เสียง 80-90% ค้านโครงการเขื่อนห้วยตั้งในเวทีน้ำที่ลำพูน
ป่าหี่น้ำ 3.5 แสนล้าน เวทีแรกพลิกล็อก ชาวบ้านโฮ่ง ลำพูน แห่ค้านเขื่อนห้วยตั้ง เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือแฉซ้ำ กบอ. ต้องฟังเสียงชาวบ้าน ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
เมื่อวันที่ 15-16 ตุลาคม ที่บ้านแม่ขนินท์ใต้ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียบการสร้างเขื่อนการพัฒนาที่ผิดแนวทาง โดยมีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน อุทยานแห่งชาติออบขาน จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ยม เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง อุทยานแห่งชาติแม่ยม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนชมพู อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก กว่า 70 คนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันที่ศาลาวัดแม่ขนิลท์ใต้ อ.หางดง จ.เชียงใหม่
ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนต่างๆ ในโมดูล A1 ของ กบอ. ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจังหวัดลำพูน ที่โรงเรียนจักคำคณาทร อ.เมือง จ.ลำพูน ในวันที่ 15 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า ประชาชน 80-90 เปอร์เซ็นต์ แสดงความคิดเห็นคัดค้านโครงการเขื่อนห้วยตั้ง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน โดยเสนอให้ กบอ. พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กให้ทั่วทุกหมู่บ้าน เพราะการสร้างเขื่อนห้วยตั้งจะกระทบต่อชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานหลายหมู่บ้าน ชาวบ้านไม่ยอมให้สร้างแน่ แต่หากเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก กระจายไปทั่วทุกหมู่บ้าน ชาวบ้านจะได้ประโยชน์มากกว่า ซึ่งจาการรับฟังเวทีแรกนี้ทำให้ กบอ. ต้องคิดหนัก เพราะผลการรับฟังออกมาเช่นนี้ รัฐบาลและ กบอ. จะดำเนินการต่อเช่นไร เพราะเสียงของคนในพื้นที่ออกมาคัดค้านโครงการของ กบอ. อีกทั้งเสนอให้สร้างอ่างขนาดเล็กทั่วทุกชุมชน ซึ่งแม่มีในแผนและ ไมมีใน TOR ของ กบอ.
ด้านเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือได้จัดเวทีประชุมหารือกันต่อ จากการสังเกตการณ์เวทีรับฟังความคิดเห็นแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของ กบอ. โดยได้ออกแถลงการณ์ในนามเครือข่ายภาคประชาชนเสนอข้อเสนอแนะต่อ กบอ. 3 เรื่อง คือ
1.การให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนเพียงพอ พบว่า เอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นเป็นเอกสารเดิมๆที่มีการแจกจ่ายในการจัดนิทรรศการ “น้ำเพื่อชีวิต” มาแล้วก่อนหน้านี้ ในเอกสารมีข้อมูลระบุเพียงสั้นๆ ถึงจุดสร้างเขื่อน ที่ตั้งโดยสังเขป ความจุอ่างเก็บน้ำ แต่กลับไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ได้รับผลกระทบ ตามระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นประชาชน พ.ศ. 2548 ข้อ 7(7) คือ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพอยู่ในสถานที่ที่จะดำเนินโครงการและพื้นที่ใกล้เคียง และประชาชนทั่วไป รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบดังกล่าว
นอกจากนี้ในเวทีมีเพียงคู่มือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่แจกช่วงลงทะเบียนในช่วงเช้าเท่านั้น ไม่ได้มีการจัดส่งเอกสารให้กลุ่มเป้าหมายล่วงหน้าก่อน 15 วัน จึงขาดโอกาสทำความเข้าใจในเอกสารก่อนร่วมเวที
