ภาคประชาชนแจงนโยบายยุบ ร.ร.เล็ก 7 พันแห่ง ผิด กม. ร้องคณะกรรมการสิทธิ์ระงับด่วน
16 มิ.ย.รณรงค์ค้านหน้าลานพระรูป-เปิดเวทีกลางกระทรวงศึกษาฯ เรียกร้องเปิดประชาพิจารณ์ เชิญหมอประเวศ-ม.ร.ว.อคิน-ศ.ระพี-อ.สุลักษณ์-ดร.เอกวิทย์ และครู-นักเรียนที่ได้รับผลกระทบถกใหญ่
วันที่ 15 มิ.ย.54 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก พร้อมด้วยนายเทวินฎฐ์ อัครศิลาชัย รองเลขาธิการฯภาคเหนือ นายชัยณรงค์ ฉิมชูใจ รองเลขาธิการฯ ภาคกลาง นายวันชัย พุทธทอง รองเลขาธิการฯ ภาคใต้ และนายสถาปนา ธรรมโมรา ปลัดอบต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม.ด้านสิทธิพลเมือง สิทธิการเมือง และสิทธิชุมชน และนางวิสา เบ็ญจะมโน กสม.ด้านสิทธิเด็ก สิทธิสตรี และความเสมอภาคของบุคคล เพื่อขอให้ตรวจสอบและคุ้มครองสิทธิชุมชนต่อนโยบายยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก 7,000 แห่งของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)
โดยเห็นว่านโยบายดังกล่าวมีการดำเนินงานขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญปี 2550 หมวดที่ 3 ส่วนที่ 8 สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา มาตรา 49 ที่ระบุว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ โดยเขตพื้นที่การศึกษาได้ปล่อยปละละเลยการบริหารโรงเรียนจนทำให้เกิดสภาพโรงเรียนขนาดเล็ก
จากนั้นก็ใช้การยุบควบรวมโรงเรียน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับการบริการการศึกษาอย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ เนื่องจากเด็กนักเรียนต้องย้ายไปยังโรงเรียนใหม่ที่ห่างไกลบ้าน โดยเสี่ยงภัยต่อระยะทางไกล หรือทำให้เด็กนักเรียนต้องย้ายไปอยู่หอพัก แทนการอยู่ร่วมกับครอบครัว เท่ากับเป็นการบั่นทอนความสัมพันธ์ครอบครัว ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 80 ที่ระบุให้รัฐดำเนินนโยบายทางการศึกษาเพื่อคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้วยการส่งเสริมการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว
รวมทั้งนโยบายดังกล่าวยังขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 57 และ 58 ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนพิจารณาโครงการของรัฐที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ หรือกระทบต่อส่วนได้เสียของประชาชนและยังขัดต่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 29 ที่ระบุให้แนวทางการจัดการศึกษามุ่งส่งเสริมให้สถานศึกษาร่วมมือกับครอบครัว องค์กร หรือชุมชนเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน ด้วยการจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชน
รวมถึงมาตรา 38 ที่กำหนดให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาทำหน้าที่ส่งเสริมการจัดการศึกษาของภาคประชาสังคม และมาตรา 39 ในเรื่องการกระจายอำนาจทางการศึกษาและกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา พ.ศ.2550 นอกจากนี้ ยังไม่มีกระบวนการรับฟัง หรือหารือร่วมกับชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน และทำลายเจตนารมณ์การมีส่วนร่วมการมีศึกษาที่ทางชุมชนได้วางเอาไว้
ดังนั้นจึงขอร้องเรียน กสม.ดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว โดยให้กระทรวงศึกษาธิการยุติการดำเนินนโยบาย และยุติคำสั่งการให้เขตพื้นที่การศึกษายุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในทุกพื้นที่โดยเร่งด่วน ดำเนินการตรวจสอบสิทธิชุมชน พร้อมทั้งให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์ร่วมระหว่างภาครัฐและภาค ประชาสังคม เพื่อทำหน้าที่ประสานงานรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม ขอให้กระทรวงศึกษาธิการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ด้วยหลักการและแนวทางที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 50 และพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ.2542 โดยนิรันดร์ กล่าวกับผู้ร้องเรียนว่าทางกรรมการสิทธิฯ จะดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันนี้(16 มิ.ย.) กลุ่มสภาการศึกษาทางเลือกและกลุ่มจัดการเรียนการสอนโฮมสคูล จะรวมตัวกันรณรงค์คัดค้านนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และไปที่กระทรวงศึกษาฯเพื่อเข้าพบนายชินวรณ์ บุญยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ พร้อมเปิดเวทีสัมมนา “ปัญหาและทางออกการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 7,000 โรง” โดยเชิญ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฏรอุโส, ศ.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ อดีตคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ, ศ.ดร.ระพี สาคริก ประธานสมาคมการศึกษาทางเลือก, อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม, ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง และเครือข่ายโรงเรียนและชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวเข้าร่วม.
ที่มาภาพ : http://203.146.129.175/web/?q=category/channel/education&page=3