จี้รบ.ไทยเคารพสิทธิพม่า รับผิดชอบผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินทวาย-มาย-กก
เครือข่ายคนเชียงรายฯ ห่วงโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทวาย-มาย-กก มีสารปนเปื้อนผ่านต้นน้ำแม่กก-ก่อหมอกควันข้ามประเทศ 'สมาคมพัฒนาทวาย' ติง รบ.ไทยเคารพสิทธิพม่า รับผิดชอบผลกระทบจากโครงการ
เมื่อเร็วๆ นี้ ในงานประชุม "ทุนไทย ไฟฟ้าพม่า: จริยธรรม กับความรับผิดชอบ" ที่จัดโดย โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) ภายใต้ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ มูลนิธิบูรณะนิเวศและองค์กรเครือข่าย มีการเสวนาระดมความเห็น หัวข้อ "ข้อเสนอต่อการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทวายและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมาย-กก ในพม่า" โดยมี นางจุฑามาศ ราชประสิทธิ์ เครือข่ายคนเชียงรายไม่เอาถ่านหิน ไม่กินน้ำแร่ นายโบ โบ สมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Devolopment Association-DDA) ร่วมแลกเปลี่ยน
นางจุฑามาศ กล่าวว่า แม้ทางจังหวัดเชียงรายจะยุติการตัดถนนและมีความชัดเจนว่า จะไม่มีการขนส่งถ่านหินเข้าสู่จังหวัดเชียงรายผ่านเส้นทางอำเภอแม่ฟ้าหลวง เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวเรียกร้อง ซึ่งขณะนี้ทางเครือข่ายได้เฝ้าระวังว่า จะมีการขนส่งถ่านหินหรือไม่ จะดำเนินการอย่างไร เท่าที่ทราบพบการลักลอบขนส่งบ้าง แต่ไม่ใช่กรณีใหญ่ๆ
"สถานการณ์การสัมปทานเหมืองลิกไนต์มาย-กก ส่งผลให้ชาวชาติพันธุ์ไทยใหญ่ อาข่า และลาหู่บางส่วนต้องอพยพออกจากพื้นที่มาอยู่ชายแดน ทั้งที่อยู่มาเป็นเวลานาน และตั้งความหวังว่า จะกลับไปพื้นที่อาศัยเดิมได้ แม้ยังไม่มีการดำเนินการโครงการต่อ แต่เนื่องจากทุนไทยสัมปทานอยู่ เชื่อว่าจะไม่ละทิ้งผลประโยชน์ตัวเองง่ายๆ ฉะนั้น มั่นใจสูงว่าจะมีการดำเนินงานต่อไปเรื่องเหมืองถ่านหิน"
นางจุฑามาศ กล่าวถึงการจัดทำเหมืองลิกไนต์ โรงไฟฟ้ามาย-กก ที่จะส่งกระแสไฟผ่านเชียงรายเข้าตอนในประเทศ แม้จะชะลอการเซ็นสัญญา คาดว่า ในปี 2557-2558 จะลงนาม ตอนนี้ยังพอมีเวลาให้ข้อมูลชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนเชียงรายกังวลเกี่ยวกับการทำเหมืองลิกไนต์ คือ สารปนเปื้อนที่จะมากับต้นน้ำแม่กก เช่น สารเคมีที่ใช้ละลายถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งจะไหลผ่านแม่น้ำแม่กกที่มีประชาชนเชียงรายนับหมื่นๆ คนใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค แต่กลับไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการปนเปื้อนและจะต้องระมัดระวังอย่างไร
"การทำโรงไฟฟ้าบริเวณขอบเหมือง ห่วงว่าต้นน้ำแม่กกที่จากห่างชายแดนไทยพม่าเพียง 40-50 กิโลเมตร จะส่งผลให้มลภาวะผ่านเข้าในประเทศไทยอย่าแน่นอน เนื่องจากลมจากทางเหนือทางพม่าจะพัดเข้าไทย เช่นเดียวกับสภาวะหมอกควันที่พัดเข้าเชียงราย เชียงใหม่ทุกปี ไม่ได้มาจากการเผาไร่บนภูเขาสูงจากเชียงใหม่เท่านั้น ประเด็นนี้จะมีการควบคุมอย่างไร"
เครือข่ายคนเชียงรายฯ จึงมีข้อเสนอ 2 ส่วน ได้แก่
1.การให้ข้อมูลกับประชาชน ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย 300,000 คนในพื้นที่ติดชายแดนพม่า ที่พบว่ากว่า 2 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดไม่รับทราบข้อมูลว่าจะมีการพัฒนาขนาดใหญ่เกิดขึ้น จึงไม่สามารถให้ความคิดเห็นได้ ขอให้หน่วยงานรัฐ เอกชนหรือหอการค้าเข้ามาให้ข้อมูล อย่างไรก็ตามพบว่า มีการเริ่มทำประชาพิจารณ์บ้างแล้ว ทั้งที่ประชาชนยังไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริง
2.ประสานงานร่วมกันกับเครือข่ายระหว่างพื้นที่เชียงรายกับเครือข่ายในประเทศเพื่อนบ้าน ในเขตรัฐฉาน แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือกัน และเสนอให้จัดทำรายงานศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ และรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมฉบับใหญ่เรื่องการทำถ่านหินและโรงไฟฟ้า ที่ส่งส่งผลกระทบต่อแม่น้ำ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชาติพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยจัดทำ มีเพียงรายงานที่เกี่ยวกับการตัดถนนชายแดนเท่านั้นที่ทำ จึงขอเสนอให้ทำรายงานฉบับนี้ให้เป็นความร่วมมือจากทั้ง 2 ประเทศ เชื่อว่าจะเป็นมาตรฐานที่ดีร่วมกัน
ขณะที่นายโบ โบ กล่าวว่า การสร้างโครงการต่างๆ ที่ไทยไปลงทุนในพม่าอย่างเช่นเหมือง หรือบ่อก๊าซธรรมชาติได้สร้างความขัดแย้งเป็นอย่างมากในประเทศพม่า แม้บางทีรัฐบาลพม่าจะสั่งยกเลิกการสร้างต่อแต่ปัญหาที่พบคือบริษัทเดิมมีการเปลี่ยนชื่อแล้วเข้ามาสร้างใหม่
"ในอีก 2 ปีข้างหน้าที่เกิดประชาคมอาเซียนขึ้นอยากเสนอว่าควรจะมีข้อตกลงกดดันในระดับอาเซียนเกี่ยวกับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ จะมีธนาคาร 2 ยักษ์ใหญ่พยายามจะเป็นธนาคารอาเซียน เป็นธนาคารในภูมิภาค จึงจำเป็นต้องกดดันกลุ่มธนาคารที่จะปล่อยกู้ให้กับโครงการต่างๆ ที่จะเข้ามาสร้างและส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยการพิจารณาปล่อยกู้ต้องดูกฎหมายว่าบริษัทนั้นๆ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายในเรื่องของการประเมินผลกระทบ หรือการเยียวยาชดเชยต่อการสร้างโครงการต่างๆ ในเขตพื้นที่ประเทศพม่าหรือไม่" นายโบ โบ กล่าว และว่า หากพบว่าบริษัทที่เข้ามาลงทุนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายต้องห้ามไม่ให้ทางธนาคารอนุมัติเงินกู้ในการลงทุนเด็ดขาด
"ขอฝากไปถึงรัฐบาลพม่าด้วยว่า แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะทำการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม แต่หลายโครงการที่ผ่านมาประชาชนกลับไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีนโยบายคุ้มครองสิทธิพลเมืองโดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนในท้องถิ่น รวมถึงรัฐบาลไทยเองก็เช่นเดียวกัน การเข้าไปลงทุนธุรกิจก็ควรเคารพสิทธิในประเทศนั้นๆ และควรแสดงความรับผิดชอบต่อโครงการที่มีผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนและประเทศที่เข้าไปลงทุนด้วย"