ศาล ปค.ยกคำร้องขอระงับขึ้นค่าทางด่วน 6 สาย
ศาล ปค.ยกคำร้องขอทุเลาระงับขึ้นค่าทางด่วนชี้หลักฐานไม่พอทำผิดกม.-หากไม่ปรับขึ้น กทพ.อาจผิดสัญญา
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2556 สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลปกครอง แจ้งว่า ตามที่นายสุทธิ ผลสวัสดิ์ ที่ 1 กับ นายธรรมนูญ จุลมณีโชติ ที่ 2 (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้อง รมว.คมนาคม ที่ 1 รมช.คมนาคม ที่ 2 และ คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่ 3 (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลปกครองเพิกถอนประกาศกระทรวงคมนาคม (3 ฉบับ) เรื่อง กำหนดให้ 1.ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางพิเศษสายดินแดง - ท่าเรือ สายบางนา - ท่าเรือ และสายดาวคะนอง - ท่าเรือ) 2.ทางพิเศษศรีรัช (ทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ - บางโคล่ และสายพญาไท - ศรีนครินทร์) 3.ทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางพิเศษสายบางปะอิน – ปากเกร็ด) 4.ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา - ชลบุรี) 5.ทางยกระดับด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี และ 6.ทางเชื่อมต่อพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี - สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี เป็นทางที่ต้องเสียค่าผ่านทางพิเศษประเภทรถที่ต้องเสียหรือยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ และอัตราค่าผ่านทางพิเศษ พ.ศ. 2556
โดยผู้ฟ้องคดี มีคำขอท้ายฟ้อง ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศกระทรวงคมนาคม ดังกล่าวด้วยนั้น
ศาลปกครอง ได้มีคำสั่ง ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2556 ยกคำขอทุเลาการบังคับตามกฎของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า ในชั้นไต่สวนคู่กรณีเพื่อพิจารณาคำขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับฯ ยังไม่พอรับฟังได้ว่า ประกาศดังกล่าวทั้ง 3 ฉบับของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ หากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไม่ดำเนินการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษตามข้อตกลงในสัญญา ก็อาจตกเป็นผู้ผิดสัญญาและจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารกิจการทางพิเศษ ซึ่งเป็นบริการสาธารณะของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย อันเป็นหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น จึงไม่สมควรมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เนื่องจากไม่ครบหลักเกณฑ์สามประการตามข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543
-ภาพประกอบ จากอินเทอร์เน็ต