'โรงสี-ผู้ส่งออก-ชาวนา' ประสานเสียงชี้ ‘จำนำข้าว’ ไปต่อไม่ไหว !
(นายนิพนธ์-นายวิชัย-นายประสิทธิ์)
ในงานครบรอบ 100 ปีชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อสถาปนาแนวความคิด บรรทัดฐานทางจริยธรรม อันเป็นองค์ประกอบของคุณธรรมสำคัญในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โครงการเตรียมงานรำลึกฯ และองค์กรภาคี ร่วมจัดงาน มหากาพย์จำนำข้าว สู่มหกรรมกอบกู้สุจริต "ความรับผิดชอบทางจริยธรรมเป็นความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ"
โดยภายในงานมีตัวแทนฝั่งโรงสี นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย อดีตผู้อำนวยการ อ.ต.ก. ด้านการส่งออก นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมส่งออกข้าวออกต่างประเทศ และตัวแทนชาวนา นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย ออกโรงประสานเสียงตีแผ่กลไกตลาดข้าว 'กลโกง' โครงการรับจำนำข้าว พร้อมกับมีข้อเสนอให้ภาครัฐที่ประกาศจะเดินหน้านโยบายต่อ ได้ทบทวน และปรับปรุง 'อุดช่องโหว่'
ตลาดข้าว กลโกงขาเข้า
นายนิพนธ์ เริ่มต้นกล่าวถึงโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เป็นโครงการที่มีการรั่วไหลและทุจริตได้ในทุกๆ ขั้นตอน ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนชาวนา การนำข้าวเข้าโรงสี การส่งข้าวที่สีแปรสภาพแล้วไปยังโกดัง และขั้นตอนการระบายข้าว ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย
หากรัฐบาลยืนยันและประกาศชัดเจนแล้วว่าจำดำเนินนโยบายต่อจะต้องอุดช่องว่าง จุดอ่อนที่จะกล่าวต่อไปนี้ เพื่อให้เม็ดเงินตกถึงมือชาวนามากที่สุด...
นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโรงสีข้าวที่ค้าขายเชิงพาณิชย์มี 2,000 กว่าโรง แต่ที่เข้าร่วมโครงการฯ มี 800-900 โรง
...แสดงว่า โรงสีอีกกว่าครึ่งไม่ได้เห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดที่ราคาสูง เพราะการเข้าร่วมโครงการจะต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ จ่ายเงินให้เซอร์เวย์เยอร์ ทั้งที่ระบบปกติก็อยู่ได้
"โรงสีที่เข้าร่วมโครงการต้องจ่ายเงินค่าเข้าร่วมต่อรายมากบ้างน้อยบ้าง เมื่อมีชื่อเข้าร่วมต้องตรวจสภาพกำลังผลิต ยุ้งฉาง เครื่องอบความชื้น ถ้าเสปกไม่ถูกต้องผ่อนผัน เมื่อได้เข้าร่วมแล้ว การวางหนังสือค้ำประกันไม่ได้ตรวจสอบว่าวางครบทุกแห่งหรือไม่ เมื่อแปรสภาพข้าวเจ้าหน้าที่ อตก.และอคส.ก็จ้างเซอร์เวเยอร์มาตรวจสอบคุณภาพ แต่ไม่ใช่บริษัทที่เชี่ยวชาญเพื่อการส่งออก" นายนิพนธ์ กล่าว และว่า หากเช็คให้ลึก อาจมีการเมืองอยู่เบื้องหลังด้วยซ้ำไป ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้น 'เฉพาะกิจ' กว่า 90% เพื่อหาประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าว
"ต้นทุนเหล่านี้ของโรงสี เป็นที่มาหนึ่งที่ทำให้ชาวนาขายข้าวได้ราคาเพียง 11,000-12,000 บาท"
เขาทิ้งท้าย ด้วยการมองภาพขณะนี้ว่า รัฐบาลกำลังอยู่ในภาวะที่อึดอัดกับโครงการรับจำนำข้าว หากดำเนินการต่อไปก็จะเกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจมาก
ทั้งนี้ คาดว่าอีก 20-30 ปีข้างหน้า ในบทเรียนวิชาประวัติศาสตร์อาจต้องจารึกชื่อของรัฐบาลชุดนี้ไว้ว่า ได้สร้างความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจมากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน!
