ไม่สอนตกปลา! อดีตคนใน ฉะรัฐแจกประชานิยมจนปชช.เป็นเบาหวาน
เวทีจับชีพจรประเทศไทย อดีตรมต.พาณิชย์-คลัง ดาหน้าฟันธง เศรษฐกิจไทยป่วยไม่แข็งแรง ขณะที่บุคคลากรภาครัฐขาดความเป็นมืออาชีพ อิงแต่ฝ่ายการเมือง โทษประชานิยมทำประเทศพัง
วันที่ 17 ตุลาคม สถาบันอนาคตไทยศึกษา ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดงานสัมมนาประจำปีครั้งพิเศษ Thailand Future Forum ครั้งที่ 4 โดยมีนางสาวอมรรัตน์ จรูญสมิทธิ์ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน ถนนวิทยุ
เชื่อจีน ฝืนใจรับซื้อข้าวไทยเป็นล้านตัน
โดยภายในงานมีการเสวนา “จับชีพจรประเทศไทย” โดยดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เริ่มต้นการเสวนาด้วยการจับชีพจรเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันว่า ไม่มีความแข็งแรง แม้จะไม่มีโรคร้ายทางด้านร่างกาย แต่สำหรับโรคทางใจนั้นกลับเป็นพวกชอบทำร้ายตัวเองเป็นครั้งคราว เช่น เผาบ้านเผาเมือง ทำลายสิ่งที่ดี อย่างข้าว ทำลายจนกระทั่งต้องไปขอให้จีนมาช่วยซื้อข้าว ทั้งที่เมื่อก่อนจีนขอซื้อข้าวเรา วันนี้จีนเองก็กลุ้มใจมากที่ต้องรับซื้อเป็นล้านตัน ที่จริงเราควรจะเห็นใจจีน
ด้านเศรษฐกิจ ดร.ณรงค์ชัย กล่าวอีกว่า มีความอ่อนไหวง่ายไม่มั่นคง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง สาเหตุที่ภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจบกพร่องเนื่องจากเราพึ่งเศรษฐกิจต่างประเทศมากเกินไป รวมถึงไม่มีความพร้อมในการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง คือไม่สามารถบริหารให้คนไทยอยู่ในเมืองได้อย่างสะดวก อีกทั้งโครงสร้างประชากรไม่สมดุลระหว่างวัยทำงานกับวัยไม่ทำงาน มีความไม่เป็นธรรมของระบบยุติธรรมเนื่องจากหลักการในระบบยุติธรรมไม่ชัดเจน จะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหรือไม่ก็ยังไม่แน่ใจ"
ขณะที่หลักเกณฑ์กฎหมายดร.ณรงค์ชัย กล่าวว่า ก็ต้องตีความตลอด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความบกพร่องที่เสริมให้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ค่อยแข็งแรง
อดีตรมว.พาณิชย์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่หน้าเป็นห่วงมากที่สุดคือหนี้ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนกับหนี้สาธารณะเนื่องจากเป็นหนี้ที่อาจจะล้นพ้นตัวจนก่อให้ติดกับดักหรือติดบ่วงหนี้ เพราะตอนนี้สภาพครัวเรือนมีพฤติกรรมการใช้จ่ายสังคมแบบสมัยใหม่ คือการใช้รายจ่ายเกินรายได้ ความสามารถในการหารายได้มีจำกัด ทำให้เกิดรายได้ไม่พอกับรายจ่าย อีกทั้งหนี้ของภาครัฐเองกำลังจะสูงถึง 60%ของGDP ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายประชานิยม มาจากวัฒนธรรมทวงหนี้ เช่นข้าวได้ ยางก็ต้องได้ ข้าวโพดก็ต้องได้ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาว่าทำอย่างไรประชาชนจะไม่ติดกับดักหนี้ รวมทั้งต้องต่อต้านการสร้างหนี้ที่เกินรายได้ของประเทศ
จี้รัฐหยุดแจกของหวาน
ด้านศาสตราพิชาน ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลแจกขนมให้ประชาชนมาก คือกินแต่ระบบประชานิยามจนเป็นเบาหวานกันทั้งประเทศ ประเทศไทยจริงๆเป็นประเทศหนึ่งในร้อยที่ไม่มีการว่างงาน อัตราการว่างงานต่ำ แถมเอาแรงงานต่างประเทศเข้ามา รวมถึง อัตราดอกเบี้ยต่ำ อัตราเงินเฟ้อก็ต่ำ เราสามารถควบคุมได้ค่อนข้างดี ทำไมเศรษฐกิจจึงเติบโตช้านี่เป็นสิ่งที่น่าแปลกใจ
"การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งเดียวที่เราสามารถพัฒนาได้ เนื่องจากพลังงานในประเทศเกือบจะหมดแล้ว สมบัติของเราก็ผลาญกันไปเกือบหมดแล้ว แนวโน้มนโยบาย เกษตรพอเพียง ไม่ได้สร้างให้เราดีขึ้น เพราะว่าทุกคนเริ่มแข่งกับเราได้" ศาสตราพิชาน ดร.ทนง กล่าว และว่า หากยังไม่พัฒนาระบบทางด้านการเกษตรให้เข้มแข็งไทยจะไม่มีทางสู้เขาได้ ที่สำคัญรัฐบาลต้องเปลี่ยนแนวทางการบริหารงบประมาณ หันมากระตุ้นภาคธุรกิจการลงทุน เทคนิคการส่งเสริมการลงทุน เอาเทคโนโลยีใหม่มาพัฒนาการผลิต สิ่งเหล่านี้จะเป็นนโยบายการลงุทนที่ถูกต้อง ที่สำคัญที่สุดรัฐบาลต้องหยุดแจกของหวาน ให้ประชาชน ต้องสอนให้เขาตกปลาด้วยตัวเอง และเป็นแรงงานที่มีฝีมือให้กับภาคเอกชนให้ได้
