สบอช.ตั้งวงถกคุ้มค่าสร้างเขื่อนแม่วงก์ โทษมูลนิธิสืบฯ ปัดเข้าร่วมทำให้ขาดข้อมูล
‘สุพจน์ โตวิจักษ์ชัยกุล’ นั่งปธ.ถกคุ้มค่าสร้างเขื่อนแม่วงก์ ติงมูลนิธิสืบฯ ปัดเข้าร่วมทำให้ขาดข้อมูลครบถ้วน หวั่นปชช.ใช้ความรู้สึกประเมินแทน ตัวแทน 'ปลอดประสพ' ยันไม่กระทบเสือโคร่ง เชื่อสร้างแล้วจะหนีไปเอง
วันที่ 17 ต.ค.2556 ที่ตึกแดง 3 ทำเนียบรัฐบาล สำนักงานโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกรณีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในโครงการเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ โดยมีนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะรักษาการเลขาธิการ สบอช.เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมชลประทาน, ชมรมอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติ, ชมรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่วงก์, ชมรมกำนันและผู้ใหญ่บ้านลุ่มน้ำแม่วงก์-สะแกกรัง และเครือข่ายประชาชนสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์
นายสุพจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในการประชุมของสผ.หรือกรมชลประทานเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อน ได้มีการเชิญมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เข้าร่วมชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้อง แต่ปรากฏว่าหลายครั้งมูลนิธิสืบฯ มิได้มาเข้าร่วม ฉะนั้นหากให้ตนเองเปรียบเทียบเสมือนขณะนี้หนังเรื่องจริงยังไม่ได้ฉาย แต่ชาวบ้านกลับไปดูหนังเถื่อนก่อนแล้ว ซึ่งจะทำให้ได้รับข้อมูลไม่ถูกต้องและครบถ้วน ส่งผลหลายคนใช้ความรู้สึกในการประเมินจนผิดพลาด
“วันนี้มิใช่เวทีที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่เป็นเวทีที่จะนำเสนอข้อดี-ข้อเสียว่าสุดท้ายสมควรสร้างหรือไม่” รักษาการเลขาธิการ สบอช.กล่าว
ด้าน นายสังเวียน คงดี ผู้แทนนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี (ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย-กบอ.) กล่าวว่า การก่อสร้างทุกเขื่อนในไทย ไม่ว่าจะเป็น เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนศรีนครินทร์ ล้วนถูกคัดค้านการก่อสร้างทั้งสิ้น เพราะหวั่นว่าสัตว์ป่าและต้นไม้จะได้รับผลกระทบ แต่ปัจจุบันนี้ได้ประจักษ์แล้วว่าปัจจุบันไม่มีป่าที่ใดเสียหายเลย ดังนั้น ส่วนตัวจึงเห็นว่า หากมีการสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดผลดีต่อระบบนิเวศ เพราะสัตว์ป่าจะไปกินน้ำ ต้นไม้ก็ต้องการน้ำ เรียกว่า ถ้ามีน้ำที่ไหนพื้นที่ก็ดีขึ้น ทั้งนี้ เชื่อว่าพื้นที่ป่าจะได้รับผลกระทบน้อยหรือไม่มีเลย เพราะระหว่างที่ก่อสร้างเขื่อนสัตว์ป่าจะหนีไปและต้นไม้ก็สามารถสร้างได้ด้วย โดยจะปลูกป่าทดแทนเพิ่มเป็น 3 เท่า เหมือนในอดีตสมัยแม่วงก์เป็นพื้นที่สัปทานป่าไม้เก่า
เมื่อถามถึงข้อกังวลของฝ่ายคัดค้านว่าจะเข้าสู่ทฤษฎีโดมิโนทำลายผืนป่าตะวันตก นายสังเวียน ระบุว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ นอกเสียจากทำให้สภาพป่าดีขึ้น เห็นได้ชัดเขื่อนสิริกิติ์ดีขึ้น เขื่อนภูมิพลดีขึ้น เขื่อนแม่งัดไม่มีการบุกรุก
และเมื่อถามอีกว่า การก่อสร้างเขื่อนจะมีผลกระทบต่อเสือโคร่ง 12 ตัว หรือไม่ (พ่อแม่พันธุ์ 10 ตัว-ลูก 2 ตัว) นายสังเวียน เชื่อว่าเมื่อมีน้ำสัตว์ป่าจะเพิ่มมากขึ้น แต่ที่เสือโคร่งเดินหาอาหารระยะไกล ๆ เพราะไม่มีแหล่งอาหารที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ไม่มีทางกระทบสัตว์กลุ่มนี้ เพราะเมื่อเราก่อสร้างเขื่อนจะหนีไปเอง
นายจุติพงษ์ พุ่มมูล ประธานเครือข่ายประชาชนสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ กล่าวว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไม่รู้ข้อเท็จจริง เพราะมูลนิธิสืบฯ ไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริง จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมวันนี้ถึงไม่มาเข้าร่วมประชุม เพราะไม่ต้องการนำเสนอความจริงนั่นเอง เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมความรู้สึก
