เปิดตัวเลข“งบจ้างที่ปรึกษา”สำนักนายกรัฐมนตรี 13 ปี ใช้แค่ 2.1 พันล้าน?
ถึงคิว เปิดตัวเลขงบจ้างที่ปรึกษา สำนักนายกฯ 13 ปี ใช้ไปแล้ว 2.1 พันล้าน สำนักงาน ก.พ. ได้มากสุด 1.2 พันล้าน- “วัชระ” ตั้งกระทู้ถาม “วราเทพ” ตอบ ยัน ไม่มีค่าจ้างที่ปรึกษาตปท.
นอกเหนือจากการตั้งกระทู้ถามของ นายวัชระ เพชรทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ถึงตัวเลขการใช้งบราชการลับ ของ นายกรัฐมนตรี ในช่วงปี 2554-2556
อันนำมาสู่คำตอบที่ว่า ในแต่ละปีนายกฯ มีงบประมาณส่วนนี้ ไม่เกินหลักล้านบาท และเม็ดเงินส่วนนี้ ถูกนำไปใช้จ่ายในภารกิจที่สำคัญหลายประการ อาทิ แก้ปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยาเสพติด กลุ่มอิทธิพล ก่อการร้ายสากล ความยากจน ด้านการข่าว การทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
โดยมีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา
(อ่านประกอบ:อยากรู้ไหม“ยิ่งลักษณ์”มี"งบลับ"ใช้ในมือปีละเท่าไร-เอาไปทำอะไรบ้าง?)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน นายวัชระ เพชรทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ยังได้ตั้งกระทู้ถามถึง เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเกี่ยวกับการว่าจ้างที่ปรึกษาสำหรับแผนงาน โครงการด้านต่าง ๆ ของสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐวิสาหกิจในสังกัด ต่อนายกรัฐมนตรีด้วย
โดยกระทู้ดังกล่าว นายวัชระ เพชรทอง ระบุว่า ปัจจุบันสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐวิสาหกิจในสังกัด ได้จัดทำแผนงาน โครงการที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาของสังคมที่สลับซับซ้อน และส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมถึงรัฐวิสาหกิจในสังกัด ต้องว่าจ้างที่ปรึกษา แผนงาน โครงการที่ได้จัดทำขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับงานประจำ เช่น การออกแบบทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม การควบคุมและจัดการก่อสร้าง การศึกษาวิเคราะห์เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อจัดทำนโยบายแนวทางการแก้ไขปัญหาแผนการดำเนินงานในระดับต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
เช่น การจัดทำแผนโครงสร้างขององค์กร การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การทำแผนหลักการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของพื้นที่เฉพาะ การจัดทำแผนหลักในการพัฒนาทรัพยากรน้ำ การจัดทำระบบดำเนินธุรกิจ และระบบการจัดการด้านการเงินขององค์กรการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเพื่อจัดทำแผนการลงทุนดำเนินโครงการ การตรวจสอบวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะทางวิศวกรรมการจัดการและบริหารโครงการ (ไม่ใช่โครงการก่อสร้าง) การสำรวจข้อมูลทางวิชาการ การจัดทำแผนหลักและการพัฒนาระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบข้อมูลเพื่อการจัดการ
ซึ่งจำเป็นต้องว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระ ที่ปรึกษานิติบุคคล ที่ปรึกษาต่างประเทศ ในการว่าจ้างที่ปรึกษาดังกล่าว ต้องใช้จ่ายงบประมาณในการว่าจ้างตามระเบียบของทางราชการกำหนด ซึ่งหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัดบางแห่งของสำนักนายกรัฐมนตรีมีการว่าจ้างที่ปรึกษาโดยมิได้มอบหมายภารกิจให้ดำเนินการในเรื่องใด ๆ ซึ่งทำให้สูญเสียงบประมาณของทางราชการโดยไม่จำเป็น และอาจเป็นช่องทางในการทุจริตงบประมาณแผ่นดินได้
จึงขอเรียนถามว่า
๑. รัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินงบประมาณในแต่ละปีในการว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระ ที่ปรึกษานิติบุคคลในส่วนของกลุ่มงานวิชาชีพทั่วไป กลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ กลุ่มงานเชี่ยวชาญเฉพาะ ของสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งรัฐวิสาหกิจในสังกัด ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๔๔ ถึงปีงบประมาณ ๒๕๕๖เป็นจำนวนเงินเท่าใด หน่วยงานใดหรือบริษัทใด (โดยแยกตามกลุ่มงาน) ขอทราบโดยละเอียด
