“อรรถพล” ลั่น! ขอ 6 เดือนเรียกคืนศรัทธาองค์กรอัยการ
“ตั้งใจว่าไม่เกิน 6 เดือน จะทำให้ประชนมีศรัทธาในสำนักงานอัยการสูงสุด และมีความเชื่อมั่นว่าการดำเนินการไม่มีสี ขอแค่ 6 เดือนเท่านั้นเอง ไม่ขอ 2 ปี”
(อรรถพล ใหญ่สว่าง - ภาพจากเว็บสำนักข่าวเนชั่น)
“สำนักงานอัยการสูงสุด” ยุคมีผู้นำชื่อ "อรรถพล ใหญ่สว่าง” เป็นอัยการสูงสุด (อสส.) กลายเป็นองค์กรที่ถูกจับตามองขึ้นมาทันทีหลังเปลี่ยนผู้นำใหม่ เหตุเพราะอัยการถือเป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญ เป็น ”กลางทาง” ระหว่างตำรวจ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กับศาลยุติธรรม
ไม่นับรวมกับบทบาทอื่นๆ มากมาย เช่นการว่าความในคดีทางแพ่งให้กับรัฐ หรือบทบาทด้านคดีปกครองที่ต้องเป็นเสมือนทนายให้กับ “รัฐ-เจ้าหน้าที่” “รัฐ-รัฐบาล” ยามเมื่อถูกฟ้องคดีปกครองต่อศาลปกครอง ตลอดจนภารกิจในการเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับหน่วยงานรัฐบาลอีกหลายกรณี
ยิ่งช่วงระยะ 3-4 ปี ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการทำงานของอัยการถูกวิจารณ์ค่อนข้างมาก กับการทำความเห็นสั่งคดีต่างๆ รวมถึงข่าวของอดีตผู้บริหารระดับสูงบางคนในสำนักงาน อสส.
ไม่ว่าจะเป็นกรณี “ชัยเกษม นิติศิริ” อดีต อสส. ที่เคยถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และ ป.ป.ช.สอบสวนเอาผิดในคดี CTX ตั้งแต่ตอนเป็นรองอัยการสูงสุด แล้วต่อมาคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ก็มีมติตั้งเป็น อสส. แต่ล่าสุดมีข่าวป.ป.ช.ได้ยุติการสอบสวนนายชัยเกษมในคดีCTX ไปหมดแล้ว
หรือกรณีการทำความเห็นในคดีของ ”จุลสิงห์ วสันตสิงห์”อดีต อสส.ที่เพิ่งพ้นหน้าที่ไปเมื่อ 30 ก.ย.2556 ที่ผ่านมา จริงอยู่ว่าหลายคดีสำคัญจุลสิงห์ก็มีความเห็นสั่งฟ้องหรือให้อุทธรณ์ไปตามขั้นตอน
แต่ที่ถูกพูดถึงไม่น้อยก็คือกรณีการไม่อุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกาในคดีการเลี่ยงภาษีการโอนหุ้นบริษัทชินวัตรฯ ที่มีจำเลยคือ “คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร–บรรณพจน์ ดามาพงศ์-นางกาญจนาภา หงส์เหิน” หลังศาลอุทธรณ์ตัดสินแตกต่างจากศาลชั้นต้น จนถูกมองว่าเป็นการตัดตอนคดีไม่ให้ไปถึงศาลฎีกา และล่าสุดกับการสั่งไม่ฟ้อง “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ในคดีก่อการร้าย
รวมถึงข่าวเรื่องความขัดแย้งในการทำงานของอัยการกับ ป.ป.ช.ที่มีมาตลอดหลายปี กับการที่อัยการมักตีสำนวนกลับโดยอ้างเหตุ ”พบข้อไม่สมบูรณ์” และนำไปสู่การตั้งคณะทำงานจนคดีล่าช้า และสุดท้าย ป.ป.ช.ก็ต้องมาฟ้องศาลเองซึ่งบางคดีศาลก็ลงโทษสถานหนัก อาทิ คดีทุจริตรถดับเพลิง กทม.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งจำคุก “ประชา มาลีนนท์” อดีต รมช.มหาดไทย เป็นเวลา 12 ปี
