ภูมิคุ้มกันครัวเรือนไทยน่าห่วง "ประสาร" ชี้เก็บออมน้อย ติดกับดักพึ่งหนี้นอกระบบ
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เผยครัวเรือนไทยใช้จ่ายเกินตัว มีหนี้สูงการออมต่ำ แนะภาคการเงินอย่าจูงใจประชาชนให้ขาดวินัย ขณะที่้ภาครัฐควรมีบทบาทเป็นกันชนทางเศรษฐกิจ จัดสรรทรัพยากรภูมิคุ้มกันอย่างเพียงพอ
วันที่ 19 ตุลาคม ธนาคากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัทในเครือบัวหลวงทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพประกันภัย กรุงเทพประกันชีวิต หลักทรัพย์บัวหลวง และหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จัดกิจกรรม “การเงินมั่นคงกับครอบครัวบัวหลวง :Bangkok Bank Family Banking" ณ ห้องบางกอก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีนายชาติสิริ โสภณพนิช เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
มีวินัยหลักการพื้นฐานที่ขาดไม่ได้
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ เรื่องวินัยกับความมั่นคงทางการเงินของครอบครัวไทย ตอนหนึ่งโดยจับชีพจรสังคมไทยในขณะนี้พบว่า มีความกังวลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ในเรื่องอัตราการเติบโต แต่เมื่อมองไปข้างหน้าการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ หากดำเนินไปอย่างรอบครอบและเหมาะสมจะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศสามารถเติบโตไปได้
สำหรับประเด็นที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จากรัฐและเอกชน ดร.ประสาร กล่าวว่า ก็คือเรื่องวินัยและภูมิคุ้มกัน
"การมีวินัยเป็นหลักการพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ หากครอบครัวหรือประเทศต้องการที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนโดยวินัยจะนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันที่จะช่วยรองรับสถานการณ์หรือวิกฤติต่าง ๆ ได้โดยไม่ถึงกับทรุดตัว" ดร.ประสาร กล่าว พร้อมกับเปรียบประเทศเป็นเสมือนคนหนึ่งคน ประกอบด้วยหน่วยย่อยที่สุดคือภาคครัวเรือน ขยายเป็นภาคธุรกิจ เป็นภาครัฐ โดยมีภาคการเงินเป็นตัวเชื่อมโยงภาคต่างๆเข้าด้วยกัน การประเมินภูมิคุ้มกันของภาคใดภาคหนึ่งโดยไม่มองถึงภาคอื่นๆ นั้น จะทำให้ภาพไม่ครบถ้วน เนื่องจากทุกภาคส่วนล้วนเชื่อมโยงกัน หากภูมิคุ้มกันในจุดใดจุดหนึ่งโดนกระทบก็จะลุกลามไปยังจุดอื่น ๆ ได้
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวถึงเศรษฐกิจจะไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน หากภูมิคุ้มกันของประเทศถูกทำลายลงโดยการขาดวินัยในแต่ละภาคส่วนสังคม แม้กระทั่งหน่วยที่เล็กที่สุดอย่างภาคครัวเรือน
"ปัญหาเศรษฐกิจจะนำไปสู่ปัญหาสังคม และเมื่อท้ายที่สุดภูมิคุ้มกันบกพร่องในแต่ละภาคส่วนจะนำไปสู่ความทุกข์ร้อนของคนในสังคม จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกคนที่จะร่วมกันสอดส่องดูแลรักษาภูมิคุ้มกันของตนเองและภาคส่วนอื่นไว้ให้ดี"
ห่วงครัวเรือนไทยใช้เงินในอนาึคตพุ่ง
