“บ้านธนารักษ์นนท์”งบบานทะลุ 600 ล้าน-ธพส.สั่งโละจัดจ้างวิธีพิเศษ
แกะละเอียดข้อมูลงานก่อสร้างบ้านธนารักษ์ พบงานโครงการ จ.นนทบรี งบบานทะลุ 600 ล้าน หลัง ครม.ถมเพิ่ม 118 ล้าน จากเดิม 485 ล้าน พบข้อมูลใหม่ ธพส.สั่งโละจัดจ้างวิธีพิเศษ หันใช้ e – Auction
จากกรณีที่ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ( ธพส.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณสำหรับการก่อสร้างโครงการบ้านธนารักษ์นนทบุรีที่ยังก่อสร้างค้างอยู่ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 118 ล้านบาท ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุปัญหาความล่าช้าในการดำเนินงานโครงการดังกล่าว
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า โครงการบ้านธนารักษ์นนทบุรีเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดและล่าช้าที่สุดในจำนวน 4 โครงการ โดยอีก 3 โครงการได้แก่ โครงการบ้านธนรักษ์ภูเก็ต, โครงการบ้านธนารักษ์เชียงใหม่ และโครงการบ้านธนารักษ์สุพรรณบุรี
โดยก่อนที่นายสุเมธ จะเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธพส. นั้น ข้อมูลจากรายงานการประชุมคณะกรรมการ ธพส. ครั้งที่ 22/2555 ระบุถึงรายละเอียดของโครงการบ้านธนารักษ์ที่บันทึกไว้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2555 ดังนี้
โครงการบ้านธนารักษ์ภูเก็ต มูลค่าทั้งโครงการประเมินไว้ที่ 141.31 ล้านบาท ต้นทุน 132.23 ล้านบาท มี 156 หน่วย ทำสัญญาแล้ว 155 หน่วย ชำระเงินแล้ว 155 หน่วย รวมเป็นจำนวนเงิน 140.48 ล้านบาท กำไรขั้นต้น 8.25 ล้านบาท
โครงการบ้านธนารักษ์เชียงใหม่ มูลค่าทั้งโครงการประเมินไว้ที่ 241.88 ล้านบาท ต้นทุน 197.62 ล้านบาท มี 140 หน่วย ทำสัญญาแล้ว 126 หน่วย ชำระเงินแล้ว 85 หน่วย รวมเป็นจำนวนเงิน 153.88 ล้านบาท กำไรขั้นต้น 21.27 ล้านบาท คงเหลือรายได้ค้างรับ41 หน่วย
โครงการบ้านธนารักษ์สุพรรณบุรี มูลค่าทั้งโครงการประเมินไว้ที่ 47.49 ล้านบาท ต้นทุน 44.37 มีทั้งสิ้น 40 หน่วย ทำสัญญาแล้ว 38 หน่วย ชำระแล้ว 35 หลัง จำนวนเงิน 42.73 ล้านบาท กำไรขั้นต้น 0.90 ล้านบาท คงเหลือรายได้ค้างรับ 3 หน่วย
สำหรับโครงการบ้านธนารักษ์นนทบุรีที่ประสบปัญหาการก่อสร้างล่าช้านั้น มูลค่าทั้งโครงการประเมินไว้ที่ 565.23 ล้านบาท มีทั้งสิ้น 624 หน่วย ทำสัญญาแล้ว 623 หน่วย แต่ยังไม่มีการชำระเนื่องจากโครงการยังไม่แล้วเสร็จ
จากการตรวจสอบพบว่า ในการดำเนินงานที่ผ่านมาโครงการบ้านธนารักษ์นนทบุรีใช้งบประมาณไปแล้วทั้งสิ้น 485.87 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อรวมกับงบประมาณที่ครม.อนุมัติ 118 ล้านบาท รวมแล้ว โครงการบ้านธนารักษ์นนทบุรี จึงใช้งบประมาณในการก่อสร้างไปแล้วไม่น้อยกว่า 603.87 ล้านบาท
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนายสุเมธว่าที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวใช้งบไปแล้ว 485.87 ล้านบาท เมื่อรวมกับมติครม. ที่อนุมัติครั้งหลังสุด รวมแล้วมากกว่า 600 ล้านบาทจริงหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่า “จริงครับ แต่เบื้องต้นผมยังไม่ได้ดูตัวเลขละเอียด ดูเพียงในภาพรวมก็เห็นว่างบประมาณทั้งหมดรวมแล้วก็น่าจะไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาทจริง”
