ไพโรจน์ พลเพชร: รัฐบาลสั่งปิดถนน 14 เส้น ใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่?
“เมื่อมีการชุมนุมตามหลักรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าผู้ชุมนุมจะคัดค้านนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลหรือคัดค้านกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาล ตราบใดที่เขาชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รัฐจะไปลิดรอนสิทธิเขาไม่ได้”
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ( คปก. ) นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการ คปก. และหนึ่งในผู้ที่ตกเป็นจำเลยร่วมกับนายจอน อึ๊งภากรณ์ เมื่อครั้งปีนรั้วรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2550 เพื่อต่อต้านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการออกกฎหมายพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง
ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีที่รัฐบาลประการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงใน 3 เขตของกรุงเทพมหานครอันนำไปสู่การใช้อำนาจปิดเส้นทางจราจร 14 เส้นทาง ซึ่งแม้ปัจจุบันจะประกาศยกเลิกการปิดเส้นทางจราจรแล้ว แต่การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงในเขตพื้นที่ของกรุงเทพฯ ยังคงอยู่ อีกทั้งในวันที่ 17 ตุลาคม รัฐบาลจะหารือว่าควรประกาศใช้กฎหมายพิเศษฉบับดังกล่าวต่อไปหรือไม่
โดยนายไพโรจน์มองว่าการใช้กฎหมายฉบับนี้อาจจะถือเป็นการใช้อำนาจที่เกินขอบเขต?
“เมื่อมีการชุมนุมตามหลักรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าผู้ชุมนุมจะคัดค้านนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลหรือคัดค้านกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาล ตราบใดที่เขาชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รัฐจะไปริดรอนสิทธิเขาไม่ได้ แต่ปัจจุบันมีการใช้อำนาจไม่สมเหตุสมผล อย่างการชุมนุม 2-3 ครั้งที่ผ่านมา ยังไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเลยแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายนี้จะมีรายละเอียดตามมาคือมีการประกาศว่าปิดพื้นที่ไหนบ้างและมีการมอบอำนาจเจ้าหน้าที่ไปจัดการ เช่นมีการประกาศว่าห้ามใช้เส้นทางต่างๆ และมีการใช้กฎหมายอื่นๆ ได้มากขึ้น"
"โดยกฎหมาย อื่นที่หน่วยงานอื่นเคยใช้ก็จะถูกโอนมาให้อยู่ในอำนาจของศูนย์บัญชาการที่ถูกตั้งขึ้นมา ซึ่งมีอำนาจในการออกคำสั่งได้หมด ใช้กฎหมายได้อย่างเต็มที่ เช่นในการประกาศครั้งหลังสุดที่เกิดขึ้น ในสถานการณ์นี้เจ้าหน้าที่สามารถใช้กฎหมายต่างๆ ได้อย่างเต็มที่อีก 18 ฉบับ ซึ่งคนไม่ค่อยรู้ เพราะโดยหลักของ พ.ร.บ.ความมั่นคงก็คือเมื่อเขาประกาศตูมขึ้นมา กอ.รมน. หรือกองกำลังที่เขาตั้งขึ้นจะใช้อำนาจแทนได้เลยและสั่งให้หน่วยงานอื่น ข้าราชการอื่นๆ มาขึ้นตรงได้หมด”
ดังนั้น ด้วยอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอยู่เต็มเปี่ยมขณะประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง นายไพโรจน์จึงมองว่าเป็นการใช้อำนาจที่ไม่เคารพหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักรัฐธรรมนูญ อีกทั้งรัฐบาลนี้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กลับไปยอมรับกฎหมายที่เอื้อต่อการเป็นเครื่องมือในการใช้อำนาจ
นอกจากนี้นายไพโรจน์เห็นว่าการฟ้องร้องขอให้ศาลตรวจสอบการใช้อำนาจ พ.ร.บ.ความมั่นคง ก็ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจและท้าทาย เพราะเมื่อรัฐบาลอ้างว่าเป็นกฎหมายพิเศษ เป็นกฎหมายความมั่นคง ดังนั้น ศาลจะสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