ดร.ประสาร กล่าวถึงภูมิคุ้มกันของครอบครัวไทยในวันนี้ อยู่ในจุดที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากสัดส่วนเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ 79% ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนไทยมีการกู้ยืมเงิน หรือมีการนำรายได้ในอนาคตมาใช้เพื่อการบริโภคในปัจจุบันมากขึ้น เช่น การมีบัตรเครดิตหลายใบ และทุกใบต้องใช้จนเต็มวงเงิน อีกทั้งข้อมูลของบัญชีรายได้ประชาชาติที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็พบว่า สัดส่วนการออมต่อรายได้ของครัวเรือนไทยลดลงจากค่าเฉลี่ยในอดีตช่วงปี 2533-2553 11.3% ในปี 2554 9.2%"
ส่วนปัญหาโครงสร้างเรื่องการกระจายรายได้ของไทยที่ยังไม่ดีนัก ดร.ประสาร กล่าวว่า ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่จะต้องแก้ไขด้วยการสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้ครัวเรือนไปติดกับดักการพึ่งพาหนี้นอกระบบ ซึ่งมีดอกเบี้ยที่แพงมาก มีความจำเป็น ช่วยเหลือให้ตรงจุดและตรงกลุ่มเป้าหมาย
ดร.ประสาร กล่าวอีกว่า บทบาทของภาครัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดให้ระบบคุ้มภัยทางสังคม เพื่อคุ้มครองให้ภาคครัวเรือน รวมถึงแรงงานทั้งในและนอกระบบให้มีภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตและรองรับภัยหรือวิกฤติต่าง ๆ นั้น ระบบคุ้มภัยทางสังคมที่ดีควรจะมีงบประมาณเพียงพอต่อการรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นขั้นต่ำ เช่น การยังชีพยามชรา การเจ็บป่วย อีกทั้งภาครัฐยังมีบทบาทหน้าที่เป็น "กันชน" ทางเศรษฐกิจในกรณีที่เกิดวิกฤติในภาคธุรกิจหรือภาคการเงิน
“ดังนั้นภาคครัวเรือนควรมีส่วนร่วมในการตั้งคำถามว่า ขณะนี้ภาครัฐ ได้เตรียมการและจัดสรรทรัพยากรรองรับภาระในการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศอย่างเพียงพอแล้วหรือไม่ โดยต้องเริ่มต้นจากการผลักดันให้มีข้อมูลที่เพียงพอและโปร่งใสเพื่อให้สามารถวิเคราะห์ความเพียงพอของภูมิคุ้มกันได้”
ผู้ว่าการธปท. กล่าวถึงภาคการเงิน ก็มีส่วนช่วยภาคครัวเรือนในการสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยการจัดให้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จำเป็น อาทิ ผลิตภัณฑ์การออมระยะยาว ประกันในรูปแบบต่างๆ แต่การเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างเดียวก็ยังไม่เพียงพอ ภาคการเงินจะต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบอย่างแท้จริงต่อภูมิคุ้มกันของภาคครัวเรือน โดยการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส และไม่จูงใจให้ภาคครัวเรือนขาดวินัยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ช่วงท้าย ดร.ประสาร กล่าวด้วยว่า การสร้างความเข้มแข็งของภูมิคุ้มกันให้ฟื้นกลับขึ้นมา คือ การเสริมวินัยทางการเงินโดยไม่ต้องมีเกณฑ์บังคับ ปรับทัศนคติที่ดีงามตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ความเพียงพอ การมีเหตุผล ซึ่งควรจะถูกเผยแพร่และปลูกฝังนำมาใช้ในการปฏิบัติจริงให้มากขึ้น โดยเริ่มจากหน่วยที่เล็กแต่สำคัญที่สุดคือภาคครัวเรือนก่อน
“ผมขอให้ทุกท่านมีส่วนร่วม ในการปลุกคนไทยให้มีวินัยทางการเงิน โดยเริ่มจากการปรับทัศนคติในครอบครัวตนเอง ก่อนขยายวงให้กว้างออกไปจนกลายเป็นค่านิยมอันดี ซึ่งจะเป็นเข็มทิศกำหนดพฤติกรรมของสังคม เพื่อนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทยอย่างแท้จริง”