หรือกรณีที่อัยการมักมีชื่อเข้าไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจสำคัญๆ หลายแห่งโดยเฉพาะพวกหน่วยงานวิสาหกิจและบริษัทใหญ่ๆอย่าง “ปตท.-การบินไทย-ธนาคารกรุงไทย–บริษัทท่าอากาศยานไทย” ซึ่งองค์กรเหล่านี้ก็จะมีค่าตอบแทนทั้งเงินเดือน-เบี้ยประชุม-โบนัสประจำปีสูงลิบ รวมถึงสุ่มเสี่ยงจะเกิดคำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะหากมีคดีที่ต้องมีการเอาผิดในคดีอาญา ที่ขั้นตอนคดีก็ต้องส่งไปที่อัยการ แต่ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน อสส.ไปนั่งเป็นบอร์ดอยู่ด้วย คนก็ย่อมกังขาว่า มันอาจมีการลูบหน้าปะจมูกเกิดขึ้น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ยกมาข้างต้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น ก่อนที่ชายชื่อ "อรรถพล ใหญ่สว่าง" จะเข้ามาเป็น อสส.อะไรที่หลายคนคาใจในอดีต ตอนนี้ก็มีกระบวนการเช็คบิลเกิดขึ้นแล้ว ก็ว่ากันไปตามครรลอง
ที่ต้องจับตามองตอนนี้ก็คือ ทิศทางสำนักงานอัยการสูงสุดยุคอรรถพล ว่านับแต่นี้จะเป็นอย่างไรมากกว่า โดยเฉพาะที่ต้องโฟกัสเป็นพิเศษก็คือ การสั่งคดีของอรรถพล ในคดีสำคัญๆ จะเป็นอย่างไร
โดยเฉพาะปริศนาคดีใหญ่คดีหนึ่ง ซึ่งอรรถพลย้ำว่า ผลการสั่งคดีนี้ ไม่ว่าจะสั่งฟ้อง-สั่งไม่ฟ้อง จะทำให้ เขากลายเป็นคนที่มีคนรักมาก แต่ก็จะมีคนชังมากเช่นกัน ซึ่งคำสั่งจะออกมาในช่วงไม่เกินปลาย ต.ค.2556 นี้ แต่เจ้าตัวก็ไม่ยอมบอกว่าเรื่องอะไร บอกแค่ว่าเป็นคดีที่ใหญ่ที่สุดในเวลานี้
ท่ามกลางการวิเคราะห์กันไปต่างๆ ว่าดูแล้วความเป็นไปได้มากที่สุด น่าจะเป็นคดีที่ดีเอสไอมีความเห็นสั่งฟ้อง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรีและ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตรองนายกฯ ในคดีที่เกิดจากการสลายการชุมนุมเสื้อแดงปี 2553
ที่เบื้องต้นดีเอสไอได้รวบรวมสำนวนคดีที่ศาลสั่งเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ รวมถึงคดีที่ประชาชนได้รับบาดเจ็บ อาทิ กรณีการเสียชีวิตของ “พัน คำกอง” “ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ” และการบาดเจ็บสาหัสของ “สมร ไหมทอง” ที่ร่วมชุมนุมปี 2553 ซึ่งดีเอสไอสรุปในสำนวนว่าทั้งหมดเสียชีวิต-บาดเจ็บสาหัสเป็นเพราะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร ภายใต้คำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ในฐานะผู้ตัดสินใจในการออกคำสั่งจึงต้องรับผิดชอบ ในข้อหาฉกรรจ์ยิ่งนักคือ
”ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล”
ยิ่งเมื่อดูจากที่เดิมที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักคดีพิเศษ ที่รับผิดชอบคดีนี้ ได้เลื่อนวันนัดฟังคำสั่งอัยการจากเดิม 25 ก.ย.2556 ไปเป็น 31 ต.ค.2556 เวลา 10.00 น. ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุดว่าคดีใหญ่ที่ ”อรรถพล” บอกไว้บนการบอกใบ้ผ่านสื่อบางสำนัก ว่าก่อนบินไปสหรัฐฯ ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะสั่งอย่างไร แม้จะอ่านสำนวนมาหมดแล้ว แต่การตัดสินใจสั่งคดีจะเกิดในช่วงการเดินทางไป-กลับระหว่างไปร่วมประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐฯ ที่จะตัดสินใจตอนอยู่บนเครื่องบิน
... จึงเรียกคำสั่งคดีนี้ว่า "คำสั่งมาจากฟ้า" !
