"เสกสรรค์" เปิดบาดแผลประเทศ ชี้เหลื่อมล้ำครบวงจร ต้นตอการเมืองแบบเสื้อสี
'เสกสรรค์' ฉายภาพ 40 ปี 14 ตุลา 16 สถานการณ์ประชาธิปไตยไทยลุ่มๆ ดอนๆ ชี้ 'ความเหลื่อมล้ำสุดขั้ว' เป็นรากฐานปัญญา แนะรัฐยอมกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง
วันที่ 14 ตุลาคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเนื่องในวันครบรอบ '40 ปี 14 ตุลา 2516' โดยมี รศ.ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในฐานะอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 กล่าวปาฐกถา หัวข้อ "ความฝันเดือนตุลา 40 ปีแห่งการแสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมในประเทศไทย" ณ บริเวณลานโพ ท่าพระจันทร์
รศ.ดร.เสกสรรค์ กล่าวตอนหนึ่งว่า กว่า 40 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ประชาธิปไตยอยู่ในสภาพที่ลุ่มๆ ดอนๆ กระทั่งล้มลุกคลุกคลาน ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในระบบทุนนิยมที่กำลังและกระแสโลกาภิวัตน์ที่กำลังขยายตัว เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นและนำไปสู่ความมั่งคั่งของทั้งชนชั้นนายทุนและคนชั้นกลางในเมือง แต่กลับเป็นความอับจนเสียเปรียบของคนอีกจำนวนมาก ที่สูญเสียฐานทรัพยากรในการประกอบอาชีพ ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล และกลุ่มคนชายขอบอีกหลายประเภทที่ขาดเงื่อนไขในการพยุงชีวิตให้สมศักดิ์ศรีความเป็นคน
"นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2530 ที่ช่องว่างระหว่างชนชั้นยิ่งถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ และเกี่ยวโยงกับความเหลื่อมล้ำเรื่องพื้นที่ทางการเมืองและโอกาสเข้าถึงอำนาจรัฐ ความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการศึกษา สวัสดิการทางการแพทย์ และเงื่อนไขอื่นๆ" รศ.ดร.เสกสรรค์ กล่าว และว่า คนตัวเล็กตัวน้อยอีกมากยังไม่ได้รับเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม ซึ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนอาจจะไม่พอเพียงสำหรับการแก้ปัญหาหรือสนองความฝันของประชาชนได้ทั้งหมด
"ประชาชนจะต้องมีพื้นที่ทางการเมืองของตัวเองโดยตรง และสามารถแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ กลุ่มประชาชนไม่ได้มีความคิดถึงขั้นล้มระบบทุนนิยมหรือโค่นอำนาจรัฐ เพียงแต่อยากอยู่นอกเขตอิทธิพลของตลาดเสรี ทั้งในเรื่องที่ดินทำกิน ความปลอดภัยจากมลภาวะที่มาจากภาคอุตสาหกรรม หรือสิทธิในการจัดการทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ อย่างสายน้ำ ป่าเขา และฝั่งทะเล เป็นการต่อสู้ ป้องกันตัวของชนชั้นที่ถูกทอดทิ้ง มากกว่าเป็นความเคลื่อนไหวของชนชั้นที่ต้องการมีฐานะในศูนย์อำนาจส่วนกลาง"
รศ.ดร.เสกสรรค์ กล่าวต่อว่า กลไกตลาดเสรีเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในประเทศไทยถ่างกว้างอย่างรวดเร็ว และการปฏิรูปสังคมในระดับรากฐานแทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่แตะต้องโครงสร้างดังกล่าว และประเด็นนี้คือปัญหาใหญ่สุดของยุคสมัยทั้งของโลกและประเทศไทย
โดยเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายประชาธิปไตย อาจจัดได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ 1.เงื่อนไขอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางชนชั้นอย่างสุดขั้ว หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับที่ล้นเกิน ซึ่งส่งผลให้ผู้คนเข้าถึงอำนาจได้ไม่เท่ากันและมีทัศนะทางการเมืองไม่ตรงกัน
2.เงื่อนไขในกลุ่มต่อมาเป็นผลสืบเนื่องมาจากแรงผลักของกระแสโลกาภิวัตน์และทุนนิยมแบบไร้พรมแดน ซึ่งทำให้รัฐไทยมีพื้นที่น้อยลงในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ และระบอบประชาธิปไตยถูกลดอำนาจในการกำหนดนโยบาย ขณะเดียวกันเงื่อนไขดังกล่าวยิ่งส่งผลให้ความแตกต่างทางชนชั้นขยายกว้างออกไปอีกจนเกือบจะควบคุมไม่ได้
"แม้ความแตกต่างทางชนชั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่นับวันยิ่งขยายกว้างทำให้ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ทั้งชนชั้นนายทุน คนชั้นกลางในเมืองหลวงและกรรมกรอุตสาหกรรมมีมุมมองและมีระดับความภักดีต่อประชาธิปไตยไม่เหมือนกัน และทัศนะที่เพาะตัวจากความเหลื่อมล้ำที่สุดขั้วนี้เป็นทัศนะที่ยากจะไกล่เกลี่ยและประนีประนอม เนื่องจากผูกติดอยู่กับเดิมพันเรื่องผลประโยชน์ที่เป็นแกนชีวิตของแต่ละชนชั้น"
รศ.ดร.เสกสรรค์ เห็นว่า รากฐานของปัญหาและความขัดแย้งรุนแรงในประเทศไทยล้วนมาจากความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้ว และไม่มีทางจะสร้างเสถียรภาพทางการเมืองได้เลย หากไม่มีความพยายามแก้ไขปรับปรุงให้ช่องว่างทางชนชั้นเหล่านี้ลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำดังกล่าวไม่เพียงไม่ลดลง หากยังเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก ตัวเลขจากปี 2552 ระบุว่ารายได้ของคน 20 เปอร์เซนต์แรกที่อยู่ลำดับสูงสุดกับคน 20 เปอร์เซนต์ที่อยู่ข้างล่างสุดห่างไกลกันถึง 13.2 เท่า และคน 10 เปอร์เซนต์ที่รวยสุดเป็นเจ้าของสินทรัพย์มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ เทียบกับคนชั้นล่างสุด 10 เปอร์เซนต์ได้ส่วนแบ่งไปแค่ 3.9 เปอร์เซนต์
ส่วนการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง พบว่า 42 เปอร์เซนต์ของเงินฝากในธนาคารทั้งประเทศ ซึ่งมีค่าประมาณ 1 ใน 3 ของจีดีพีประเทศไทย เป็นของคนเพียง 35,000 คน จากจำนวนประชากรราว 64 ล้านคน ขณะที่เกษตรกรไทย โดยเฉลี่ยมีรายได้ทั้งปีเพียง114,000 บาท และเมื่อหักค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิตและรายจ่ายด้านอุปโภคออกแล้ว กลับติดลบปีละ 34,000 บาท เท่ากับว่ายิ่งผลิตยิ่งเป็นหนี้
"ผมคิดว่าเราควรมองความจริงให้เต็มตา บ้านเมืองจึงจะพอทางออกได้บ้าง ควรเปิดบาดแผลของประเทศออกมาดู และมองให้เห็นความเกี่ยวโยงอันใกล้ชิด ระหว่างความแตกต่างทางชนชั้นที่สุดขั้วกับภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมือง ชนชั้นที่ได้เปรียบควรยอมรับว่าหมดเวลาที่จะมีอุปาทานว่าตนเองไม่เดือดร้อนกับสภาพเช่นนี้ และหมดเวลาเช่นกันที่จะโทษว่าบ้านเมืองวุ่นวายเพราะจริตฟุ้งซ่านของคนไม่กี่คน หรือแค่ขจัดคอรัปชั่นแล้วบ้านเมืองจะดีเอง
ทั้งนี้ ต้องตระหนักให้มากขึ้นว่าปัญหาประเทศไม่ได้เกิดจากการโกงบ้านกินเมืองอย่างเดียว แม้ว่าจะมีจริงและสมควรแก้ไข แต่คนที่ดูเหมือนมือสะอาดก็ใช่ว่าจะผุดผ่องอันใดนักหนา เพราะเงื่อนไขที่ก่อเรื่องมากกว่าคือ 'ระบบ' ที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งรวยได้อย่างเหลือล้นโดยไม่ต้องโกง ขณะคนส่วนใหญ่ลำบากได้อย่างเหลือเชื่อทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เกียจคร้าน"
ในยุคที่ช่องว่างทางชนชั้นถ่างห่างนี้ รศ.ดร.เสกสรรค์ เห็นว่า รัฐไทยยิ่งจำเป็นต้องขยายบทบาทในการบริหารความเป็นธรรม บางทีรัฐอาจต้องยอมปรับโครงสร้างอำนาจของตนเอง กระจายอำนาจสู่หัวเมืองต่างจังหวัดและชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ได้มีเครื่องมือมากขึ้นในการคุ้มครองอัตลักษณ์และผลประโยชน์ของเขา
"ประเทศไทยคงฝากประชาธิปไตยไว้กับสถาบันและกระบวนการที่เป็นทางการอย่างเดียวไม่ได้ ต้องประสานบทบาทของการเมืองภาคประชาชน และการเมืองมวลชนเข้ากับระบบรัฐสภา ผู้นำการเมืองที่ตื่นรู้จึงควรย้ายฐานความชอบธรรมของอำนาจไปสู่การสนองผลประโยชน์รูปธรรมของประชาชนให้มากขึ้น รัฐบาลต้องมีบทบาทบริหารความเป็นธรรมและแก้ไขความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากกลไกตลาดอย่างรับฟังเสียงของประชาชนที่หลากหลายแตกต่างตลอดช่วงที่อยู่ในอำนาจ เพื่อแปรวิกฤตฉันทานุมัติให้เป็นโอกาสในการพัฒนาประชาธิปไตย"
อ่านปาฐกถาฉบับเต็มได้ที่ : ปาฐกถา "เสกสรรค์" ความฝันเดือนตุลา 40 ปีแห่งการแสวงหาเสรีภาพ เสมอภาค และความเป็นธรรม