การศึกษาชาติขาดทิศทาง : เตรียมตัวเข้าสู่ความล้มเหลวในการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สอง
ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ โดยคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำลังจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ โดยทำกันเองอยู่ในหมู่นักคิดนักวิชาการศึกษาที่ตั้งขึ้นหลายคณะ จากการที่ได้มีโอกาสพบและพูดคุยกับ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนและระหว่างบันทึกรายการที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเพื่อแพร่ภาพวันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านไป ได้ความรู้ใหม่พอประมวลเป็นความเข้าใจเบื้องต้นโดยสรุปดังนี้:
1. กระทรวงศึกษาธิการยอมรับว่าการศึกษาของไทยตกต่ำในเชิงคุณภาพทำให้เด็กไทยด้อยขีดความสามารถในการแข่งขันกับเด็กนักเรียนชาติอื่นในอาเซียนและในโลก เท่ากับยอมรับผลการศึกษาวิจัยระดับนานาชาติที่ประกาศออกมาเมื่อเดือนสิงหาคมโดยที่ประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกในรายงาน World Economic Forum Global Competitiveness Report 2013-2014 และรายงานที่ปรากฏในผลการทดสอบนักเรียนระหว่างประเทศตามโครงการ Program of International Students Assessment (PISA) ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development - OECD) ซึ่งรายงานทั้งสองชุดระบุว่าระบบการศึกษาของไทยอยู่ในระดับต่ำล่างของโลกและของอาเซียน โดยภาพรวมของระบบและอัตราการเข้าเรียน ตลอดจนโอกาสต่ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีการศึกษา โดยเฉพาะความต่ำด้อยของเด็กไทยในวิชาคณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, และทักษะการอ่าน
2. กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังร่างหลักสูตร - จัดทำหลักสูตร - ปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ นัยว่าเป็นการปรับตัวตามผลการศึกษาวิจัยดังที่โลกระบบุมา และตามที่เป็นเป็นความเห็นสาธารณะโดยทั่วไปในสังคมไทย จนพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ไว้ใจคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียน ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมการวิ่งเต้นหาทางให้ลูกเข้าโรงเรียนดีๆ ซึ่งก็ไม่ทราบว่า “โรงเรียนดีๆ” นั้นอยู่ที่ไหน ส่วนใหญ่ก็คิดเอาว่าเป็นโรงเรียนใหญ่ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง, โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ, โรงเรียนเอกชนที่สังกัดศาสนาคริสต์มีชื่อนักบุญนักบวชเป็นชื่อโรงเรียน, และหากมีฐานะดีก็ให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติไปเลย เหลือลูกชาวบ้านที่ต่ำฐานะทางเศรษฐกิจอยู่กับโรงเรียนใกล้บ้านไปตามบุญตามกรรม
3. กระบวนการร่างหลักสูตรทำกันเองในกระทรวง โดยแบ่งเป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ และทำมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่ทราบว่าจะจบเมื่อไร สาธารณชนทั่วไปยังไม่มีโอกาสรับทราบหรือแสดงความคิดเห็นสมทบ ดร.ภาวิช บอกว่าเมื่อร่างเสร็จแล้วจะนำออกมาให้ดู “ดูแล้วก็จะเห็นเอง” แต่ระหว่างนี้ยังไม่มีการเผยแพร่ ถือเป็นเรื่องภายในกระทรวง หากจะมีการสอบถามความเห็นผู้อื่นที่ไม่ใช่คณะกรรมการร่างหลักสูตร ก็จะต้องถามครูก่อนใคร แต่ถ้าจะถามใครต่อใครมากเกินไปก็จะไม่มีวันทำงานี้เสร็จ ทำนองว่ายิ่งถามยิ่งยุ่งยาก - กระบวนการร่างหลักสูตรใหม่เป็นเรื่องภายในของกระทรวง คนนอกไม่เกี่ยว!
4. รัฐบาล ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ไปจนถึงรัฐมนตรีศึกษาธิการ ยังไม่มีความเห็นใดๆ นายกรัฐมนตรียังไม่เคยพูดถึงปัญหาเรื่องการศึกษาไทยอย่างใดเลย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบันเพียงแต่บ่นว่าไม่อยากเห็นเด็กนักเรียนสอบตกซ้ำชั้นมากๆ และให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีทำหน้าที่กำกับดูแลกระบวนการร่างหลักสูตรใหม่แทน
ถึงเวลานานแล้วที่ประเทศไทยจะต้องปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง!