จากการตรวจสอบยังพบว่า มติคณะกรรมการ ธพส. ครั้งที่ 19/2555 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2555 มีมติอนุมัติให้จัดจ้างงานก่อสร้างโครงการบ้านธนารักษ์นนทบุรีส่วนที่เหลือ ( อาคาร 1,2,5 และ 6 )โดย “วิธีพิเศษ” วงเงินไม่เกิน 60 ล้านบาท (งบลงทุนเดิม) (รวมค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน 1.2 ล้านบาท) และอนุมัติให้จัดจ้างงานก่อสร้าง อาคาร 3 และ 4 โดยวิธีพิเศษ เมื่อได้รับเงินจากการ Claim Bank Guarantee วงเงินประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่ง ธพส.ได้รับเงิน Claim Bank Guarantee จำนวนเงิน 34,870,505.16 บาท เรียบร้อยแล้ว จึงได้ดำเนินการจัดจ้างก่อสร้างโครงการบ้านธนารักษ์จังหวัดนนทบุรี (ส่วนที่เหลือ) อาคาร 1,2,3,4,5 และ 6 ในวงเงิน 90 ล้านบาท โดยมอบหมายกรรมการผู้จัดการดำเนินการจัดจ้างตามระเบียบ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมดังนี้
1.ธพส. ได้มีคำสั่งที่ 301/2555 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจ้างก่อสร้างโครงการบ้านธนารักษ์จังหวัดนนทบุรี (ส่วนที่เหลือ) อาคาร 1,2,3,4,5 และ 6 โดยวิธีพิเศษ
2.คณะกรรมการดำเนินการจ้างฯ ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาข้อกำหนดและรายละเอียดของงานจ้างทันทีที่ได้รับคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2555 เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเร่งรัดงานก่อสร้างในส่วนงานสถาปัตยกรรมและงานระบบที่เหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หากล่าช้าอาจเกิดความเสียหายต่อ ธพส. ประกอบกับคณะกรรมการ ธพส. ได้อนุมัติให้ดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษแล้ว กรณีดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 12(2) เป็นการซื้อหรือจ้างกรณีเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่บริษัท
รายงานการประชุมดังกล่าวระบุว่า คณะกรรมการดำเนินการจ้างฯ ได้พิจารณาดำเนินการตามคำสั่งบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ที่ 88/2552 เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและรายละเอียดของการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ ข้อ 16 (2) ในกรณีการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องการความเร่งด่วน หากล่าช้าอาจเสียหายแก่บริษัทให้เชิญผู้มีอาชีพขายพัสดุนั้น หรือผู้รับจ้างที่มีความชำนาญในงานนั้นๆ โดยตรงมาเสนอราคา หากเห็นว่าราคาที่เสนอนั้นยังสูงกว่าราคาในท้องตลาด หรือราคาที่คณะกรรมการเห็นสมควร ให้ต่อรองราคาลงเท่าที่จะทำได้
จากนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารโครงการได้ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ธพส. ในวันที่ 12 ธันวาคม 2555 ว่าฝ่ายบริหารโครงการได้มีการติดต่อผู้รับจ้างหลายรายเข้าสำรวจงานที่เหลือ ได้แก่
1. บริษัท ซินเทค คอนสตรัคชั่น จำกัด มหาชน เข้าสำรวจพื้นที่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 เสนอราคา เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 เป็นเงินทั้งสิ้น 151.23 ล้านบาท
2. Since 24 company limited เข้าสำรวจพื้นที่เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 ไม่ได้เสนอราคา
3. บริษัทไบ-เทค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เข้าสำรวจพื้นที่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2555 เสนอราคา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 เป็นเงินทั้งสิ้น 89,994,076.17 บาท