“นี่จึงถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะถ้าตรวจสอบไม่ได้ เมื่อมีการชุมนุมครั้งต่อๆ ไป รัฐบาลก็จะใช้กฎหมายนี้เรื่อยๆ ทั้งที่โดยหลักการแล้วกฎหมายนี้อยู่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญและต้องไม่มีกฎหมายใดเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ หลักการมันควรจะเป็นเช่นนั้น การใช้อำนาจไม่ควรจะเหนือรัฐธรรมนูญตราบใดที่เขายังใช้สิทธิเสีภาพโดยสงบ กฎหมายนี้ไม่ควรจะไปละเมิดสิทธิเสรีภาพ และสิ่งที่น่าห่วงที่สุดคือการไปปิดล้อมผู้ชุมนุมทั้งที่ชุมนุมโดยสงบ แต่เจ้าหน้าที่กลับมีการทำบังเกอร์ปิดล้อม ไม่ให้อาหารและไม่ให้ส่งอาหาร ซึ่งตนคิดว่าเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุที่รุนแรงมาก เขาไม่ให้ใช้ห้องน้ำห้องส้วม ทั้งที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน การประกาศใช้กฎหมายนี้มันจึงเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต ไปคุกคามเขาทั้งที่ผู้ชุมนุมเขายังไม่มีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรง ซึ่งหากมีแนวโน้มว่าจะรุนแรง รัฐก็สามารถควบคุมได้อยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการขนาดนี้ มาตรการปรกติก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าเขาชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ การที่คุณจะไปใช้อำนาจ ไปจำกัด คุกคาม ทำลายการชุมนุมนั้นทำไม่ได้ มันขัดกับรัฐธรรมนูญ”
นายไพโรจน์กล่าวถึงรายละเอียดและที่มาของ พ.ร.บ. ความมั่นคงและสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตนตัดสินใจเข้าร่วมต่อต้านกระทั่งต้องปีนรั้วรัฐสภาเพื่อบุกไปยังหน้าห้องประชุมสนช. ว่า
“กฎหมายนี้ถูกประกาศใช้โดย สนช. ในรัฐบาลของพลเอก สุรยุทธ์ (จุลานนท์) พวกผมก็ไปคัดค้านก็โดนคดีอยู่จนวันนี้ โดยลึกๆ แล้ว เหตุผลจริงๆ ของกฎหมายนี้คือการสืบทอดอำนาจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) หรือทหาร ให้มีบทบาทในการทำงาน ซึ่งเดิมที กอ.รมน. นั้นถูกจัตตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้พรรคคอมมิวนิสต์โดยตรงในอดีต เมื่อกฎหมายคอมมิวนิสต์ถูกยกเลิกไป กอ.รมน.ก็ไม่ค่อยมีอำนาจ เขาจึงผลักดันให้มีอำนาจและถูกผลักดันในรัฐบาลสุรยุทธ์ ที่มีการจัดตั้ง กอ.รมน. ขึ้นมาในระเบียบสำนักนายกฯ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ กอ.รมน. แล้วเสนาธิการทหารบกเป็นเสนาธิการ กอ.รมน. มีกองทัพภาค จังหวัด อยู่ในโครงสร้างอำนาจที่มีทหารจัดตั้ง ซึ่งการจัดตั้งโครงสร้างก็มีอยู่ในเนื้อหากฎหมาย”
“ตอนที่จะมีการพิจารณากฎหมายนี้ที่ สนช. พวกผมก็ไปชุมนุมคัดค้านกันที่รัฐสภา เราก็ปีนเข้าไปในสภา เพื่อไปคัดค้านที่หน้าห้องประชุมว่าไม่เห็นด้วยกับกฏหมายฉบับนี้ และประกอบกับตอนนั้นมันเหลืออีกแค่ไม่กี่วันก็จะมีการเลือกตั้ง ดังนั้น กฎหมายที่มีผลกระทบต่อเสรีภาพของประชาชนก็ควรใช้สภาที่มาจากการเลือกตั้ง มาออกกฎหมาย แต่การคัดค้านก็ไม่ประสบความสำเร็จ เขาก็ออกกฎหมายนี้ เราก็โดนข้อหา ถูกแจ้งความ ศาลอาญาเพิ่งตัดสินว่ามีความผิดให้รอลงอาญา”
นายไพโรจน์กล่าวถึงเหตุผลสำคัญในการบุกสภาเพื่อต่อต้าน พ.ร.บ.ความมั่นคงด้วยว่าเนื่องจากมองเห็นตั้งแต่ต้นว่าการสืบทอดอำนาจทหารและการใช้กฎหมายนี้จะไปคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน
“ที่เห็นได้ชัดก็คือจากนั้นมา มันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ถูกนำไปใช้จัดการกับความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งเราก็คาดการณ์ไว้แบบนี้และมันก็เกิดขึ้นจริง เพราะประกาศใช้มา 25 ครั้งแล้ว และผมเชื่อว่าทุกรัฐบาลก็จะใช้ ไม่มีรัฐบาลไหนที่ไม่ใช้ ตอนนี้มีทางเดียว ต้องยกเลิกกฎหมายหรือต้องเสนอให้มีการแก้กฎหมายฉบับนี้”