ที่ผ่านมา 15 ปี ไม่ใช่การปฏิรูปการศึกษา แต่เป็นการจัดการระบบบริหารการศึกษาให้แบ่งเขตอำนาจของนักบริหารการศึกษามากขึ้น มีเจ้านายมากขึ้น ใช้จ่ายเงินมากขึ้นไปกับเรื่องการบริหารจัดการระบบราชการ ไม่ใช่การจัดการศึกษา ส่วนเรื่องการศึกษาจริงๆนั้น-ทั้งเรื่องคุณภาพและเรื่องปริมาณ-ยังมิได้รับการปฏิรูปเลย แต่เพียงการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ก็มิใช่คำตอบหรือทางออกในการแก้ปัญหา เพราะเป็นเพียงการทำงานด้านเทคนิควิชาการ ที่ยังขาดทิศทางที่ควรจะถูกกำหนดในระดับชาติ หากไม่มีนโยบายระดับชาติจากรัฐบาลเลย อยู่ๆเมื่อเกิดอาการตื่นกลัวก็เอาหลักสูตรเก่ามาดูแล้วเร่งร่างหลักสูตรกันใหม่ทันที แทนที่จะเป็นผลดีก็กลับจะเป็นการสูญเปล่าและจะเกิดผลเสียในระยาว เพราะกระบวนการทำหลักสูตรใหม่ไม่มีเป้าหมายระดับชาติชัดเจน
การร่างหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อปฏิรูปการศึกษาไทย จะต้องทำดังต่อไปนี้:
ปรัชญาการศึกษา - การปฏิรูปการศึกษาต้องตั้งต้นด้วยการวางปรัชญาการศึกษาของชาติเหนือเรื่องอื่นใด รัฐบาลต้องให้ความสนใจเรื่องการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง อย่าได้ปล่อยให้เป็นเรื่องการทำงานตามระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการที่แสดงความล้มเหลวล้าหลังมาแต่แรกและล้มเหลวมายาวนานกว่าหนึ่งทศวรรษ ยากที่จะแก้ไขความผิดพลาดของตนเองด้วยตัวเองแต่เพียงฝ่ายเดียว รัฐบาลต้องกำหนดให้ประเทศไทยปฏิรูปการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ และให้พรรคหรือกลุ่มการเมืองต่างๆ ตลอดจนภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตั้งต้นกระบวนการคิดปฏิรูปการศึกษาไปจนจบสิ้นสมบูรณ์ โดยไม่เปลี่ยนแก้ให้ผันแปรไปตามอำนาจการเมืองที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปการศึกษา เริ่มที่การกำหนดปรัชญาการศึกษาของชาติก่อนว่าจะเป็นอย่างไร
ปรัชญาการศึกษาของชาติ ควรเป็นดังนี้:
“การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทยให้มีความสุขและความสำเร็จในชีวิต บรรลุศักยภาพ
ของการเป็นมนุษย์ของตน เป็นพลเมืองดีในสังคมประชาธิปไตย มีขีดความสามารถใน
การแข่งขันในระดับโลกและอาเซียน ไม่แพ้ใครในโลก มีคุณภาพสูงในสาขาวิชาคณิตศาสตร์,
วิทยาศาสตร์, ทักษะการอ่าน มีทักษะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษและภาษาอื่น ทุกคนมีโอกาส
เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในประเทศหรือมีฐานะทาง
เศรษฐกิจต่างกันอย่างไร พร้อมทั้งให้มีจิตสำนึกเป็นผู้ใฝ่การศึกษาตลอดชีวิต”
นโยบายการศึกษา - เมื่อได้ปรัชญาการศึกษาเป็นแนวทางแล้ว ให้กำหนดนโยบายการปฏิรูปการศึกษา โดยทำแผนแม่บทกำหนดเส้นทางหรือ “พิมพ์เขียว” เป็นกระบวนการทำงานไปสู่เป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาในที่สุด โดยคำนึงถึงเนื้อหาของงาน การมีส่วนร่วมของประชาชน การทำงานในระบบกรรมการ แผนระยะเวลา และเป้าหมายปลายทางที่จะต้องทำแผนงานให้เสร็จสมบูรณ์เพื่อการบังคับใช้ในระยะยาวต่อไป
