"เดชา ศิริภัทร" จี้ชาวนาเลิกคบรบ.พาล หยุดพายเรือให้โจรนั่ง
ปธ.มูลนิธิขวัญข้าว กระตุ้นชาวนาไทยหันพึ่งตนเอง แทนการร้องขอรัฐอุุ้ม ฉะคนทำกรรมกับภาษีชาติ โกงคนจน สวล. บาปมหาศาล ด้านเกษตรกรภาคเหนือ แนะรัฐลดทิฐิ คิดใหม่นำเงินที่เสียไปจากจำนำข้าว มาทำระบบชลประทาน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย จัดงานรำลึก 100 ปี ชาตกาล อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โครงการอาจารย์ป๋วย จริยธรรม กับการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ในชื่อ "มหากาพย์จำนำข้าว สู่มหกรรมกอบกู้สุจริต" ความรับผิดชอบทางจริยธรรมเป็นความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ:ป๋วย อึ้งภากรณ์” ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โกงคนจน โกงสวล.บาปมหาศาล
ในเวทีเสวนา ‘ทางออกที่สุจริตเพื่อกอบกู้วิถีข้าวไทยในอนาคต’ นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิขวัญข้าว กล่าวถึงโครงการจำนำข้าวว่า โครงการจำนำข้าว เป็นโครงการที่ให้ประโยชน์กับรัฐบาล โดยประโยชน์ส่วนหนึ่งอยู่ที่ชาวนา และอีกส่วนหนึ่งให้พรรคพวกตนเอง เปรียบเป็นวัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง ซึ่งปรากฏให้เห็นแล้วว่า จำนำข้าวกรรมการเอาประโยชน์มากกว่าครึ่ง ส่วนชาวนาเป็นผู้ส่งเสริมให้มีโครงการจำนำข้าว ก็เหมือนกับ ‘การพายเรือให้โจรนั่ง’
สำหรับวิธีปฏิบัติเพื่อการอยู่รอดของชาวนาจะต้องรู้เท่าทันโครงการจำนำข้าวว่า รัฐบาลคิดอย่างไร ซึ่งต้องใช้ปัญญาหลักมงคลสูตร โดยเฉพาะข้อแรก ‘อย่าคบคนพาล’ ซึ่งจะเห็นว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นพวกวาจาทุจริต (โกหก) เพราะขนาดชื่อโครงการยังโกหกแล้ว เนื่องจากหากเป็นการรับจำนำจริง ๆ จะต้องจำนำถูกกว่าราคาขายและเอาคืนได้ จึงถือว่าชาวนาคบคนโกหกเป็นคนพาล
“คนพาลคือคนที่ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ แต่ทำในสิ่งที่ไม่ควรจะทำ เปรียบปัจจุบันเป็นการทำในสิ่งที่ถูกกฎหมาย แต่รัฐบาลไม่ทำ” ประธานมูลนิธิขวัญข้าว กล่าว พร้อมกับยกตัวอย่างสิ่งที่รัฐบาลควรทำ เช่น ชาวนามีหนี้สิน รัฐบาลต้องเร่งจัดการหนี้สินผ่านการใช้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ดิน ชาวนาภาคกลางกว่า 60% ต้องเช่านา แต่รัฐบาลกลับยอมให้ชาวต่างชาติมาซื้อที่ดินในประเทศเป็นหมื่นไร่ ซึ่งชาวนาเคยเรียกร้องต่อรัฐบาลแล้ว แต่ไม่ทำ เป็นต้น
นายเดชา กล่าวถึงสิ่งที่รัฐบาลควรทำต่อว่า ควรจัดการพื้นที่ชลประทานควบคู่กับการจัดรูปที่ดิน และส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตด้วย ซึ่งจากตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจเกษตร (สศก.) ระบุว่าต้นทุนการผลิตข้าวนาปรัง 8,711 บาท/ตัน ขณะที่เวียดนาม 4,960 บาท/ตัน จึงกังวลว่า หากเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ไทยจะสู้ได้อย่างไร