ฟันธงประเทศไทยป่วยเป็นโรค
ขณะที่นายสมพล เกียรติไพบูลย์ อดีตประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและอดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตนกล้าฟันธงประเทศไทยป่วยเป็นโรค คือโรคทุจริตคอรัปชั่นและไม่ใช่เรื่องที่พูดเองคนเดียวคนในสังคมก็รู้กันทั้งประเทศ ซึ่งโลกนี้เปรียบเสมือนโรคมะเร็ง เป็นหลุมดำของประเทศ เป็นโรคที่ระบาดและยากที่จะสกัดกั้น เพราะทุกวันนี้สังคมไทยยอมรับเงินในการสร้างอำนาจ บูชาอำนาจและเงิน อีกทั้งการใช้จ่ายในการบริหารไม่มีประสิทธิภาพ การบริหารงานภาครัฐมีข้อบกพร่องเชิงบริหารงาน
สิ่งแรกคือ บุคคลากรภาครัฐ คือตำแหน่งสำคัญไม่ได้มืออาชีพจริงๆเข้าไปบริหาร ซึ่งภาคเอกชนมองว่าตำแหน่งสำคัญวันนี้มืออาชีพไปอยู่ในภาคการเมือง ราชการขาดแคลนบุคคลากร
เรื่องที่สองเป็นเรื่องที่สำคัญคือการใช้จ่ายเงินภาครัฐ ประเทศไทยมีงบประมาณเพียงพอ แต่มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณฟุ่มเฟือยจนเกินไป หากลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยต่างๆ เช่น เรื่องการจัดงานพิธีรีตองต่างๆ จะสามารถช่วยแก้ไขได้ในระดับหนึ่ง
“หากเปรียบแล้วก็เหมือนทุกครั้งที่คนไข้เข้ามาหาหมอ มักจะให้ยาแก้ปวดนั่นคือก็คือยาพารา เป็นนโยบายพาราเซตามอลโพลิซี่ ทำงานโดยไม่มียุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ นโยบายมีแต่ปริมาณไม่มีคุณภาพ เปิดอ่านนโยบายการทำงานพบว่า หลายนโยบายปฏิบัติตรงกันข้าม ดำเนินการไม่ตรงตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้”
ศก.วันนี้จำเป็นต้องปฏิรูป
ส่วนนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ในสังคมที่ดี ความดีต้นทุนต้องต่ำความระยำต้นทุนต้องสูง แต่ในวันนี้ไม่ใช่กลายเป็นทำความดีต้องต้นทุนสูงแต่ความระยำต้นทุนต่ำ ทำดีความดีนอกจากต้นทุนสูงแล้วผลตอบแทนดันต่ำบางทีถึงขั้นติดลบ
"ยกตัวอย่างสมัยเรื่องจำนำข้าว ตอนประกาศออกมาหาเสียง หลายฝ่ายก็ออกมาค้านตั้งแต่เป็นนโยบาย อ้อนวอนให้เปลี่ยนอย่าทำ อุดหนุนในแบบไหนก็ได้ที่อยากอุดหนุน แต่ขอร้องอย่าไปทำลายกลไกตลาด แต่แล้วพอชนะเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ไม่ฟัง ถึงตรงนี้ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร" ปธ.บริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าว และว่า กลไกของประเทศที่พัฒนาในแบบระบอบประชาธิปไตยที่คนอื่นมีแต่ประเทศเรายังไม่มี คือประเทศไทยยังขาดภาคประชาสังคมที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งที่สำคัญมากอีกสิ่งหนึ่งคือสถาบัน Policy watch ในเมืองไทยเรามีน้อย ที่เห็นชัดเจนวันนี้ก็มีสถาบันTDRI ซึ่งสถาบันการศึกษาต่างๆควรทำหน้าที่นี้ รวมถึงการออกกฎหมายห้ามหน่วยงานของรัฐประชาสัมพันธ์โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
นายบรรยง กล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจในวันนี้จำเป็นต้องมีการปฏิรูป มีอะไรที่ไม่ถูกต้องก็จัดองค์ประกอบใหม่ แต่หากจะมองกระบวนการในการปฏิรูปแบบมีแต่ได้ไม่มีเสีย ทำแล้วwin ทั้งสองฝ่ายดูจะเป็นนิยายเกินไป
“กระบวนการปฏิรูปจะต้องเป็นกระบวนการที่เห็นว่าเราพยายามทำทุกจุด เป็นกระบวนการที่มากกว่าโครงการสร้างเวทีให้ครบถ้วนและเดินไป เนื่องความเหลื่อมล้ำเชิงเศรษฐกิจค่อนข้างมาก การพัฒนาเศรษฐกิจจึงจำเป็นที่จะต้องให้คนข้างล่างได้มีตัวแทนอยู่บนเวทีเพื่อเป็นปากเสียงให้อย่างแท้จริง”