“สังคมประชาชนต้องให้ความเป็นธรรมกับผมด้วยถ้าคดีใดเมื่อผมกลับมาจากต่างประเทศแล้ว แล้วผมสั่งก็ขอให้ยึดดูพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ว่าผมสั่งผิดสั่งถูกอย่างไร เพราะคดีนั้นจะทำให้ทุกคนที่เป็นพวกของคนที่ถูกสั่งคดี เกลียดผม แต่คนที่ให้ความเป็นธรรมหรืออาจเป็นฝ่ายตรงข้าม รักผม
ผมอ่านเอกสารแล้ว เขาเสนอมาแล้ว แต่จะไปคิดเรียบเรียงตอนอยู่บนเครื่องบินตอนไปประชุมยูเอ็น เขาเรียกคำสั่งมาจากฟ้า”
คำสั่งคดีใหญ่ของอัยการสูงสุดจะใช่คดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 2553 หรือไม่ ไม่เกินสิ้นเดือนนี้ได้รู้กัน
นอกจากนี้ยังพบว่า หลังอรรถพลขึ้นมาเป็น อสส. ก็พยายาม "รีแบนด์ดิ้ง" สำนักงาน อสส.ในยุคของตัวเองไม่น้อย จากเดิมที่ภาพลักษณ์องค์กรเป็น "องค์กรปิด" ที่สังคมเข้าถึงยาก ก็ดูจะพยายามปรับให้เป็นหน่วยงานที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะการให้ประชาชนสามารถติดตามผลคดีทุกคดีได้หมด ภายใต้กรอบคือการเปิดเผยเรื่องคดีความต่างๆ จะต้องไม่กระทบกับสิทธิของคนอื่น เช่น ล่วงรู้คำให้การของพยานในคดีต่างๆ เพราะจะเป็นอันตรายต่อพยาน โดยเฉพาะนโยบายที่จะให้นำความเห็นของอัยการในคดีต่างๆ หรือการแจ้งความคืบหน้าคดีต่างๆ ไปเผยแพร่ลงในเว็บไซด์ของสำนักงาน อสส. ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการทำแบบนี้มาก่อน
ขณะเดียวกัน ก็ใช้อำนาจผ่าน ก.อ. จัดการปรับโครงสร้างองค์กรอย่างรวดเร็ว เช่นการจัดตั้งสำนักงานขึ้นมาใหม่คือ "สำนักงานสอบสวน" ทำหน้าที่สอบสวนคดีที่ส่งมาจาก ป.ป.ช.-ดีเอสไอ รวมถึงรองรับการทำคดีตามรัฐมนตรี มาตรา 68
อีกเรื่องหนึ่งอรรถพลจะทำหลังจากนี้ก็คือการแก้ปัญหาเรื่องการทำความเห็นในคดีร่วมกันระหว่าง ป.ป.ช.-อัยการ ซึ่งที่ผ่านมามักมีปัญหากันตลอด จนคนรู้จักคำว่า ”สำนวนไม่สมบูรณ์” กันหมดเพราะมักมีข่าวอัยการตีกลับสำนวน ป.ป.ช.เป็นส่วนใหญ่
อย่างที่ค้างตอนนี้ก็ เช่น “คดีสลายการชุมนุม 7 ตุลาฯ-คดีสรยุทธและบริษัทไร่ส้ม-คดีข้อกล่าวหาจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าฯ ททท.รับผลประโยชน์จากการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์-คดีแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมของ บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่นฯ-คดีที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์”
หลายคดีที่อัยการตีกลับเหล่านี้ อรรถพลบอกว่า "จริงๆ แล้ว อัยการไม่ได้มีปัญหากับป.ป.ช. อย่างที่ประชาชนมอง แต่ก็ยอมรับว่าที่ผ่านมาอาจเกิดจากการประสานงานที่ไม่เข้าใจกันในบางเรื่อง แต่หลังจากนี้ทุกอย่างจะดีขึ้น เริ่มจากช่วงเดือน พ.ย.2556 อสส.จะขอเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาร่วมกับ ป.ป.ช. หลังก่อนหน้านี้เพิ่งจัดไปเมื่อเดือน ก.ย.2556 จะได้พูดคุยปรับการทำงานให้ตรงกัน"
แต่หลังจากนี้จะให้มีการตั้ง "ผู้ประสานงานในคดี" ที่จะเป็นคนคอยดีลระหว่างอัยการกับป.ป.ช.จากเดิมที่ทำงานร่วมกันมาหลายปี ไม่เคยมีคนทำหน้าที่ตรงนี้ ทำให้เมื่อมีการตั้งคณะทำงานร่วม อัยการ-ป.ป.ช. จะเจอปัญหาเรื่องคดียืดเยื้อกินเวลาหลายปีเพราะไม่มีกรอบว่าต้องพิจารณาให้เสร็จเมื่อใด ทำให้คดีล่าช้า
รวมถึงจะไปหารือกับป.ป.ช.เพื่อดูความเป็นไปได้ว่าต่อไปเมื่อมีการตั้งคณะทำงานร่วม อัยการ-ป.ป.ช. แล้ว ในส่วนของ "คดีที่เอาผิดนักการเมือง" ควรจะต้องกำหนดกรอบเวลาให้ชัดว่าต้องพิจารณาให้เสร็จภายในกี่วัน จากปัจจุบันที่ไม่มีกรอบเวลากำหนดไว้จะได้แก้ปัญหาคดีล่าช้า
อีกหนึ่งนโยบายเร่งด่วน ที่อรรถพลบอกว่า เมื่อเข้ามาเป็น อสส.แล้วจะต้องปรับก็คือการตั้งอัยการเป็น "บอร์ดรัฐวิสาหกิจ" ซึ่งเขายืนกรานว่า ยังจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐต้องมีอัยการเป็นบอร์ดเพื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายกฎหมายให้หน่วยงาน แต่หลังจากนี้จะใช้วิธีใหม่
คือจะทำหนังสือถึงแต่ละองค์กรที่ต้องการอัยการไปเป็นบอร์ดว่าห้ามระบุชื่ออัยการที่จะให้ไปเป็นบอร์ด แต่ให้แจ้งเรื่องมา จากนั้นฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสำนักงาน อสส.จะส่งชื่อไปให้ที่ประชุม ก.อ. 3 คนพิจารณา แล้วให้ ก.อ.ลงมติเลือกมา 1 คนเพื่อส่งชื่อไปเป็นบอร์ด
ดูแล้วแนวคิดนี้ของอรรถพล ก็คงหวังจะไม่ให้มีการ "ล็อกชื่อ" อัยการบางคนไปนั่งเป็นบอร์ดในบริษัทใหญ่ๆ แต่สิ่งสำคัญ ก็อยู่ที่ คณะกรรมการ ก.อ. ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนด้วยถึงขั้นตอนทั้งหมด สังคมจะได้ไม่สงสัยมีการล็อกสเปกกันมาตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง
การผุดแนวคิดนโยบายต่างๆ ข้างต้นเพื่อแก้ปัญหาการทำงานของอัยการ ตัวอรรถพลบอกไว้ว่า แม้จะมีเวลานั่งเก้าอี้ อสส.2 ปี แต่ขอเวลา 6 เดือนเท่านั้น ไม่ต้องรอถึง 2 ปี ศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรอัยการในยุคของเขาจะต้องดีขึ้นกว่าเดิม
“ตั้งใจว่าไม่เกิน 6 เดือน จะทำให้ประชนมีศรัทธาในสำนักงานอัยการสูงสุด และมีความเชื่อมั่นว่าการดำเนินการไม่มีสี ขอแค่ 6 เดือนเท่านั้นเอง ไม่ขอ 2 ปี”
เป็นคำกล่าวที่ใครก็พูดได้ แต่จะสำเร็จหรือไม่ 6 เดือนนับจากนี้ คงมาประเมินกันอีกที ว่า “อรรถพล” ทำได้จริงหรือแค่ราคาคุย !!!