ประเดิมประชาพิจารณ์น้ำเวทีเเรก ‘ศรีสุวรรณ’ ชี้กบอ.งุบงิบ 8 แผนจัดการส่อขัดรธน.
ศรีสุวรรณชี้ประชาพิจารณ์ลำพูนขัดรัฐธรรมนูญ ม. 57 และคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เผยไม่นำแม่บทบริหารจัดการน้ำเข้าสู่กระบวนการรับฟังความเห็น ด้านเครือข่ายภาคประชาชนแนะวิธีทำประชาพิจารณ์เพิ่มอีก 2 ข้อ
ภายหลังคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยตั้ง ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ซึ่งจัดอยู่ในโมดูล เอ 1 เป็นแห่งแรก ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสังเกตถึงการดำเนินงานดังกล่าวไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครอง เมื่อ 27 มิ.ย. 2556 และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรคสอง
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า รัฐบาลอ้างเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2548 ซึ่งรูปแบบที่จ.ลำพูนไม่น่าจะถูกต้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรคสอง และคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่กำหนดให้ กบอ.ต้องนำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 8 แผนงาน ไปรับฟังความคิดเห็นกับประชาชนอย่างทั่วถึง
โดยแผนงานดังกล่าว ประกอบด้วย แผนงานฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ, แผนงานบริหารจัดการเขื่อนเก็บกักน้ำ, แผนงานฟื้นฟูประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้างเดิม, แผนงานระบบคลังข้อมูล ทรัพยากรและการเตือนภัย, แผนงานเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่, แผนงานกำหนดพื้นที่รองรับน้ำ, แผนงานปรับปรุงองค์กรเพื่อการบริหารน้ำ และแผนงานสร้างความเข้าใจ ยอมรับ และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
แต่ปรากฏว่าที่ประชุมฯ มิได้นำแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเลย นอกเสียจากนำรายละเอียดโครงการ 9 โมดูลที่ผ่านการประมูลเรียบร้อยแล้วเข้าสู่กระบวนการเท่านั้น
“กบอ.นำโมดูลไปรับฟังความคิดเห็นจะเกิดประโยชน์ได้อย่างไร เพราะไม่ใช่การรับฟังความคิดเห็น แต่เป็นเพียงการประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาชวนเชื่อ” นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกล่าว และว่า ที่สำคัญแม้จะมีชาวบ้านเข้าร่วมเวทีมากมาย แต่คนส่วนใหญ่มิใช่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในรัศมีสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยตั้ง 5 กิโลเมตร หากเป็นเพียงการจัดตั้งบุคคลเข้ามาเท่านั้น
สำหรับระยะเวลานั้นเปิดรับฟังความคิดเห็นนั้น นายศรีสุวรรณ มองว่า ผู้เข้าร่วมยังมีโอกาสนำเสนอข้อเท็จจริงหรือข้อกังวลที่เป็นประโยชน์เพียงคนละไม่เกิน 3 นาที ซึ่งไม่เพียงพอ นอกจากนี้การจัดเวทีในตัวเมืองลำพูนไม่เหมาะสม แต่ควรจัดในพื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมมากกว่า
อีกทั้งไม่มีการจัดส่งเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วันตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ที่สำคัญเอกสารเหล่านั้นไม่มีรายละเอียดของข้อมูลที่จะแสดงให้เห็นว่าโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตั้งส่งผลกระทบหรือมีมาตรการเยียวยาอย่างไร
เมื่อถามว่า กบอ.รู้หรือไม่ว่ากำลังทำผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย นายศรีสุวรรณ ระบุว่า กบอ.รู้ขั้นตอนรายละเอียดเป็นอย่างดี แต่พฤติการณ์ที่ดำเนินการครั้งแรกส่อให้เห็นว่า กบอ.ต้องการรวบรัดตัดตอน และใช้เป็นข้ออ้างในชั้นศาลว่าได้จัดรับฟังความคิดเห็นกับประชาชนแล้ว ทั้งที่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น