2.ผิดกลุ่มเป้าหมาย ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงที่เข้าร่วมเวทีมีจำนวนน้อย ไม่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายหลักที่เจ้าของเวทีจัดไว้ เมื่อมาลงทะเบียนผู้เข้าร่วมจึงถูกผลักไปอยู่ในกลุ่มประชาชนทั่วไป ไม่ได้เข้าร่วมอยู่ในห้องประชุมหลัก ขาดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น และกระบวนการรับฟังได้กำหนดเวลาให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเพียงคนละ 3 นาที จึงไม่สามารถอธิบายเนื้อหาได้ครบถ้วน
3.สถานที่จัดเวทีไม่เหมาะสม เวทีในจัดที่หอประชุมโรงเรียนจักคำคณาทร ที่มีพื้นที่จำกัดไม่สามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้ทั้งหมดในห้องเดียวกัน จึงทำให้ผู้เข้าร่วมขาดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น
ด้วยข้อสังเกตุดังที่กล่าวมา เครือข่ายภาคประชาชนฯ มีความเห็นว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ไม่สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 57(2) ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็น
จากการประชุมหารือของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนเห็นว่า กบอ. วางแผนการจัดการน้ำในห้องแอร์ ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่า ชาวบ้านต้องการอะไร เป็นการรวมพวงโครงการของกรมชลประทานเก่าๆ ที่ดำเนินการไม่ได้มารวมพวงกัน เหมาเข่งขายโครงการให้ต่างชาติ ทั้งอิตาเลียนไทย และเกาหลี ซึ่งไม่สอดคลองกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งยังไม่เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงให้กับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ได้รับรู้ ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นการใช้อำนาจรวมศูนย์ไม่สอดคลองกับความต้องการในพื้นที่ก็จะถูกต่อต้านอย่างแน่นอน
นายสมเกียรติ มีธรรม แกนนำการคัดค้านโครงการเขื่อนแม่แจ่ม (เขื่อนผาวิ่งจู้) อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เขื่อนแม่แจ่มจะทำลายป่าต้นน้ำ 1A ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำหล่อเลี้ยงแม่น้ำปิง อันจะทำให้เกิดภัยแล้งน้ำท่วมหนักขึ้นกว่าเดิม ป่าไม้เมืองไทยเหลือน้อยมากแล้วไม่ควรผลักดันโครงการใดๆ ที่ทำลายป่าอีกต่อไป เราควรรักษาป่าที่เหลืออยู่ให้ได้มากที่สุด ไม่เพียงเท่านั้นเราควรฟื้นฟูป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวในการรักษาสมดุลธรรมชาติ จะได้ไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งตามมา
ด้านนายพิษณุ สร้อยเงิน แกนนำการคัดค้านโครงการเขื่อนแม่น้ำยม เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ซึ่งก็คือเขื่อนแก่งเสือเต้นที่แบ่งออกเป็น 2 เขื่อน โดยเว้นชุมชนสะเอียบไว้ไม่ให้น้ำท่วมนั้น กล่าวว่า “ชาวสะเอียบ ยืนยันที่จะคัดค้านโครงการเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง เช่นเดียวกับเขื่อนแก่งเสือเต้น ถึงแม้ว่าเราไม่ต้องอพยพออกจากบ้านเรา แต่เขื่อนก็จะท่วมป่า ท่วมที่ทำกินของพวกเราชาวสะเอียบ เราคงไม่ยอมให้รัฐบาลหรือ กบอ. สร้างอย่างแน่นอน เพราะเรามีทางออก มีทางเลือกในการแก้ไขปัญหาทั้ง 12 แนวทาง ซึ่งได้เสนอต่อนายก เสนอต่อรัฐบาลหลายต่อหลายครั้ง แต่ กบอ. ตาบอด มองไม่เห็น ไม่เคยคิดที่จะแก้ไขปัญหาแบบอื่น จะสร้างแต่เขื่อนอย่างเดียว หรือว่า กบอ. อยากกินป่าสักทองที่พี่น้องสะเอียบอนุรักษ์ รักษา กันมากว่ายี่สิบปี
การหารือกันของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนของ กบอ. ตามโมดูล A1 ได้มีมติในการตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ของรัฐบาลและ กบอ. อย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนปัญหาจากพื้นที่ให้สาธารณะชนได้รับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ จะได้มาร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จังหวัดเชียงใหม่ อีกครั้งหนึ่ง