๒. รัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินงบประมาณในแต่ละปีในการว่าจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศ ชื่ออะไร(ถ้ามี) ของสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งรัฐวิสาหกิจในสังกัด ในส่วนของกลุ่มงานบริหารจัดการกลุ่มวิชาชีพ ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ การเงินและสถาปนิก ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๔๔ถึงปีงบประมาณ ๒๕๕๖ เป็นจำนวนเงินเท่าใด (โดยแยกตามกลุ่มงานและกลุ่มวิชาชีพ) ขอทราบโดยละเอียด
๓. รัฐบาลมีนโยบายหรือมาตรการที่จะลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการว่าจ้างที่ปรึกษาของสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งรัฐวิสาหกิจในสังกัดหรือไม่ อย่างไร หากไม่มี เพราะเหตุใด ขอทราบรายละเอียดขอให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา
เบื้องต้น นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้ตอบกระทู้ถาม เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเกี่ยวกับการว่าจ้างที่ปรึกษาสำหรับแผนงานโครงการด้านต่าง ๆ ของสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐวิสาหกิจในสังกัด ได้ตอบคำถามกระทู้นี้
โดยมีรายละเอียดดังนี้
คำตอบข้อที่ ๑
ขอเรียนว่า จากข้อมูลของสำนักงบประมาณทราบว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๕๖ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการว่าจ้างที่ปรึกษาสำหรับแผนงานโครงการด้านต่าง ๆ ของสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวนทั้งสิ้น ๒,๑๒๕.๑๒๑๔ ล้านบาท ประกอบด้วย
๑. กลุ่มงานวิชาชีพทั่วไป ในส่วนของกลุ่มงานบริหารจัดการ จำนวน ๑,๖๙๗.๘๐๙๙ ล้านบาท
ดังนี้
๑.๑ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ๓๑๙.๕๔๙๓ ล้านบาท
๑.๒ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ๓๖.๘๘๗๓ ล้านบาท
๑.๓ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ๘๖.๑๓๔๐ ล้านบาท
๑.๔ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ๑,๒๕๓.๖๘๓๔ ล้านบาท
๑.๕ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ๑.๕๕๖ ล้านบาท
๒. กลุ่มวิชาชีพเฉพาะ จำนวน ๔๒๗.๓๑๑๕ ล้านบาท ดังนี้
๒.๑ กลุ่มวิชาชีพด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ๒๖.๔๖๒๐ ล้านบาท
๒.๒ กลุ่มวิชาชีพด้านเศรษฐศาสตร์
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ๒๘๔.๑๓๐๑ ล้านบาท
๒.๓ กลุ่มงานด้านการจัดทำมาตรฐานอาชีพ
- สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ๖๖.๕๒๔๔ ล้านบาท
๒.๔ กลุ่มงานด้านสังคม
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ๕๐.๑๙๕๐ ล้านบาท
คำตอบข้อที่ ๒
ขอเรียนว่า จากข้อมูลของสำนักงบประมาณทราบว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๔ถึงปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๕ สำนักนายกรัฐมนตรีมิได้มีการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับการว่าจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศ แต่อย่างใด
คำตอบข้อที่ ๓
ขอเรียนว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ตามความเหมาะสมจำเป็น ตามนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย สำหรับค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษาแต่ละปีนั้น ได้พิจารณาจัดสรรให้ตามความจำเป็นของหน่วยงาน โดยคำนึงถึงองค์ประกอบ ดังนี้
๑. หน่วยงานไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถในสาขาวิชาชีพที่ต้องการเพียงพอ หรือจำเป็นต้องใช้บุคคลที่มีความรู้หลายด้าน หรือเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ไม่เพียงพอดำเนินงาน
๒. หน่วยงานต้องการข้อคิดเห็นจากที่ปรึกษา ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก (Second Opinion)ซึ่งเสนอความเห็นได้อย่างอิสระและปราศจากอคติ เพื่อพิจารณาประกอบข้อคิดเห็นสำหรับเรื่องที่มีความสำคัญระดับสูง หรือเพื่อวิเคราะห์ปัญหาที่มีแนวคิดที่แตกต่างจากแนวคิดในกรอบราชการ
๓. หน่วยงานไม่ต้องการเพิ่มกำลังคน ทั้งนี้ เนื่องจากภารกิจนั้นมีเป็นครั้งคราว