นายไพโรจน์อธิบายว่าอำนาจของ พ.ร.บ.ความมั่นคง นั้น หลักสำคัญประการหนึ่งคือประกาศใช้เมื่อมีสถานการณ์ที่เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่กระทบความมั่นคงแต่ยังไม่รุนแรงถึงขั้นประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ( พรก.ฉุกเฉิน ) และเป็นสถานการณ์ที่ต้องมีแนวโน้มว่าจะอยู่นานและอยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน จึงประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งกลายเป็นข้อถกเถียงว่าสำหรับการชุมนุมโดยสงบตามสิทธิในรัฐธรรมนูญนั้น การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงมีความจำเป็นหรือไม่ อีกทั้งส่วนใหญ่ก็จะประการก่อนที่จะมีการชุมนุม หรือประกาศใช้โดยที่ยังไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งตนเห็นว่าหน่วยงานในการดูแลความสงบเรียกร้อยไม่ควรใช้ทหาร เพราะการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงนี้ แม้รัฐบาลปัจจุบันจะมีการตั้งศอ.รส. ที่มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้บัญชาการหลักแต่เมื่อความุรนแรงถูกยกระดับก็สามารถขอใช้กำลังทหารสนับสนุนได้ ดังกรณีรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มอบอำนาจให้ทหารควบคุมสถานการณ์ ดังนั้น นายไพโรจน์เห็นว่าเมื่อมีผู้ที่การคัดค้านการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ควรต้องคัดค้านรัฐบาลทุกรัฐบาลที่ใช้กฎหมายฉบับนี้ด้วย
“ผมมองว่าทุกรัฐบาล การเคารพสิทธิในการชุมนุมแต่ละครั้งจะเป็นตัวชี้วัดได้ว่ารัฐบาลนั้นๆ มีความเข้าใจในเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยมากแค่ไหน ในครั้งนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลก็สอบตก เหมือนกับที่เราคัดค้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ใช้อำนาจต่อการชุมนุมเกินขอบเขต เราก็ต้องคัดค้านทุกรัฐบาลที่ใช้อำนาจเกินขอบเขตด้วย เพราะนี่เป็นตัวชี้วัด ประชาธิปไตยในสังคม ประชาธิปไตยมันหมายถึงการต้องเคารพเสรีภาพของประชาชนเป็นพื้นฐาน โดยเฉพาะเมื่อเขาใช้เสรีภาพและมีความรับผิดชอบ ไม่คุกคามชีวิตคนอื่น ในสถานการณ์การชุมนุมโดยสงบ การใช้อำนาจนี้มันเป็นการจำกัดสิทธิ์การชุมนุม มันเป็นการใช้อำนาจที่เกินเลยไป และจริงๆ แล้ว ถ้าอ้างว่าผู้ชุมนุมเขาปิดการจราจร รัฐก็สามารใช้กฎหมายปกติได้ ถ้าเขาปิดจราจรก็เจรจาให้เปิดได้ แต่ครั้งนี้กลับประกาศปิดเส้นทาง โดยที่คนเหล่านี้ยังอยู่กับที่เขายังไม่ได้ใช้เส้นทางเหล่านั้นด้วยซ้ำ นี่เป็นการใช้อำนาจที่ผิด”
นายไพโรจน์กล่าวว่าในระยะหลังมานี้ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคง ควบคุมการชุมนุม สะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวกลายเป็นเครื่องมือของรัฐในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ตรวจสอบไม่ได้ เช่น มีคนเคยเสนอไปที่ศาลว่าเป็นการใช้อำนาจนเกินขอบเขตหรือไม่ ศาลก็อ้างว่าเป็นการประกาศใช้เพราะมีหลักฐานจากการรายงานข่าวซึ่งการรายงานข่าวมันไม่ใช่หลักฐานประจักษ์
“นี่เขาแค่จะเดินทางไป ยังไม่ทันได้ไปด้วยซ้ำก็ปิดเส้นทาง 14 สาย คือถ้าเขาจะเคลื่อนทำไมคุณกั้นไม่ได้ มันต้องมีพยานหลักฐานที่ประจักษ์ มีให้เห็น ไม่ใช่ทึกทักเอาจากการรายงานข่าวและคุณต้องทำให้ประจักษ์ให้ได้ว่าเขาชุมนุมโดยไม่สงบอย่างไร เขาเป็นภัยคุกคามอย่างไร คือถ้าข้อเรียกร้องของเขาเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลหรือเรียกร้องให้รัฐบาลออกไป ผู้ชุมนุมเขาทำได้โดยสันติวิธีนะครับ เขาเรียกร้องและเสนอต่อสาธารณะได้ ขึ้นอยู่กับสาธารณะว่าจะเห็นด้วยกับเขาหรือไม่ ถ้าสาธารณะไม่เห็นด้วย เขาก็ฝ่อไปเอง”
