- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- อยากรู้ไหม“ยิ่งลักษณ์”มี"งบลับ"ใช้ในมือปีละเท่าไร-เอาไปทำอะไรบ้าง?
อยากรู้ไหม“ยิ่งลักษณ์”มี"งบลับ"ใช้ในมือปีละเท่าไร-เอาไปทำอะไรบ้าง?
เปิดงบราชการลับในอุ้มมือนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ใช้จ่ายจิ๊บๆ ปีละไม่เกินหลักล้าน วราเทพ ระบุใช้ประโยชน์หลายประการ แก้ปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยาเสพติด กลุ่มอิทธิพล ก่อการร้ายสากล ความยากจน ด้านการข่าว พ่วงทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย แต่เปิดเผยรายละเอียดไม่ได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำตอบของตัวแทนฝ่ายรัฐบาลจากกระทู้ถามเกี่ยวกับเงินราชการลับหรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับเงินราชการลับ ของ นายวัชระ เพชรทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา
โดยนายวัชระ ตั้งกระทู้ถามว่า
“เงินราชการลับหรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับเงินราชการลับ หมายถึง เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่กำหนดให้เป็นเงินราชการลับหรือที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเพิ่มเติมให้เป็นเงินราชการลับ หรือเป็นเงินที่ใช้จ่ายดำเนินงานในลักษณะปกปิดเพื่อความมั่นคงของประเทศ ทั้งในด้านการทหาร เศรษฐกิจการเมือง สังคม และเทคโนโลยี โดยกำหนดไว้สำหรับแต่ละส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจประเภทงบรายจ่ายอื่น นอกจากนี้เงินราชการลับยังอาจจะเกิดขึ้นได้จากการโอนงบประมาณรายจ่ายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 169 วรรคสอง และวรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550ในกรณีเกิดภาวะสงครามหรือการรบ และการโอนงบประมาณตามกฎหมายวิธีการงบประมาณในส่วนของการเบิกจ่ายเงินราชการลับนั้น เป็นรายจ่ายที่เบิกได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เพราะไม่ต้องมีใบเสร็จ ไม่ต้องทำฎีกาเบิก จึงมักเกิดการครหา ทุกครั้งที่มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายในส่วนของเงินราชการลับให้แก่ส่วนราชการต่าง ๆ เพราะอาจเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้ จึงขอเรียนถามว่า
1. ในอดีตตั้งแต่มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีและได้เริ่มจัดสรรงบประมาณรายจ่ายในส่วนของเงินราชการลับหรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับเงินราชการลับขึ้นจนถึงปัจจุบัน (งบประมาณประจำปี 2556) ในแต่ละปีงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวให้แก่ส่วนราชการใดเป็นจำนวนเงินเท่าใด และแต่ละส่วนราชการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวในแต่ละปีงบประมาณมีเงินรายจ่ายดังกล่าวคงเหลือบ้างหรือไม่ อย่างไร หากส่วนราชการใดใช้จ่ายงบประมาณมีเงินคงเหลือจะต้องทำอย่างไร ขอทราบโดยละเอียด
2. งบประมาณประจำปี 2554 ปี 2555 และปี 2556 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายในส่วนของเงินราชการลับหรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับเงินราชการลับให้แก่ส่วนราชการต่าง ๆมากน้อย หรือเท่าเดิมด้วยเหตุผลหรือความจำเป็นใด หากไม่มีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวให้แก่ส่วนราชการต่าง ๆ ที่เคยได้รับจัดสรรฯ ส่วนราชการที่เคยได้รับจัดสรรฯ สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการให้บังเกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติได้หรือไม่ อย่างไร ขอทราบโดยละเอียด
3. ในปีงบประมาณถัดไปหรือในอนาคต เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะไม่สนับสนุนให้มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายและจัดสรรงบประมาณรายจ่ายในส่วนของเงินราชการลับหรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับเงินราชการลับให้แก่ส่วนราชการต่าง ๆ อีกหรือไม่ ขอทราบโดยละเอียด
ขอให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา
จากนั้น นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งระบุว่าได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้ตอบกระทู้ถาม เรื่อง เงินราชการลับหรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับเงินราชการลับ ได้ตอบกระทู้ดังนี้