“ฉะนั้นการเรียกร้องของชาวนาต้องเรียกร้องให้ถูกจุด ถ้าชาวนารู้ว่า ไม่ควรคบคนพาลก็ต้องเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกเป็นคนพาล แต่ถ้าไม่เลิกก็ควรเลิกพายเรือให้โจรนั่ง” ประธานมูลนิธิขวัญข้าว กล่าว และว่า ชาวนาต้องหันมาช่วยเหลือตนเองด้วยการลดต้นทุนการผลิต แต่ที่ไม่สามารถขยายความสำเร็จได้ เพราะยังมีการโฆษณาให้ซื้อสารเคมีทางการเกษตรอยู่ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมการขายสารเคมีทางการเกษตรในประเทศ
นายเดชา กล่าวด้วยว่า วันนี้เราทิ้งชาวนาไม่ได้ เหลือเท่าไหร่ก็ต้องเก็บไว้ เพราะข้าว การปลูกข้าวคือจิตวิญญาณ ทั้งนี้ตนเริ่มเชื่อประเทศไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิที่ละเมิดไม่ได้ โดยเฉพาะละเมิด 3 แม่ แม่คงคา แม่ธรณี และแม่โพสพ ทั้งหมดจะได้รับกรรม ซึ่งเป็นกฎที่เลี่ยงไม่ได้ ไม่ชาตินี้ก็ชาติไหน ที่สำคัญ คือ กรรมที่ทำกับชาติภาษีของชาตินั้นบาปมหาศาล โกงคนจน โกงสิ่งแวดล้อม
ฉะจำนำข้าวทฤษฎีสมประโยชน์ทำลายบ้าน
ด้านดร.ตะวัน ห่างสูงเนิน ศูนย์ศึกษาและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ เรนโบว์ฟาร์ม เชียงใหม่ กล่าวว่า การทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เป็นเหมือนการที่รัฐบาลขโมยเงินบ้านตัวเอง ทำลายธุรกิจการค้าข้าวของตนเอง เรียกว่า เป็นทฤษฎีการสมประโยชน์ทำลายบ้านตนเอง ดังนั้น แนะนำให้รัฐบาลควรหันมาส่งเสริมให้ชาวนานำข้าวมาแปรูปเป็นผลิตภัณฑ์มากกว่าการวิ่งแก้ปัญหาด้วยวิธีปัจจุบัน และสร้างความเข้มแข็งให้เกิดการพึ่งตนเอง เพื่อจะสู้ในเวทีเออีซีได้
“รัฐบาลควรนำเงินที่สูญเสียไปกับโครงการจำนำข้าวปีละแสนล้านบาทมาพัฒนาระบบชลประทานให้ได้ 50% ของพื้นที่ เชื่อว่าใช้เงินไม่เกิน 3 แสนล้านบาท ชาวนาก็จะสามารถอยู่ได้ เช่นประเทศเวียดนามเลิกสร้างรถไฟความเร็วสูง และหันกลับมาพัฒนาระบบชลประทานแทน เป็นต้น ” ดร.ตะวัน กล่าว และว่า นอกจากนี้รัฐบาลต้องส่งเสริมให้มีธนาคารข้าวชุมชนและเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งหากรัฐบาลลดทิฐิลงได้มั่นใจจะฉลาดมากกว่านี้
ดร.ตะวัน กล่าวด้วยว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีผู้ใหญ่สุดของประเทศด้านการบริหารไปเยี่ยมเรนโบว์ฟาร์ม เพื่อขอความรู้และแนวคิดว่าจะทำอย่างไรดี นั่นแสดงว่า รัฐบาลกำลังเดินถึงทางตัน จึงต้องหาทางออกโครงการจำนำข้าว
ขณะที่นายประวิทย์ ภูมิระวิ นายกเทศมนตรีต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร กล่าวว่า รัฐบาลควรดูแลปัญหาของชาวนาอย่างจริงจัง โดยเสนอให้นำเงินมาทำ ‘โคก หนอง นา’ ตามใจชอบ ซึ่งโคกใช้เป็นที่หนีน้ำท่วม หนองใช้เลี้ยงปลา ทำให้ไม่ต้องแจกถุงยังชีพ และสิ่งที่บังเกิดขึ้นต่อคือไม่ต้องทำเขื่อนใหญ่ ๆ ทุกคนก็จะมีความสุข มีความมั่นคงทางอาหาร ลดต้นทุนการผลิต ท้ายที่สุด เชื่อว่าทางออกมีเยอะ แต่คนไม่ออกเอง โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ
ที่มาภาพ: http://www.thairath.co.th/content/edu/91674