แผนปฏิบัติ - แผนการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ ละเอียดซับซ้อนมากกว่าเรื่องหลักสูตร แต่เรื่องหลักสูตรก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด รองลงมาจากเรื่องปรัชญาและนโยบายการศึกษา ดังนั้นการร่างหลักสูตรจึงต้องให้ตอบสนองปรัชญาและนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของชาติ การที่จะให้เรียนวิชาอะไร มากน้อยแค่ไหน อ่านหนังสืออะไร ทำกิจกรรมอะไรในเวลาและนอกเวลาในชั้นเรียน ทั้งกิจกรรมในท้องถิ่น กิจกรรมแลกเปลี่ยนระดับชาติ กิจกรรมระดับอาเซียน และกิจกรรมระดับนานาชาติ การปฏิบัติตามแผนจึงต้องทำให้บรรลุเป้าหมายของปรัชญาและนโยบายการศึกษาแห่งชาติ กระบวนการจัดทำหลักสูตรจะใช้เวลายาวนานอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้ทุกรายละเอียดได้รับการพิจารณาอย่างละเอียด จากทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
การปฏิบัติตามแผน - การบังคับใช้แผนปฏิรูปการศึกษาใหม่ต้องทำต่อเนื่องโดยไม่ผันแปรไปตามรัฐบาลที่ต้องเปลี่ยนไปตามวาระจากผลการเลือกตั้ง ไม่ว่าใครหรือพรรคไหนมาเป็นรัฐบาลก็จะต้องทำตามแผนอย่างต่อเนื่องแบบ “ไร้ตะเข็บ” เพราะทุกฝ่ายร่วมทำแผนปฏิรูปการศึกษากันมาแต่แรกเริ่มแล้ว อย่าได้ให้สามัญสำนึกของนักการเมืองที่ได้อำนาจบริหารเข้าครอบงำจนทำให้แผนการปฏิรูปการศึกษาต้องเบี่ยงเบนไป
ที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังทำอยู่เป็นเพียงการปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรตามใจชอบของนักวิชาการที่กระทรวงฯจัดตั้งเป็นกรรมการชุดต่างๆเท่านั้น เท่ากับเป็นการคิดทำแผนเชิงเทคนิควิชาการ มิได้เกิดจากแรงดลใจและความมุ่งมั่นทางการเมือง และมิได้มีปรัชญาการศึกษา และนโยบายการศึกษาของชาติ เป็นเครื่องกำหนดทิศทาง
การศึกษาเกี่ยวข้องกับทุกคน เกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง ทุกรัฐมนตรี หากรัฐบาลไม่สนใจจะปฏิรูปการศึกษา ดังที่เห็นเฉื่อยชาอยู่ ณ เวลานี้ นายกรัฐมนตรีก็ไม่สนใจ รัฐมนตรีกระทรวงอื่นก็ไม่คิดว่าตัวเองจะเกี่ยวข้องด้วย ส่วนรัฐมนตรีศึกษาฯแต่ละคนก็ ผ่านมา-ผ่านไป ในช่วงสั้นๆไม่มีแนวคิดอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเรื่องปรัชญาการศึกษาของชาติ นอกจากข้อสังเกตจากสามัญสำนึกของนักการเมืองแบบพื้นๆ ผิดๆถูกๆ
ด้วยคุณภาพต่ำของนักการเมือง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งรัฐมนตรีทั้งคณะจากปี 2554 เป็นต้นมา งานปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยจึงไม่มีโอกาสเริ่มได้อย่างถูกทิศทาง
ประเทศชาติขาดผู้นำทางการเมือง
ขาดผู้นำทางการศึกษา
ขาดแรงดลใจและความมุ่งมั่นทางการเมือง หรือที่เรียกทางรัฐศาสตร์ว่า "political will"
ทั้งงานนโยบายและงานประจำด้านการพัฒนาและการบริหารจัดการการศึกษายังคงอยู่ในมือของข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการอย่างเต็มเพียบ ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการผู้รู้ตัวเองดีว่าทำงานล้มเหลวมา 15 แล้ว แต่ก็ยังคงได้อำนาจที่จะสานต่อความล้มเหลวของตนเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา ให้เป็นความล้มเหลวในการปฏิรูปการศึกษาอีกทศวรรษหนึ่ง … เป็นทศวรรษที่สอง … นับจากนี้ไป …
เท่านั้นเอง.