4. บริษัท เกษมวิศว์ จำกัด เข้าสำรวจพื้นที่เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2555 และได้แจ้งราคาให้ทราบทางโทรศัพท์ เป็นเงินทั้งสิ้น 132,669,329.94 บาท
ในที่สุด ที่ประชุมคณะกรรมการ ธพส. มีมติอนุมัติจัดจ้างบริษัท ไบ-เทค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ก่อสร้างโครงการบ้านธนารักษ์จังหวัดนนทบุรี (ส่วนที่เหลือ) อาคาร 1,2,3,4,5 และ 6 ในวงเงิน 89,000,000 บาท
สำหรับกรณีที่บริษัทไบเทค เอ็นจิเนียริ่งเป็นผู้ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการบ้านธนารักษ์นนทบุรี หลังจากที่บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเดิมทีเป็นผู้ก่อสร้างโครงการบ้านธนารักษ์จังหวัดนนทบุรี ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา ธพส. จึงยกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 นั้น ผู้สื่อข่าวเคยสอบถามนายสุเมธถึงรายละเอียดในการเสนอราคาของบริษัทไบ-เทค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับการอนุมติให้ดำเนินการก่อสร้างว่าเป็นไปอย่างโปร่งใสหรือไม่ เนื่องจากสำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่าบริษัทไบ-เท็คเอ็นจิเนียริ่งฯ เสนอราคาได้ใกล้เคียงกับราคากลางที่ ธพส. ประเมินไว้ คือเสนอที่ 89,994,076.17 บาท ซึ่งนายสุเมธเคยให้คำตอบว่าการอนุมัติดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่ตนจะเข้ามา แต่ตนเชื่อว่ากระบวนการสรรหาและเสนอราคาเป็นไปอย่างโปร่งใสนั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบรายงานการประชุมคณะกรรมการ ธพส. เมื่อ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 มีใจความตอนหนึ่งระบุว่ารองประธานกรรมการและเลขานุการ ธพส.ขณะนั้น ทวงถามถึงการยื่นเสนอราคาค่าก่อสร้างส่วนที่เหลือของโครงการบ้านธนารักษ์ จังหวัดนนทบุรี โดยผู้จัดการส่วนบริหารโครงการ 2 ชี้แจงว่ามีผู้สนใจยื่นเสนอราคาเพียงรายเดียว คือ บริษัท ซินเทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยยื่นเสนอราคาค่าก่อสร้างอาคาร 6 หลังของโครงการฯ เป็นจำนวนเงิน 142 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคาที่ ธพส. ประมาณราคาไว้ถึง 60 ล้านบาท
ด้านผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายปฏิบัติการด้านวิศวกรรมบริหารอาคารขณะนั้นกล่าวว่าฝ่ายจัดการได้ขอความร่วมมือไปยังธนาคารกรุงไทย เพื่อขอรายชื่อบริษัทรับเหมาที่มีฐานะทางการเงินมั่นคง โดยได้รับการแจ้งชื่อจากธนาคารกรุงไทยมาแล้วจำนวน 3 ราย
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนายสุเมธ ก็ได้รับคำตอบว่าไม่ว่าที่ผ่านมาจะดำเนินการจัดจ้างด้วยวิธีใดก็ตาม แต่ตอนนี้ โครงการบ้านธนารักษ์นนทบุรีในระยะต่อไป คือการก่อสร้างอาคารที่ 7 และ 8 นั้น ตนได้เซ็นคำสั่งไปแล้วว่าให้เป็นการจัดจ้างแบบ e - Auction
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-procurement) คือให้มีการประมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ต ขณะที่ขั้นตอนการดำเนินการเกือบทั้งหมดยังเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ที่จะต้องมีการประกวดราคา ตรวจสอบคุณสมบัติ การดูสถานที่ การเปิดซองทางเทคนิค กล่าวคือ การดำเนินการทางเอกสารทั้งหมดยังต้องไปตามระเบียบเหมือนเดิม มีเพียงขั้นตอนการเสนอราคาเท่านั้นที่ใช้วิธีการประมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งผู้ประมูลสามารถเสนอราคาได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งภายในระยะเวลาที่กำหนด