คำตอบข้อที่ 1
ขอเรียนว่า จากข้อมูลของสำนักงบประมาณทราบว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2523 กำหนดให้มีการตั้งงบประมาณเงินราชการลับเฉพาะสำนักนายกรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และกรมตำรวจ และในส่วนเงินราชการลับของกระทรวงยุติธรรม (กรมสอบสวนคดีพิเศษ)ตั้งตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อให้นายกรัฐมนตรีกำกับการใช้จ่ายเงินราชการลับให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และแผนการปฏิบัติงาน ตามนัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้จ่ายงบประมาณเงินราชการลับ พ.ศ. 2547 ซึ่งระหว่างช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2544 - พ.ศ. 2556มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายในส่วนของเงินราชการลับไว้ที่ 5 หน่วยงาน ดังนี้
คำตอบข้อที่ 2
ขอเรียนว่า จากข้อมูลของสำนักงบประมาณทราบว่า การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายในส่วนของเงินราชการลับหรือเงินที่มีลักษณะเดียวกับเงินราชการลับให้แก่ส่วนราชการต่าง ๆ ได้พิจารณาตามภารกิจที่จำเป็นต้องดำเนินการในลักษณะปกปิด เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีโดยการใช้จ่ายงบประมาณเงินราชการลับจะต้องดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้งบประมาณเงินราชการลับพ.ศ. 2547 ซึ่งกำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดสรรและการใช้จ่าย โดยกำหนดให้ส่วนราชการจะขอรับการจัดสรรงบประมาณเงินราชการลับให้กระทำได้ในภารกิจ ดังนี้
(๑) ภารกิจด้านความมั่นคงและการป้องกันราชอาณาจักร
(๒) ภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
(๓) ภารกิจด้านการข่าว
(๔) ภารกิจอื่นที่มีลักษณะปกปิด เพื่อประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือโดยสภาพ
แห่งเทคโนโลยี
การดำเนินการดังกล่าวให้กระทำโดยให้ส่วนราชการจัดทำแผนปฏิบัติงาน และการจัดสรรงบประมาณเงินราชการลับให้กระทำได้ภายในวงเงิน วัตถุประสงค์ และตามวิธีการใช้จ่ายตามแผนปฏิบัติงานที่นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ
ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณตามแผนการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในปีงบประมาณพ.ศ.2554 - 2556 ดังนี้
ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๔ จำนวน ๗๙๕.๖๓๕๐ ล้านบาท
ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๕ จำนวน ๙๙๗.๖๓๕๐ ล้านบาท
ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖ จำนวน ๑,๐๑๗.๖๓๕๐ ล้านบาท
คำตอบข้อที่ 3
ขอเรียนว่า จากข้อมูลของสำนักงบประมาณทราบว่า เงินราชการลับ ใช้สำหรับการปฏิบัติภารกิจที่จำเป็นและไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งจะต้องดำเนินงานในลักษณะปกปิด เพื่อความมั่นคงของประเทศ ทั้งในด้านการทหาร เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเทคโนโลยี โดยที่ประเทศไทยมีอาณาเขตติดกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีระบอบการปกครองและสภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน และปัจจุบันเป็นยุคโลกาภิวัตน์ ปรากฏการณ์ของประเทศใดประเทศหนึ่ง จะมีผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถพัฒนามากขึ้น ประชาชนสามารถติดต่อกันได้ทั่วโลกส่งผลกระทบและสร้างปัญหากับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ได้แก่ 1) ด้านความมั่นคง เช่น ปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหายาเสพติด กลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ การสู้รบตามแนวชายแดน การก่อการร้ายสากล 2) เศรษฐกิจและสังคม เช่น ปัญหาทุจริต คอร์รัปชั่น และปัญหาความยากจนอันเนื่องมาจากการเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม การลักลอบขนของหนีภาษี การหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักและเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาประเทศ
ดังนั้น การตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่าย ในการดำเนินภารกิจของส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมากและจะต้องปฏิบัติการในทางลับไม่สามารถเปิดเผยได้ จึงยังคงมีความจำเป็น ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติเป็นหลัก