“ปัจจุบันภาพสังคมกำลังจะถูกบิด คนสนับสนุนเขื่อนถูกมองเป็นผู้ร้าย คนต่อต้านถูกมองเป็นพระเอก แต่ผมว่าไม่ใช่ เพราะการจะเป็นผู้ร้ายหรือพระเอกต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง” ประธานเครือข่ายประชาชนฯ กล่าว และว่า ส่วนราชการกำลังถูกมองเป็นเสื้อตัวใหญ่ และผู้คัดค้านเป็นเสื้อตัวเล็ก ซึ่งเราต้องมาขยับดูให้เสื้อมีความลงตัวด้วยการนั่งพูดคุยกันเพื่อหาจุดลงตัว ไม่ใช่มาเสนอทิ้งทวน 8 ข้อ แล้วไม่สนใจอะไรแล้ว
นายจุติพงษ์ กล่าวต่อว่า เขื่อนแม่วงก์เป็น 1 ใน 5 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แล้วเราจะไม่เดินรอยตามพระราชดำริฯ ได้อย่างไร เพราะทุกโครงการล้วนมีความคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์หรือเขื่อนขุนด่านปราการชล ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้คัดค้านได้เห็นเอกสารเหล่านี้แล้ว แต่ขอถามกลับว่ายังคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ไปเพื่ออะไรอีก หรือมุ่งปลุกกระแสว่าถ้าเป็นรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะต่อต้านทุกโครงการ ซึ่งคิดว่าไม่ถูกต้อง ท้ายที่สุด ยืนยันว่าควรจะก่อสร้างตั้งนานแล้ว
นายธนพล สารนาถ ประธานชมรมอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ก่อนหน้าที่ตนเองจะลงพื้นที่สำรวจผืนป่าแม่วงก์นั้นได้แสดงท่าทีคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่เมื่อได้ลงพื้นที่จริงแล้วทำให้รับรู้ถึงปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งของเกษตรกรเป็นจริง ซึ่งยอมรับว่ารู้สึกเสียดายหากต้องทำลายป่า แต่ทั้งนี้ต้องดูที่เหตุจำเป็นประกอบด้วย
“เมื่อก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์จะทำให้สูญเสียระบบนิเวศป่าจริง แต่ก็จะเกิดระบบนิเวศทางน้ำขึ้นมาทดแทนกันอย่างสมเหตุสมผล และยังเอื้อต่อการชลประทาน เพราะฉะนั้นเมื่อมีการประเมินข้อดีข้อเสียแล้ว ทำให้ชมรมฯ หันมาสนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว” ประธานชมรมอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติ กล่าว
เมื่อถามเกี่ยวกับพื้นที่ปลูกป่าทดแทน สำหรับโครงการเขื่อนแม่วงก์ ผู้แทนกรมชลประทาน กล่าวว่า จะปลูกใกล้พื้นที่เดิมในบริเวณป่า C (พื้นที่ป่าที่อนุโลมให้ประชาชนใช้ประโยชน์) เพื่อให้ระบบนิเวศเชื่อมต่อกับผืนป่าแม่วงก์ ทั้งนี้ได้มีการตกลงความร่วมมือกับประชาชนเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ เพื่อดำเนินโครงการปลูกป่าทดแทน ผ่านการลงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมชลประทานยังได้นำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบทางเลือกในการพัฒนาโครงการ โดยสรุป คือ การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์มีความเหมาะสมมากที่สุด (ทางเลือกที่ 5) ซึ่งสามารถบรรเทาภัยแล้งในลุ่มน้ำแม่วงก์ได้เกือบทั้งหมด และบรรเทาน้ำท่วมในลุ่มน้ำแม่วงก์ได้ประมาณ 10-48% นอกจากนี้ยังผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำได้ด้วย แม้จะต้องสูญเสียพื้นที่ป่ามากก็ตาม เพราะทางเลือกอื่นอย่างฝาย อ่างเก็บน้ำ หรือปล่อยตามธรรมชาติไม่สามารถบรรเทาได้เลย.
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ประเด็นการเชิญมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เข้าร่วมชี้แจงข้อมูลนั้น ก่อนหน้านี้ กรรมการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ได้ส่งหนังสือปฏิเสธเข้าร่วมการประชุม โดยให้เหตุผลว่า ได้รับหนังสือเชิญกะทันหัน ทำให้ไม่สามารถเตรียมเอกสารชี้แจงได้สมบูรณ์ทัน อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันการคัดค้านตามแถลงการณ์ทั้ง 8 ข้อ ที่ได้ยื่นต่อเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ เมื่อ 9 ก.ย. 2556 ว่าต้องการคัดค้านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการเขื่อนแม่วงก์
และประเด็นเขื่อนแม่วงก์ เป็นโครงการพระราชดำรินั้น นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ก็ได้ออกมาปฏิเสธไม่ใช่โครงการพระราชดำริ แต่เป็นของกรมชลประทาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
มูลนิธิสืบฯ ปฏิเสธร่วมถกปมเเม่วงก์ 17 ต.ค.56 แจงรับหนังสือเชิญกะทันหัน
ก.ทรัพย์ฯ ตั้งคณะกก.พิจารณาข้อมูลฯ EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์