นักวิชาการจี้รัฐใส่ใจเร่งพัฒนาเทคโนโลยีภาคเกษตร-ระบบชลประทานให้ดีขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ คาดอนาคตแต่ละประเทศหันพึ่งสินค้าเกษตรทางเลือก ชี้เอเชียได้เปรียบด้านศักยภาพ หวังรบ.ไทยนำข้อมูลมากำหนดนโยบายพัฒนาผลผลิตการเกษตรไทยให้ยั่งยืน
วันที่ 22 ตุลาคม 2556 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 8 (The Eighth National Conference of Economists) ณ ห้องประชุม 212 ชั้น 2 อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์
รศ.ดร.ศุภวัจน์ รุ่งสุริยะวิบูลย์ นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี 2556 ผู้ได้รับรางวัล ป๋วย อึ้งภากรณ์ ปาฐกถาเรื่อง:Investigating Agricultural Performance in Asia ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้เรากำลังเผชิญกับวิกฤติพลังงาน ที่มีการปรับราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้น ในขณะที่การขยายผลผลิตทางการเกษตรลดลง ส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร
"ข้อมูลของหน่วยงานระหว่างประเทศ และธนาคารโลก (World Bank) รายงานว่า ราคาอาหารของโลกมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ70 หากเปรียบเทียบกับปี 1990 แม้ดัชนีราคาของอาหารเปลี่ยนแปลงไม่มาก แต่เมื่อมาดูข้อมูลในปี 2007 ดัชนีเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นผลมาจากอุปทานอาหารลดลง ในขณะที่อุปสงค์นั้นเพิ่มขึ้น ซึ่งกลไกทางการตลาดมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุที่อุปทานในภูมิภาคต่างๆในเอเชียลดลงมีปัจจัยหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอากาศที่เปลี่ยนแปลง บางพื้นที่ประสบปัญหาด้านอุทกภัย ภัยแล้ง ส่งผลให้ผลิตภาพของการผลิตน้อยลง อีกทั้งปัจจัยทางด้านการผลิต อาทิ ปุ๋ย น้ำมันเชื้อเพลง ก็มีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตของกลุ่มเกษตรกรเพิ่มขึ้นด้วย"
รศ.ดร.ศุภวัจน์ กล่าวถึงอุปสงค์หรือความต้องการซื้อสินค้าในประเทศขนาดใหญ่ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน และอินเดีย มีความต้องการอาหารเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในขณะนี้ประเทศเหล่านี้ขาดแคลนอาหาร และแนวโน้มในอนาคตแต่ละประเทศจะหันมาพึ่งอาหารทางเลือก และจะเกิดการแย่งชิงผลผลิตทางด้านการเกษตร
"สถานการณ์อาหารของโลกในปัจจุบัน จำเป็นต้องเร่งผลผลิตทางการเกษตร เอเชียเป็นทวีปที่ใหญ่ที่สุด ที่ผ่านมาเคยปกครองแบบสังคมนิยมแต่ก็มีการปฏิรูปเศรษฐกิจมาเป็นเสรี เช่น จีน มองโกเลีย แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหานั่นคือการมีการใช้สารเคมีในการผลิตมากขึ้น รวมถึงการจัดการระบบชลประทาน ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบชลประทานให้ดีขึ้น"
นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ กล่าวว่า ปัจจัยทางด้านการผลิตก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันการเติบโตของผลผลิตด้านการเกษตรว่าจะเป็นไปอย่างยั่งยืน เนื่องจากปัจจัยการผลิตต่างๆมีอยู่อย่างจำกัด และบางครั้งก็เป็นไปอย่างช้าๆ ดังนั้นเห็นว่าหากจะรักษาผลผลิตทางด้านเกษตรให้ได้นั้นจำเป็นที่จะต้องเพิ่มปัจจัยการผลิตทางด้านเทคโนโลยีเข้าไป คำนึงถึงการเพิ่มคุณภาพของสินค้าและการเติบโตของผลิตภาพทางการเกษตร
ด้านนโยบายรัฐนั้น รศ.ดร.ศุภวัจน์ กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลนำข้อมูลการศึกษามากำหนดเป็นนโยบายในการบริหารจัดการให้ความสำคัญในด้านผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก จะส่งผลให้การพัฒนานั้นเป็นไปได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งสาเหตุที่ประเทศในทวีปเอเชียมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาศักยภาพด้านการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรนั้น เนื่องจากผลการศึกษายืนยันว่า เอเชียมีศักยภาพทางด้านการผลิตอุปสงค์ด้านอาหาร ดังนั้นประเทศไทยที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียและเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในภาคเกษตรให้ดีขึ้นเพื่อขับเคลื่อนผลผลิตทางเกษตรให้มีคุณภาพให้ได้