"นิพนธ์" ตีราคาสต๊อก เปิดสูตรตัวเลขจำนำข้าว 3 ฤดู ขาดทุน 2.8 แสนล้าน
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชี้ยิ่งใช้เวลาขายข้าวนานยิ่งขาดทุนบักโกรก โทษต้นเหตุฝ่ายการเมือง แอบขายข้าวลับๆ แถมเล่นละครตบตาปชช. ไม่เอาจริง เจอทุจริตกว้างขวาง แต่จับคนผิดได้น้อย จนกลายเป็นอาชญากรรมไร้เจ้าทุกข์
วันที่ 15 ตุลาคม ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานมหากาพย์จำนำข้าว สู่มหกรรมกอบกู้สุจริต ณ อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดยมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป และภาคีร่วมจัดงาน ถึงโครงการจำนำข้าวที่ดำเนินมากว่า 2 ปี นั้น ถือได้ว่า เป็นการแทรกแซงตลาดที่ใหญ่ที่สุดในระบบเศรษฐกิจไทย
ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า โครงการจำนำข้าว 4 ฤดูกาลรัฐบาลซื้อข้าวไปแล้วว่า 43 ล้านตัน หรือ 58% ของผลผลิต ขณะเดียวกันรัฐก็ใช้เงินเพื่อซื้อข้าวกว่า 6.78 แสนล้านบาทในช่วงเวลาแค่ 2 ปี ส่วนความสำเร็จจำนำข้าว ช่วยชาวนา 1.2 ล้านราย ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นรวม 2.33 แสนล้านบาท ใน 2 ปี หรือ 4 ฤดูกาลผลิต ซึ่งหากนับทั้งประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม ชาวนาปานกลาง และร่ำรวย จะได้ประโยชน์จากจำนำข้าวมากสุด
สำหรับความเสียหายจากโครงการจำนำข้าวนั้น นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า จากการคำนวณมูลค่าสต๊อคด้วยราคาตลาด โครงการจำนำข้าวจะขาดทุนสูงถึง 2.83 แสนล้านบาท ใน 3 ฤดู ยิ่งรัฐบาลใช้เวลาขายข้าวช้าก็จะยิ่งขาดทุนทางบัญชีหนักขึ้น เช่น ขายข้าวหมดใน 5 ปี ก็จะขาดทุน 4 แสนล้านบาท ขายหมดใน 10 ปี ขาดทุน 5.3 แสนล้านบาท โดยการขาดทุนมาจากทั้งการอุดหนุนชาวนา การขายข้าวราคาถูกให้พ่อค้าพรรคพวก อุดหนุนผู้บริโภค และมาจากต้นทุนการดำเนินการ
ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงการทุจริตว่า ระบบการจำนำข้าวเอื้อต่อการทุจริตทุกขั้นตอน ซึ่งมีหลักฐานบ่งชี้การทุจริตในการระบายข้าว การทุจริตของเกษตรกรบางราย โรงสีบางแห่ง เจ้าของโกดัง แต่ทำไมมีการทุจริตอย่างกว้างขวางแต่กลับจับผิดได้น้อยมากมาก ก็เพราะระบบการป้องกันการทุจริตของรัฐมีแต่บนกระดาษ การตรวจสต๊อกทั่วประเทศ 1 วัน ก็เป็น “ปาหี่” เล่นละครตบตาประชาชนเท่านั้น รวมทั้งการไม่เปิดเผยข้อมูลจำนวนข้าวรายโกดัง การขายข้าว ปริมาณข้าวที่ขาย ชนิดข้าวที่ขาย ถือเป็นการปิดบังการทุจริตที่ได้ผลที่สุด
“การที่ผู้เกี่ยวข้อทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์จากการโกงเงินของผู้เสียภาษี ผมเรียกว่าเป็น อาชญกรรมไร้เจ้าทุกข์ เพราะไม่มีใครฟ้องใคร ต่างคนต่างสมประโยชน์ทั้งคู่”
ดร.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังประสบปัญหาขาดเงินที่ใช้รับจำนำข้าว ซึ่งเริ่มมีสัญญาณขาดเงิน ขายข้าวส่งออกไม่ได้มาตั้งแต่กลางปี 2556 เช่น แนวคิดลดราคาจำนำข้าว จำกัดปริมาณ จำนำตั้งแต่เดือนก.ค.56 แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องถอยหลังหลังถูกชาวนาประท้วง
“ฤดูใหม่ ปี 2556/2557 การกู้เงินมาจำนำอีก 2.7 แสนล้านบาทนั้น จะมาจากไหน ผมเชื่อว่า รัฐบาลต้องมีมติครม.ให้ธกส.กู้เต็มเพดาน 6 เท่าของเงินทุน ตามพ.ร.บ.หนี้สาธารณะ แต่ทำแบบนี้เสี่ยงผิดกฎหมายเพดานการขาดดุล และเพดานเงินกู้กับการค้ำประกันเงินกู้ในปีงบประมาณ 2556/57 คอยดูว่ารัฐจะกล้าทำผิดกฎหมายหรือไม่ หรือจะหาวิธีอย่างไร”
ทั้งนี้ นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า แม้รัฐบาลจะมีเงินพอสำหรับจำนำนาปี 2556/57 แต่จะไม่มีเงินสำหรับนาปรัง ทำให้โครงการจำนำข้าวล้มลุกคลุกคลาน
"มีปัญหาสภาพคล่องอย่างไร โครงการนี้ก็คงไม่ล้ม แต่เศรษฐกิจข้าวไทยจะล้มก่อน"
เอกสารประกอบ:
สองขวบปีของนโยบายจำนำข้าว: ล้มเหลว แล้วล้มลุก ???
ข่าวทีเกี่ยวข้อง:
2 ปี จำนำข้าวเจ๊ง 4.25 แสนล. "หม่อมอุ๋ย" ร่อนจม.ถึงนายกฯ ดูตัวเลขจะเลิกหรือทำต่อ !
สร้างปัญหาต้องแก้เอง "อัมมาร" ลั่นทำโทษรัฐบาล จับ ‘ขัง’ อยู่กับโครงการจำนำข้าว!