“สมาคมต่อต้านฯ ได้ยื่นเรื่องไว้กับศาลปกครองสูงสุดทั้งหมดแล้ว ส่วนรายละเอียดที่จะปรากฏในทุก ๆ เวทีหลังจากนี้ว่า กบอ.มีความผิดพลาดอย่างไรนั้นจะมีการยื่นเพิ่มเติมต่อไป” นายกสมาคมฯ โลกร้อนกล่าว และว่าการจัดเวทีต่อไปควรเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการทั้งหมดต่อประชาชน เพื่อจะได้มีมาตรการสนับสนุนหรือคัดค้าน ทั้งนี้ ความพยายามของกบอ.ที่ขยายระยะเวลารับฟังความคิดเห็นจากเดิม 9.00-16.00 น. เป็น 8.30-16.30 น. คิดว่ายังไม่เพียงพอ เพื่อประเมินจากประชาชนที่จะเข้าร่วมเวที
ภาคปชช.ชง 2 ข้อเสนอประชาพิจารณ์น้ำ
ขณะที่ นายปรเมศวร์ มินศิริ เครือข่ายภาคประชาชน กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์การทำประชาพิจารณ์เรื่อง โครงการน้ำ 36 จังหวัด โดยเริ่มที่ จ.ลำพูนเป็นจังหวัดแรก ได้สอบถามประชาชนที่เข้าร่วมเวที พบว่าส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่อยู่นอกพื้นที่ซึ่งไม่ทราบรายละเอียดของอ่างเก็บน้ำห้วยตั้ง และไม่ใช่กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากชาวบ้านในเวที ชาวบ้านแจ้งว่ามีคนลงทะเบียนให้ในเว็บไซต์เพื่อให้เข้ามาร่วมเวทีประชาพิจารณ์ รวมทั้งยังมีเงินค่าเดินทางให้อีกคนละ 400 บาท
"แต่ภายหลังมีกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตามเข้ามาร่วมเวทีอีกประมาณ 700 คน แต่ไม่สามารถเข้ามาฟังและแสดงความเห็นได้เนื่องจากลงทะเบียนไม่ทัน ดังนั้นชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบทำได้เพียงนั่งฟังข้อมูลจากการฉายผ่านทีวีด้านหน้าของเวทีเพียงอย่างเดียว"
นายปรเมศวร์กล่าวด้วยว่า แม้จะมีการให้กระทรวงมหาดไทยดูแลเรื่องการทำประชาพิจารณ์โดยให้นำคนที่ได้รับผลกระทบเข้ามาร่วมเวทีนั้น ในทางปฏิบัติกลับเป็นการนำชาวบ้านที่ไม่ได้รับผลกระทบจริงเข้ามาเท่าไร อีกทั้งการเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์ทางเว็บไซต์ยังไม่มีการประกาศอย่างชัดเจน ดังนั้นในเวทีประชาพิจารณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกหลายจังหวัดอยากเสนอให้รัฐบาลปรับรูปแบบของการทำประชาพิจารณ์เพิ่มเติม 2 เรื่องด้วยกัน
เรื่องแรกกระบวนการในการนำคนเข้ามาฟังจะต้องให้สิทธิคนที่ได้รับผลกระทบก่อนตามกฎหมายเข้ามาให้เต็มก่อนแล้วค่อยขยับ หรือกระจายให้คนนอกเข้ามาฟัง เนื่องจากในขณะนี้สิ่งที่ทำอยู่ค่อนข้างสวนทางกันคือให้คนนอกที่ไม่ได้รับผลกระทบเข้ามาฟังแล้วคนในพื้นที่เข้าไม่ได้ ส่วนเรื่องที่สองคือเรื่องการให้ข้อมูล ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความเห็น 2548 ทั้ง 8 ข้อนั้น จะต้องให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างแล้วใครได้ประโยชน์ ทำแล้วมีผลกระทบต่อใครบ้าง ถ้ามีผลกระทบจะลดผลกระทบได้อย่างไร หากลดไม่ได้แล้วจะเยียวยาอย่างไร
“ซึ่งเวทีแรกที่ผ่านมาเป็นการพูดถึงภาพกว้างๆของโมดูลที่จะทำ แต่ไม่พูดเจาะลึกไปในรายละเอียดของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตั้ง พอพูดภาพกว้างเสร็จก็รับฟังความเห็นเลย ไม่มีการชี้แจ้ง แล้วก็ทำให้เกิดการทะเลาะกันระหว่างชาวบ้านที่ต้องการน้ำและไม่ต้องการน้ำ จำกัดเวลาให้แต่ละคนแสดงความเห็นได้เพียงคนละ 3นาที ดังนั้นเชื่อว่าพอลงจากเวทีประชาพิจารณ์ไปชาวบ้านก็ยังได้ข้อมูลที่ไม่กระจ่าง เนื่องจากรับฟังข้อมูลไม่ครบ”
ทั้งนี้ นายปรเมศวร์ยังได้ระบุรายละเอียดชี้แจ้งไว้ในเว็บไซต์ www.poramate.com ด้วยว่า ขอให้ประชาสัมพันธ์การลงทะเบียนทางเว็บไซต์ http://www.wateropm.org ให้แพร่หลายกว้างขวางมากยิ่งขึ้น รวมถึงการทำลิงค์แบบเว็บแบนเนอร์ที่เห็นได้ชัดว่าประชาชนสามารถใช้สิทธิในการลงทะเบียนเข้าร่วมได้จากเว็บไซต์ของรัฐบาลไทย, สำนักนายกรัฐมนตรี, สบอช. และเว็บไซต์คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ เป็นต้น ข้อมูลที่ทำมารับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ควรมีการให้รายละเอียดของปัญหาในพื้นที่และทางเลือกที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ว่ามีอะไรบ้าง ตลอดจนแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ และจัดให้เกิดเวทีสาธารณะเพิ่มเพื่อรับฟังความคิดเห็นในภาพรวมแบบบูรณาการตามลุ่มน้ำเป็นการเพิ่มเติมเป็นภาพใหญ่ต่อไป