเดียวที่จะยุบทั้ง 7 พันแห่ง แต่ให้ทั้ง 172 เขตการศึกษาไปศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการ และถ้าโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนใดสามารถตอบคำถาม 3 เรื่องได้คือโอกาส คุณภาพ ประสิทธิภาพ ก็สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้
"แต่ต้องมีบรรทัดฐานว่าเราไม่สามารถบริหารภายใต้ยูโทเปียการศึกษา ต้องอยู่ภายใต้งบประมาณ ฯลฯ ตามสมควร ต้องมีแผนพัฒนาเชิงคุณภาพ ที่พิสูจน์ได้ทั้งการประเมินผลทางวิชาการ คุณภาพนักเรียน จิตสาธารณะ สพฐ. ก็ยินดีเห็นโรงเรียนขนาดเล็กอยู่คู่สังคมไทย"
ด้านนายสัมฤทธิ์ นรทีทาน นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก สพป.ร้อยเอ็ดเขต 1 เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน โดยโต้แย้งประเด็นว่าโรงเรียนขนาดเล็กทำให้เกิดความสิ้นเปลืองทรัพยากรบุคคลและงบประมาณไม่คุ้มค่ากับการลงทุนทางการศึกษา ว่าความจริงแล้วโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมดประมาณ 13,000 แห่ง ใช้ครู 80,000 ใน 300,000 คน ไม่มากถึง 50% ตามที่ สพฐ.อ้าง และคำว่าคุณภาพเอาไม้บรรทัดวัดไม่ได้
"ส่วนเรื่องงบประมาณ ยกตัวอย่างโรงเรียนของผมมีนักเรียน 60 คน ครู 5 คน งบต่อหัวเด็ก 40,000 บาทต่อปี ถูกกว่าโรงเรียนขนาด 250 คนในพื้นที่ใช้งบรายหัว 53,000 คน ในขณะที่การประเมินทางวิชาการเราอยู่เหนือค่าเฉลี่ยมาตรฐานประเทศ ดังนั้นผมมองว่าเกณฑ์ที่ สพฐ.เอามาวัดโรงเรียนขนาดเล็กใช้ไม่ได้เสมอไป"
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎร อาวุโส กล่าวว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรสนใจและมีส่วนร่วม ถ้าเราทำการศึกษาให้ดี ประเทศจะเข้มแข็ง และมีความพร้อมที่จะพัฒนาไปทุกด้าน ชุมชนก็พยายามปฏิรูปการศึกษามานาน แต่เป็นเรื่องยาก ดังนั้นจุดสำคัญคือต้องสร้างเครือข่ายเรียนรู้และนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกันเพื่อเคลื่อนไปให้ไกล และต้องอาศัยการเปิดพื้นที่ทางสังคม
"ถ้าการศึกษาเป็นทางดิ่ง ก็ไม่มีทางทำได้ แต่ถ้าเป็นทางราบก็เป็นไปได้ รัฐช่วยได้ในส่วนที่ชุมชนไม่มี เช่น งบประมาณ จุดสำคัญคือการควบรวมชนิดใหม่ ควบรวมการศึกษากับชุมชน ให้ชุมชนสามารถจัดการศึกษาเองได้ เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง จึงจะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน"
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก กล่าวว่าหวังว่าต่อไปจะเกิดความร่วมมือระหว่างเครือข่ายกับ สพฐ.กลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก สมัชชาปฏิรูปประเทศ และทุกกลุ่มในชุมชนทั้งวัด โรงเรียน อปท. เพื่อวางแผนพัฒนาคุณภาพเพื่อตอบโจทย์ ให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถดำรงอยู่ร่วมกับชุมชนได้ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงบ่าย เครือข่ายการศึกษาทางเลือกยังได้ไปยื่นหนังสือค้านการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กต่อกระทรวงศึกษาธิการ และ 4 พรรคการเมือง ได้แก่ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน .