ชาวบ้านวังหลวงประกาศไม่เอาเขื่อน-หวั่นกระทบโบสถ์ครูบาศรีวิชัย
เปิดเวทีน้ำรับฟังครั้งแรกคึก-ชาวบ้านค้านแน่นห้องประชุมเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือระดมพลสังเกตการชาวบ้านวังหลวงประกาศไม่เอาเขื่อน-หวั่นกระทบโบสถ์ครูบาศรีวิชัย
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่หอประชุมโรงเรียนจักคำคณาทร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สอบช.) ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1 ซึ่งมีชาวบ้านกว่า 1,000 คน โดยเป็นชาวลำพูนที่ทางจังหวัดตั้งเป้าไว้เพียง 800 คน ส่วนที่เหลือเป็นชาวบ้านจากจังหวัดใกล้เคียงและผู้ที่สนใจโดยเฉพาะผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนต่างเดินทางมาร่วมสังเกตการ
ทั้งนี้ชาวบ้านจากหมู่บ้านวังหลวง จังหวัดลำพูน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตั้ง ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูนได้เดินทางมาร่วมงานกันเกือบทั้งหมู่บ้าน โดยได้นำเอกสารมาแจกจ่ายให้ผู้เข้าร่วมเวที โดยระบุว่า หมู่บ้านวังหลวงก่อตั้งมา 145 ปี ปัจจุบันมีประชากร 1,028 คน ใช้ชีวิตกันแบบพึ่งพาอาศัยธรรมชาติโดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและหาของป่าขายตามฤดูกาล โดยพื้นที่วังหลวงยังมีถ้ำหลวงผาเวียง น้ำตกวังหลวง น้ำตกห้วยมะเฮ็ง โบสถ์ที่สร้างโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาซึ่งปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากร นอกจากนี้ยังมีรอยพระหัตถ์และรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าที่ดอยผาต๊ะ
“วันนี้หน่วยงานรัฐมาบอกเราว่าจะสร้างเขื่อน แต่พวกเราที่ได้รับผลกระทบยังไม่ทราบรายละเอียดของเขื่อน ไม่มีใครเข้ามาสอบถามพวกเรา ไม่มีใครเปิดโอกาสให้เราเข้าถึงข้อมูล แบบนี้ถือว่าเป็นธรรมกับพวกเราชาววังหลวงหรือไม่ ถ้าสร้างเขื่อนจริง พวกเราจะไปอยู่ที่ไหน เราเคยอยู่ร่วมกับธรรมชาติ หาเลี้ยงตามวิถีธรรมชาติ มีเขื่อนแล้วเราจะหาเลี้ยงชีพอย่างไร แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ควรอนุรักษ์ก็ถูกทำลาย การสร้างชุมชนใหม่ ไม่มีทางเหมือนเดิม ประเพณีวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นต้องหมดไป เราต้องสูญเสียธรรมชาติ พืชเศรษฐกิจ การปลูกทดแทนกี่ชั่วอายุคนถึงจะเหมือนเดิม"
"อำนาจเงินไม่สามารถเยียวยาและทดแทนคุณค่าทางจิตใจของพวกเราได้ ที่นี่คือบ้าน ไม่มีบ้านแล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน เรามีสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมประเพณี ที่สร้างมากว่าร้อยปี เพราป่าไม่มีเสียง หรือเห็นประชาชนเป็นตัวอะไร จุดยืนเราถึงอย่างไงก็ไม่เอาเขื่อน” ในเอกสารระบุ
---------
หมายเหตุ: ที่มาข่าวจากเฟซบ๊ก Paskorn Jumlongrach