กลไกตลาดข้าว กินรวบขาออก
ขณะที่นายวิชัย ฉายภาพให้ฟังว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยผลิตข้าวไว้กินครึ่งหนึ่ง และไว้เพื่อส่งออกอีกครึ่งหนึ่ง รวมแล้วไม่เกิน 11 ล้านตันในแต่ละปี แต่ตัวเลขการซื้อข้าวในโครงการรับจำนำของรัฐบาลปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 13 ล้านตัน
นั่นหมายความว่า... ข้าวทุกเม็ดที่เคยส่งออกได้ตามระบบที่มีอยู่ ถูกแย่งไปทั้งหมดด้วยการใช้กลไกตั้งราคาสูงกว่าราคาตลาดถึง 50% จึงไม่มีพ่อค้ารายใดสู้ได้ หรือซื้อมาได้ก็ขายไม่ได้ นี่เป็นความตั้งใจไม่ให้พ่อค้ามาแข่ง แต่ที่พิสดารกลับพบว่า ผู้ส่งออกยังมีข้าวไปส่งออกได้ถึง 7 ล้านตัน
นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหาคำตอบว่า กลไกตลาดของรัฐบาลเป็นเช่นไรแน่??
เมื่อรัฐบาลตั้งราคาสูง ซื้อข้าวมาไว้ในมือจำนวนมาก แต่กลับขายราคาถูกกว่าราคาตลาดให้ผู้ค้าบางราย อีกทั้งยังมีอำนาจอนุมัติขายข้าวราคากิโลกรัมละ 5.75 บาท ทั้งที่ต้นทุนการรับจำนำข้าวราคา 15,000 ต่อกิโลกรัมข้าวสาร เมื่อแปรเป็นข้าวสารจะอยู่ที่ราคา 25 บาทต่อกิโลกรัม หากรวมค่าใช้จ่ายการบริหารขั้นตอนต่างๆ จะขาดทุนมากกว่านี้
และที่ชัดเจนคือ... ค่าบริหารของรัฐบาลแพงกวาเอกชนถึง 3 เท่า
"บ้านเมืองเรา ไม่มีกลไกมาตรวจสอบหน่วยงานที่ทำเช่นนี้ ทั้งที่มีตัวเลขชี้ชัดเจนว่า ขาดทุนปีละกว่า 200,000 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขการส่งออกปีที่ผ่านมาเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 150,000 ล้านบาท เท่ากับว่าส่งออกทั้งหมดยังไม่เท่ากับขาดทุนต่อปี และเสียหายเทียบเท่ากับว่า 1 สนามบินหายไปปีละแห่ง เนื่องจากสนามบินสุวรรณภูมิใช้งบประมาณก่อสร้าง 150,000 ล้านบาท"
ในฐานะผู้ส่งออกข้าวมายาวนาน นายวิชัย ถอดบทเรียนให้ฟังว่า การค้าข้าวต้องได้ราคาที่เหมาะสมตลอดเวลา ตั้งราคาเดียวทั้งปีไม่ได้ เพราะสินค้าเกษตรมีขึ้นมีลง ต้องรู้ช่วงเวลาในการขาย ทั้งนี้ หากปล่อยให้ข้าวซื้อขายตามกลไกตลาด สามารถประหยัดเงินแผ่นดินได้ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท
"2 ปีที่ผ่านมา ชัดเจนว่า ข้าวที่มีขายไม่หมด แต่เกษตรกรยังไม่รู้สึก มองระยะสั้น ไม่รู้ว่าขาดทุนมากกว่าที่ส่งออกทุกปี ถึงจุดหนึ่งข้าวทั้งหมดจะเน่าเสีย ข้าวใหม่จะเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ จนล้นโกดัง เมื่อเงินหมดจะมีจุดจบอย่างแน่นอน แต่จุดจบจะไปอยู่ที่ใครเท่านั้น"
ทั้งนี้ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมส่งออกข้าวฯ ระบุถึงสาเหตุที่เกษตรกรไทยยากจนด้วยว่า เพราะไม่มีที่ดิน-ที่นาทำกิน ไม่ใช่เพราะขายข้าวได้ราคาไม่ดี ดังนั้น การแก้ปัญหาโดยตั้งราคาสูงไม่ใช่เรื่องดี ต้องเป็นราคาที่เหมาะสม เป็นราคาที่ปลูกได้และขายได้ด้วย เมื่อเกษตรกรเชื่อคนที่ให้ราคาดี จึงเกิดสถานการณ์ที่ปลูกข้าวได้ แต่ขายไม่ได้