ส่วนการปิดเส้นทางการจราจร 14 เส้นทางที่ผ่านมานั้น นายไพโรจน์มองว่าถ้ารัฐอ้างเรื่องการกีดขวางการจราจร รัฐก็สามารถใช้มาตรการเจรจราเพื่อให้มีการเปิดเส้นทางได้อยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงที่เป็นการใช้อำนาจไม่สมเหตุสมผล
“กฎหมายนี้เมื่อใช้บ่อยเข้าๆ มันก็ทำให้เสรีภาพทางการชุมนุมเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อมีผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลหากจะชุมนุมเพื่อเรียกร้องว่ารัฐบาลมีความไม่ชอบธรรม สิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดไม่ได้อีกแล้ว เพราะเสรีภาพในการชุมนุมคือการสื่อสาร กับสังคม เป็นการชุมนุม รวมหมู่ เพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อให้สาธรณะรับรู้ว่าไม่พอใจกับการบริหารของรัฐบาล ดังนั้น เมื่อรัฐไปจำกัด บีบคั้น มันก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง ทำให้คนคับข้องใจและอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ ซึ่งผมว่าสังคมไทยมันบอบช้ำกับความรุนแรงมามากพอแล้ว ดังนั้น การประกาศใช้กฎหมายนี้มันจึงกลายเป็นความเคยชิน ของผู้ใช้อำนาจ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งก็จะประกาศใช้ทุกครั้งที่มีการชุมนุม เพราะเขาเห็นว่ามันสามารถควบคุม จำกัด การชุมนุมได้อย่างมีประสิทธิผล แม้จะขัดกับหลักเสรีภาพทางการชุนุมตามรัฐธรรมนูญ เขาก็ไม่สนใจการใช้กฎหมายฉบับนี้ มันจึงผิดเจตนารมณ์มาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว”
ผู้สื่อข่าวถามว่านายไพโรจน์มีความเห็นอย่างไรที่ในวันที่ 17 ตุลาคม นี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการหารือว่าควรต่ออายุการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงหรือไม่
นายไพโรจน์ตอบว่า
“ถ้าเขาชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ มันก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะประกาศใช้กฎหมายที่ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพ ถ้าใช้มันก็ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์หรือการแสดงออกทางการเมืองที่อาจนำพาไปสู่ความรุนแรง เรามีบทเรียนความรุนแรงจากปี 2553 มาแล้ว จะนับศพกันใหม่หรือ มันไม่ควรเป็นเช่นนั้น เรามีทางออกจากความรุนแรงได้ไม่ใช่ทำไม่ได้ บทเรียนที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ รัฐบาลชุดนี้ก็น่าจะเข้าใจดี ดังนั้น ก็อย่าสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เราก็เพิ่งจะผ่าน 40 ปี 14 ตุลาฯ มาเมื่อไม่กี่วันนี้เอง ควรจะตระหนักว่าการต่อสู้ทางการเมืองทำได้ การจัดการของรัฐควรทำด้วยสันติ มันจึงจะเป็นการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย 40 ปีที่ผ่านมาของเราด้วยว่าเราทำได้ เราเติบโตพอแล้ว สุขุม รอบคอบ เข้าใจลึกซึ้งในประชาธิปไตยมากขึ้น เพื่อให้จิตวิญญาณของประชาธิปไตยมันเป็นจริงขึ้นมาได้ด้วยการกระทำที่เป็นจริง ไม่ใช่ด้วยการพูด”
นอกจากนี้ นายไพโรจน์กล่าวทิ้งท้ายถึงปัจจัยชี้วัดบางประการที่รัฐบาลมีต่อกลุ่มผู้ชุมนุม นับแต่เหตุการณ์ในอดีตอย่าง 14 ตุลาคม 2516 กระทั่งการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในวันนี้ว่า “ถ้ารัฐบาลไม่ชอบธรรมก็จะหวั่นไหวต่อการชุมนุม เมื่อรัฐบาลหวั่นไหวก็จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อการชุมนุม ดังนั้น มันสะท้อนได้ว่าการเคารพประชาธิปไตย เคารพการชุมนุมโดยสงบของประชาชน ยังกระท่อนกระแท่นในสังคมไทย และส่วนใหญ่จบลงโดยการใช้ความรุนแรง เพราะรัฐเชื่อว่าการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาได้"
"แต่สรุปแล้ว มันแก้ปัญหาไม่ได้ โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจากฝ่ายไหน มันไม่ได้ทำให้ประชาธิปไตยยั่งยืนได้จริง” นายไพโรจน์ระบุ