“วิชา” รับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กระทบคดีสลายม็อบแดง
“วิชา” รับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กระทบคดีสลายม็อบแดงที่ ป.ป.ช.ใกล้ได้ข้อสรุป ชี้อำนาจสามฝ่ายต้องไม่ก้าวก่ายกัน หากนิติบัญญัติล้างไผ่ตุลาการต้องตอบคำถามสังคมให้ได้
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2556 นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่อาจส่งผลกระทบกับคดีที่ ป.ป.ช.กำลังพิจารณาและตัดสินไปแล้ว ว่า ยอมรับว่ากฎหมายนิรโทษกรรมที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแปรญัตติแก้ไขเนื้อหาบางมาตรา อาจกระทบต่อคดีของ ป.ป.ช. เช่น คดีการสลายการชุมนุมเสื้อแดง ที่ ป.ป.ช.กำลังไต่สวนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่กำลังใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว ทำให้เกิดคำถามตามมาจากผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐว่า ต้องการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือล้างความผิด แม้การนิรโทษกรรมเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ ป.ป.ช.ก็ต้องดำเนินการไต่สวนคดีต่างๆ ต่อไป หยุดไม่ได้ หากร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว ป.ป.ช.คงต้องมาวิเคราะห์ดูว่า จะมีผลกระทบกับคดีของป.ป.ช.หรือไม่ เพราะเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็ยังไม่นิ่ง ขณะนี้ไม่อยากพูดอะไรล่วงหน้า โดย ป.ป.ช.ก็มีคณะทำงานติดตามเรื่องนี้อยู่
“แต่โดยหลักการการจะออกกฎหมายใด ต้องยึดหลักนิติธรรม 3 อำนาจหลักของประเทศ คือบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ต้องไม่เข้าไปก้าวก่ายกัน หากมีผลกระทบไปถึงการวินิจฉัยคดีของศาลก็ต้องระมัดระวัง มีเหตุผลอธิบายได้ การออกกฎหมายในหลักการสากล ต้องไม่กระทบกับกระบวนการที่ศาลวินิจฉัยไปแล้ว เพราะแต่ละอำนาจแยกกันอยู่แล้ว หากการล้างไพ่ไปกระทบอำนาจตุลาการก็ต้องมีคำตอบในเรื่องเหล่านี้”
เมื่อถามว่า มีการอ้างว่า การนิรโทษกรรมต้องให้ทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 เรื่องความเสมอภาค นายวิชาตอบว่า เรื่องมาตรา 30 ถือเป็นลำดับสุดท้าย แต่การออกกฎหมายใดๆ สิ่งที่ต้องยึดเป็นลำดับแรกคือ มาตรา 3 คือ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ไม่ใช่ออกกฎหมายตามอำเภอใจ และไม่ก้าวก่ายอำนาจ 3 ฝ่าย
ภาพประกอบ - จากซ้าย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ จากเว็บไซต์สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น