"การขาย การส่งออกทุกอย่าง ราคาต้องใช้กลไกตลาด แต่หากรัฐบาลมีเงินควรช่วยเกษตรกรเรื่องที่ไม่เกี่ยวราคา เช่น เพิ่มระบบชลประทาน วิจัยพันธุ์ข้าวและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ส่วนการค้าขายปล่อยให้กลไกตลาดทำหน้าที่ไป หรือมีเงินมากก็แจกเกษตรกรต่อไร่ อย่ายุ่งเรื่องราคา"
ไหนว่าชาวนารายย่อย ได้ประโยชน์
ด้านนายประสิทธิ์ ผู้ออกเสียงแทนชาวนาทั่วประเทศ บอกว่า ขณะนี้ชาวนาจาก จ.อยุธยา สุพรรณบุรี และสิงห์บุรีได้นัดประชุมรวมตัว ด้วยเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวเริ่มไปไม่ไหว กลัวว่าขายข้าวเข้าโครงการแล้วจะไม่ได้รับเงิน หรือได้รับเงินล่าช้า ไม่ทันไปใช้หนี้ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง และเพื่อเรียกร้องถึงรัฐบาลให้เปลี่ยนมาเป็นโครงการประกันรายได้ เช่นเดียวกับชาวนาอีสานที่เริ่มเรียกร้องให้เลิกโครงการฯ เนื่องจากทำนาได้เพียง 2-3 ตัน ไม่ได้ประโยชน์จากการรับจำนำ
นายประสิทธิ์ มองภาพจากนี้ว่า โครงการรับจำนำข้าวจะดำเนินการไปไม่ถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อย่างแน่นอน เนื่องจากเริ่มเห็นว่ารัฐบาลไม่มีงบประมาณในการดำเนินการในรอบใหม่ และยังมีเงินคงค้างที่ต้องจ่ายให้กับชาวนาที่นำข้าวมาเข้าโครงการในรอบก่อนหน้านี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า 'ส่วนดี' ของโครงการรับจำนำว่าคือการ 'ตั้งราคาสูง' ถึง 20,000 และ 15,000 บาท แต่ชาวนาขายจริงๆ ก็ไม่ได้ราคาสูงเท่าที่ตั้งไว้ เต็มที่ได้ 10,000-12,000 บาท เนื่องจากถูกหักเรื่องคุณภาพ
คำถามมีอยู่ว่าแล้วส่วนต่างเงินที่เหลือหายไปไหน? เพราะเป็นงบประมาณที่ตั้งแล้ว จะเห็นว่าไม่มีการแจกแจงเลยว่านำไปใช้อะไร ตรงกันข้ามรัฐบาลกลับเริ่มมีปัญหาเรื่องการเงิน
"ผมเคยท้วงแล้วว่า จำนำทุกเม็ดจะมีปัญหา เสนอให้ตั้งครัวเรือนละ 500,000 แต่รัฐบาลก็ไม่ฟัง ดื้อรั้น คิดเพียงว่าเป็นนโยบายที่ประกาศไปแล้วต้องทำ ผมไม่ได้ดีใจเลยที่ตั้งราคาไว้สูง เพราะมองเห็นภาพข้างหน้าแล้วว่าจะไปไม่รอด นอกจากห่วงประเทศชาติแล้ว ยังเห็นด้วยว่าชาวนาจะไม่ได้รวยขึ้นจากนโยบายเช่นนี้ โดยเฉพาะชาวนารายย่อย"
สำหรับ 'ส่วนเสีย' ของโครงการฯ คือ ใช้เงินงบประมาณมากเกินไป และขณะนี้เริ่มพลิกแพลงให้ใช้หลักฐานมากขึ้นในการขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการ เรียกได้ว่าเป็นการ 'ฆ่าตัดตอน' ให้ชาวนาร่วมจำนำข้าวได้น้อยลง จะเห็นว่าชาวนาเริ่มเสียเปรียบ ถูกบีบ ถูกแสวงหาผลประโยชน์มากขึ้น
นี่ยังไม่นับทุจริตอีกหลายขั้นตอน ในอนาคต ชาวนารายย่อยจะลำบากมากยิ่งขึ้น...