ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ แนะปรับทัศนคติ 3 ด้านยกระดับศักยภาพ ศก.ไทย
ดร.สุเมธ แนะพัฒนา ศก.ต้องสอดคล้องฐานความจริงของประเทศ ไม่ต้องเปลี่ยนตามโลก ชี้การบริหารจัดการไม่บูรณาการเป็นจุดอ่อน ด้านผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เสนอปรับทัศนคติไม่ยอมรับคอร์รัปชั่น เชื่อเศรษฐกิจไทยโตได้โดยอาศัยศักยภาพเงินทุนที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
(ขอบคุณภาพประกอบจาก thaipublica.org)
วันที่ 22 ตุลาคม 2556 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ปาฐกถา เรื่อง "การปรับเปลี่ยนประเทศไทยภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก" ในการประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 8 (The Eighth National Conference of Economists) ณ ห้องประชุม 212 ชั้น 2 อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนหนึ่งว่า เศรษฐกิจพอเพียงต้องทำเป็นการขับเคลื่อนของคนทั้งชาติ ค่อยๆ ปรับเปลี่ยน ให้สอดคล้องกับการลงทุน บนระบบเศรษฐกิจที่เป็นฐานความจริงของประเทศ ตามทุนที่มี ทั้งทุนคน ทุนทรัพยากร
"ประเทศไทยมีน้ำมหาศาล แต่จะบริหารอย่างไร ไม่ใช่สูบทิ้ง เป็นเรื่องแปลกที่ทั้งประเทศเก็บน้ำได้เพียง 8 หยด ทั้งที่มีน้ำมหาศาล ภาคอีสานน้ำแล้งทั้งที่มีน้ำมาก ทรัพยากรยังมีอีกมหาศาล แม้จะถูกทำลายอยู่ทุกวัน บ้านเมืองเราร่ำรวย แต่การบริหารจัดการแค่ปฐมภูมิ ขายยางแผ่น ยางก้อน ขายข้าว แล้วให้คนอื่นไปเพิ่มมูลค่า" ดร.สุเมธ กล่าว และว่า ตลอดชีวิตการทำงานราชการ จุดอ่อนที่พบมาตลอด กระทั่งปัจจุบัน คือ การบริหารจัดการที่ไม่มีบูรณาการ
"แม้โลกจะเปลี่ยนทุกวัน แต่เราไม่ต้องเปลี่ยนตามโลก เพียงปรับปรุงให้อยู่ในโลกได้อย่างยั่งยืน สมดุล มีความสุข ไม่ใช่มุ่งสร้างความร่ำรวยจนสร้างความพินาศ อย่างบทเรียนที่มีอยู่รอบตัวหลายประเทศ"
ขณะที่ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนประเทศไทยภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกว่า การปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในประเทศจะเป็นจุดเริ่มต้นและรากฐานสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก
โดยที่การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกมี 2 แนวโน้มใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาว ที่ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อม ได้แก่
1.โครงสร้างประชากรโลกที่กำลังเปลี่ยนสู่สังคมผู้สงอายุ เป็นผลจากความก้าวหน้าวิทยาการทางการแพทย์ ขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์ลดลงเหลือ ส่งผลให้ประชากรวัยทำงานลดลง อีกทั้ง มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น กระทบการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งสร้างความท้าทายต่อเศรษฐกิจโลกที่ต้องการรักษาการเติบโตให้ต่อเนื่อง
2.การเข้าสู่สังคมเทคโนโลยีอัตโนมัติ โดยเฉพาะวิทยาการหุ่นยนต์ ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิต ลดขั้นตอนการผลิต
ดร.ประสาร ชี้ว่า แนวโน้มทั้ง 2 ด้านนี้ ส่งผลให้บางประเทศได้เปรียบ และมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ขณะที่บางประเทศประสบอุปสรรคในการเติบโต ซึ่งบางประเทศสามารถก้าวข้ามอุปสรรคนี้ได้ เช่น สิงคโปร์ แต่มีบางประเทศที่ไม่เก่งพอ ปรับตัวไม่ได้ ต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เช่น ประเทศไทย
"การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย 3 ปีที่ผ่านมา อาจใกล้เคียงกับประเทศในภูมิภาค ส่วนหนึ่งจากประสิทธิผลของการใช้นโยบายการเงินการคลังที่ประคองเศรษฐกิจไทยไว้ แต่หากสำรวจให้ลึกจะพบสัญญาณที่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน ไม่ว่าจะเป็นการชะลอลงอย่างมากของอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ และปัญหาขาดแคลนแรงงานที่กำลังเผชิญอยู่ จากการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุประเทศแรกๆ ในอาเซียน นับเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตเศรษฐกิจในอนาคต และเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่แก้ไขได้ยาก"
ดร.ประสาร กล่าวถึงอัตราการขายตัวของผลิตภาพแรงงานไทยว่า ชะลอตัวลงมาก จากร้อยละ 7 ต่อปี เป็นร้อยละ 3 ต่อปี เนื่องจากข้อจำกัดเชิงโครงสร้างการผลิตที่ขาดการยกระดับเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง การผลิตของไทยไม่ยกระดับเทคโนโลยีเพื่อรองรับค่าที่นิยมที่เปลี่ยนไป ทำให้การส่งออกของไทยฟื้นตัวช้า อีกทั้ง ขาดการคิดค้นนวัตกรรม การใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาและการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ลดลง ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันต่ำกว่าประเทศอาเซียนชั้นนำ
"การยกระดับคุณภาพการผลิตเป็นเรื่องเร่งด่วน นโยบายที่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จ แก้ไขได้ตรงจุดไม่ได้มาจากนโยบายที่ "กระตุ้นอุปสงค์" แต่ต้องมาจากนโยบาย "ด้านอุปทาน" ซึ่งใช้เวลานานกว่าจะสัมฤทธิ์ผล ที่ไม่อย่างนั้นช่องว่างศักยภาพการผลิตของไทยกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันจะต่างมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถทะยานขึ้นได้ แต่จะเป็นประเทศที่โตเพียงช่วงหนึ่งแล้วหยุดชะงักไป เช่นเดียวกับประเทศในแถบลาตินอเมริกา"
ดร.ประสาร กล่าวด้วยว่า การยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่พูดกันมานาน แต่ยังไม่เห็นการปรับเปลี่ยนอย่างชัดเจน จริงจัง ซึ่งปรากฏการณ์นี้มาจากการติดอยู่กับทัศนคติแบบเดิมๆ ที่อาจไม่สอดคล้องกับกระแสพัฒนาเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เป็นเศรษฐกิจที่อาศัยกำลังแรงงาน พึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ ไม่ต่อยอด ขณะที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่ามี 3 ด้าน ที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนในการปรับทัศนคติ ได้แก่
1.การเลิกแข่งขันที่ราคาและปริมาณ มาแข่งขันที่คุณภาพของสินค้าและบริการ แรงงานต้องมีทักษะเพื่อยกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการตามการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีโลก การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไม่สามารถพึ่งพาภาคการผลิตที่ใช้แรงงานราคาถูกเป็นปัจจัยการผลิตหลักได้อีกต่อไป โดยให้เอกชนเสนอทักษะแรงงานที่ต้องการต่อภาครัฐ และร่วมมือด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไปในทางที่ถูกต้อง
2.การยอมรับการแข่งขันที่มากขึ้น เอกชนต้องไม่กลัวที่จะแข่งขัน เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่จะนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อยกระดับผลิตภาพโดยรวมในประเทศ ภาครัฐควรจูงใจด้วยการปรับเปลี่ยนกฎ กติกาของรัฐให้มีการแข่งขันเสรีจากภายในและภายนอกมากขึ้น
3.ทัศนคติที่ไม่ยอมรับการคอร์รัปชั่น เป็นต้นเหตุสำคัญที่บิดเบือนทุกอย่างในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในสังคม กัดกร่อนแรงจูงใจในการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขัน เป็นข้อจำกัดต่อการนำนโยบายไปใช้แก้ปัญหา และเกิดความสูญเปล่าในการใช้ทรัพยากรของประเทศ โดยเริ่มปรับจากระดับปัจเจกชน สั่งสมไประดับประเทศ
"เชื่อมั่นว่าหากเม็ดเงินทั้งหมดไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยไม่มีการคอร์รัปชั่น เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้โดยอาศัยศักยภาพเงินทุนที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย"