เอดีบีชี้หากไม่เตรียมพร้อม อีก 20 ปีจีดีพีไทยลด 2% ผลผลิตข้าวหด 50%
ผจก.ธ.ก.ส. แนะ บ.น้ำมันลงทุนร่วมชาวบ้าน ผลิตพืชพลังงานรับมือวิกฤติ ซีพียันควรขยายพื้นที่เพาะปลูกรับอนาคต เอกชนเชื่อศักยภาพการผลิตไทยไม่น่าห่วง ตอกแนวคิดกดราคาอาหารเหมือนไล่ต้อนเกษตรกร
วันที่ 15 มิ.ย. 54 ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนปาร์ค กรุงเทพฯ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดสัมมนา “วิกฤติพืชอาหารบนกระแสพลังงานทางเลือก” โดย ดร.สุวิทย์ เมษิณทรีย์ ผู้อำนวยการสถาบัน SIGA ปาฐกถาความท้าทายของโลกอนาคตว่า วิกฤติที่น่ากลัวที่สุดขณะนี้คือขาดแคลนอาหารและพลังงาน มีสาเหตุหลักจากการเปลี่ยนแปลงของโลกไปทุนนิยเทอร์โบ มีการตักตวงโดยไม่สนใจว่าทรัพยากรจะหมดไป เป็นการพัฒนาที่ขาดสมดุล มีผลกระทบเป็นค่าใช้จ่ายมากมายทางสังคม สิ่งแวดล้อมและภูมิปัญญา เป็นการทำลายเพื่อตอบโจทย์ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างเดียว
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า อีกสาเหตุคือความไม่สมดุลของประชากร เกิดชนชั้นกลางมากขึ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือในเวลาไม่ถึง 10 ปี คาดการณ์ว่าในปีอีก 20 ปีข้างหน้าไทยจะมีชนชั้นกลางเพิ่มอีก 25 ล้านคน ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นเป็น 2 เท่า เช่นเดียวกับราคาพลังงาน คนที่เดือดร้อนมากที่สุดคือคนจน
“สุดท้ายคือเรื่องโลกร้อน ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)ชี้ว่าไทยซึ่งอยู่ใกล้เส้นสูตรจะได้รับผลกระทบเต็มๆ และหากไม่ทำอะไรเลย จีดีพีจะลดลงอย่างน้อย 2% เมื่อเทียบกับจีดีพีโลกที่จะหายไป 5% การผลิตข้าวจะหายไป 50% สะท้อนว่าเรามีความเสี่ยงสูง หากยังยืนยันจะผลิตในกลุ่มใหญ่อย่างเดียวมากขึ้นไทยจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ”
ผู้อำนวยการสถาบัน SIGA กล่าวอีกว่า สิ่งที่ไทยขาดคือนโยบายด้านความมั่นคง มีแต่นโยบายด้านความมั่งคั่ง ยังไม่มีรัฐบาลไหนคำนวณว่าภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นจะสร้างความเสียหายอย่างไร มีมาตรการเตรียมพร้อมรับวิกฤติเหล่านี้แบบไหน ทิศทางของพลังงานและอาหารควรจะตอบโจทย์ให้ชัดว่าจะให้เดินไปคู่ กันอย่างไรด้วย
ทั้งนี้มีการเสวนา “วิกฤติพืชอาหาร บนกระแสพลังงานทางเลือก” โดย นายทวีป พลเสน นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แนวโน้มการใช้พลังงานจะมากขึ้นตามประชากร กระทรวงฯ มีแผน 15 ปีที่เน้นหนักในการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น อย่างไรก็ตามก็ต้องให้ความสำคัญการผลิตอาหารลำดับแรก หากเหลือใช้จึงนำมาใช้เป็นพลังงาน เนื่องจากภาพของเมืองไทยอาหารคือสิ่งสำคัญที่สุด
นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า หากเทียบตัวเลขการนำเข้าพลังงาน4 เดือนแรกในปี 2554 เพิ่มขึ้น 43% กับการส่งออกอาหารที่เพิ่มขึ้นเพียง 22% มีความต่างกันมาก สะท้อนว่าขาดดุลชัดเจน ไทยไม่ควรยืนยันทำพืชอาหารเพียงอย่างเดียวแต่ควรผลิตเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากภายนอกด้วย
“เรามีพื้นที่ 28 ล้านไร่ ปลูกปาล์มได้ 2.8 ตันต่อปีไม่เพียงพอ ถ้าจะให้พอต้องขยายพื้นที่ให้ได้อีก 30 ล้านไร่ ในขณะที่ชลประทานต้องสมบูรณ์ อย่างปลูกข้าวถ้าตันละหมื่นค่อยว่ากัน แต่นี่พันสองพัน ไม่มีแรงจูงใจใดๆเลย ที่พูดแบบนี้ไม่ได้บอกว่าการผลิตเพื่ออาหารไม่สำคัญ เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นแนวโน้มในอนาคต”
นายประวิทย์ ประกฤตศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท เพโทรกรีน จำกัดในกลุ่มน้ำตาลมิตรผล กล่าวว่า ยืนยันว่าไทยเป็นประเทศผลิตอาหารและจะไม่เกิดวิกฤติอย่างแน่นอน เพราะมีศักยภาพการผลิตมากแต่อาจต้องอาศัยยุทธศาสตร์ที่แน่นอน ดังนั้นข้ออ้างเรื่องวิกฤติแล้วบอกให้เกษตรกรผลิตอาหารให้ราคาถูกลงจึงไม่ ค่อยถูกต้องนัก และยังเป็นการผลักคนเหล่านี้ออกนอกภาคเกษตร จริงๆ ราคาอาหารต้องสูงแต่ไม่ต้องสูงมาก ส่วนการผลิตเพื่อพลังงานก็เตรียมไว้เป็นเบาะรองเมื่อราคาตกลงมา
“หลายคนห่วงเรื่องการเพิ่มที่เพาะปลูก ข้อนี้ไม่น่ากังวล ถ้าจัดชลประทานให้ดีปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ อย่าอ้างว่าต้องปลูกปาล์มเพราะวิกฤติพลังงานหรือต้องเพิ่มการปลูกข้าวเพราะวิกฤติอาหาร หากปรับโครงสร้างตรงนี้ได้จะต้องไม่เผชิญกับวิกฤติใดๆเลย”
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า การผลิตอาหารต้องคู่กับไทยไปตลอดแต่วิกฤติพลังงานก็จะเป็นโอกาสดีที่ทำให้เกษตรกรได้เกาะกระแส โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ที่ผ่านมามักกังวลว่าหากทำพืชพลังงานจะผูกขาดโดยนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้น ตนเห็นด้วยที่จะสร้างความมั่นคงของพลังงาน โดยนำที่ดินซึ่งไม่เหมาะกับการปลูกพืชชนิดอื่นมาเป็นพลังงานทดแทนเสีย แต่จะต้องทำโดยเกษตรกรรายย่อยมั่นใจว่าได้ประโยชน์ด้วย
นายลักษณ์ กล่าวต่อว่า การปลูกพืชพลังงานมีค่าลงทุนต่อไร่สูง หากเกษตรกรรายย่อยลงทุนเองโดยขาดองค์ความรู้มีความเสี่ยงสูง บริษัทน้ำมันน่าจะเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ โดยในช่วงต้นอาจมากู้เงิน ธ.ก.ส.ไปลงทุนร่วมกับเกษตรซึ่งเป็นผู้ลงทุนเรื่องที่ดิน แล้วมีข้อตกลงกันว่าจะแบ่งกันเป็นผลผลิตหรือรูปแบบอื่น.