วิจัยชี้สีทาบ้าน 79% มีตะกั่วเกินมาตรฐานมอก.-ฉลากหลายยี่ห้อเชื่อไม่ได้
ผลวิจัยชี้สีทาบ้าน 79% มีสารตะกั่วสูงเกินมาตรฐานมอก. ‘นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์’ เผยพบสารตะกั่วในเด็กสูง 12.9% ของเด็กสำรวจ มีสิทธิพัฒนาสมองล่าช้า สมอ.เตรียมประกาศใช้เกณฑ์บังคับความปลอดภัย คาดใช้เวลาอย่างต่ำ 1 ปี
วันที่ 21 ต.ค. 2556 มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี, สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย จัดสัมมนา ‘สีปลอดสารตะกั่ว นโยบายที่เป็นจริงได้’ ณ ห้องประชุมอาคารสถาบัน 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยน.ส.วลัยพร มุขสุวรรณ รองผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ในฐานะนักวิจัยแถลงผลการทดสอบสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคารว่า จากการสุ่มตัวอย่างสีน้ำมันทาอาคารที่วางจำหน่ายในท้องตลาดไทย 120 ตัวอย่าง 68 ยี่ห้อ พบร้อยละ 79 ของตัวอย่างทั้งหมด มีปริมาณสารตะกั่วสูงเกินค่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ฉบับล่าสุด ที่กำหนดให้สีมีสารตะกั่วได้ไม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วน หรือพีพีเอ็ม (ppm) และร้อยละ 40 มีปริมาณสารตะกั่วสูงเกิน มอก. กว่า 100 เท่า หรือมากกว่า 10,000 พีพีเอ็ม ทั้งนี้ ปริมาณสารตะกั่วสูงสุดที่พบ คือ 95,000 พีพีเอ็ม ขณะที่ปริมาณสารตะกั่วต่ำสุด น้อยกว่า 9 พีพีเอ็ม
“8 ใน 29 ตัวอย่างของสีที่ติดฉลาก ‘ไม่ผสมสารตะกั่ว’ มีปริมาณตะกั่วสูงเกิน 10,000 พีพีเอ็ม และจากตัวอย่างที่นำมาศึกษาก็พบว่ามีเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ผลิตสี (15 บริษัท จากทั้งหมด 42 บริษัท) ที่ผลิตตาม มอก. ฉบับปรับปรุงใหม่” รองผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าว
น.ส.วลัยพร จึงเสนอให้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์บังคับในเรื่องปริมาณตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีน้ำมันทาอาคาร เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันไทยมีมาตรฐานทั่วไป ซึ่งกำหนดปริมาณตะกั่วที่ 100 พีพีเอ็ม แต่เป็นมาตรฐานไม่บังคับ ขึ้นกับความสมัครใจของผู้ผลิต แต่ในระยะต้นอาจกำหนดให้มีปริมาณตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีน้ำมันทาอาคารได้ไม่เกินร้อยละ 0.06 หรือ 600 พีพีเอ็ม หลังจากนั้นจึงค่อยเข้มงวดขึ้น
นอกจากนี้ควรให้มีการแสดงข้อมูลปริมาณตะกั่วและคำเตือนถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพจากสารตะกั่วบนฉลากที่ติดบนภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกใช้ได้ พร้อมกันนี้รัฐบาลจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม เพื่อให้สามารถผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สีน้ำมันทาอาคารที่ได้มาตรฐาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องตรวจสอบมาตรฐานสินค้าในท้องตลาดเป็นประจำ เพื่อประเมินผลการปฏิบัติตามกฎหมายและเฝ้าระวังความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
ด้านรศ.ดร.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงผลการศึกษาระดับสารตะกั่วในเลือดของเด็กไทยว่า จากการสำรวจในกลุ่มจังหวัดเขตอุตสาหกรรม 4 จังหวัด ได้แก่ ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา รวม 1,526 คน พบเด็ก 197 คนมีระดับสารตะกั่วสูงกว่า 10 ไมโครกรัม/เดซิลิตร คิดเป็นร้อยละ 12.9 ของเด็กทั้งหมดที่สำรวจ (ค่า 10 ไมโครกรัม/เดซิลิตรเป็นค่าที่เกือบทุกประเทศกำหนดไว้เป็นค่าความปลอดภัย แต่บางประเทศเห็นว่าค่านี้ยังไม่ปลอดภัยให้ลดลงเหลือเพียง 5 ไมโครกรัม/เดซิลิตร) ซึ่งจะมีผลต่อสติปัญญาเด็กพัฒนาการล่าช้า
นอกจากนี้ยังได้สำรวจบ้านเด็กเหล่านี้ 49 ราย พบ 45 ราย (ร้อยละ 92) มีการใช้สีน้ำมันทาบางตำแหน่งภายในบ้าน และยังพบสีน้ำมันเหล่านั้นใน 25 ราย (ร้อยละ 55.6) มีสารตะกั่วสูงกว่า 100 พีพีเอ็ม ขณะที่การสำรวจฝุ่นผงภายในบ้านพบ 11 ราย (ร้อยละ 22.4) มีสารตะกั่วในฝั่งผงภายในบ้านสูงกว่า 400 พีพีเอ็ม
“ผู้ผลิตให้ข้อมูลว่าสีน้ำมันไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้ทาอาคารภายใน แต่ผู้บริโภคนำไปใช้กันเอง เช่นนั้นแล้วควรมีฉลากที่บ่งบอกว่ามีสารตะกั่วเท่าไหร่ และห้ามใช้ทาอาคารภายในที่อยู่อาศัยและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเด็กให้ชัดเจน” รศ.ดร.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว และว่าหากติดฉลากเตือนแล้วผู้บริโภคไม่เชื่อ ควรทำฉลากใหม่ระบุให้ชัดไปอีกว่ามีสารตะกั่วสูงทำให้เด็กสติปัญญาเสื่อม ไม่ควรใช้ทาอาคารที่อยู่อาศัยและผลิตภัณฑ์ในเด็ก ทั้งนี้ ผู้ปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสถานศึกษาควรช่วยกันดูแล คัดกรองสภาพแวดล้อม เพื่อลดปริมาณสารตะกั่วในเด็กได้อีกทอดหนึ่ง
ขณะที่นางเบญจมาพร เอกฉัตร์ ผอ.สำนักบริหารมาตรฐาน 3 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้กำหนดเรื่องมาตรฐานสีเป็นความสมัครใจ แต่อนาคตเพื่อลดปัญหาสารตะกั่วตกค้างในเด็กและผู้บริโภคอื่นจะต้องกำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ โดยเฉพาะกลุ่มสีที่มีปัญหาอย่าง ‘สีน้ำมัน’ ได้แก่ สีเคลือบเงา สีด้าน และสีกึ่งเงา ที่จะครอบคลุมด้านความปลอดภัยและสมรรถนะการใช้งาน
ทั้งนี้ ได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดสมอ. พิจารณาเห็นชอบ และดำเนินการยกร่างเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ และประกาศใช้ต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี โดยจะใช้เกณฑ์ค่ามาตรฐานไม่เกิน 100 พีพีเอ็ม .
ที่มาภาพ: http://earnestwoodall.com/painting/web-content/contact.html