"หมอหม่อง" :นักอนุรักษ์ไม่ใช่ศัตรูการพัฒนา แค่ทำหน้าที่เบรก บอกให้ชะลอจุดที่ควรชะลอ
"การพัฒนาประเทศไทยวันนี้ต้อง "ตั้งเข็ม" ให้ดี จะไปในทิศทางไหน
ไม่ใช่พัฒนาเน้นเศรษฐกิจโดยไม่ลืมหูลืมตา แล้วใช้ทุนทางธรรมชาติจนหมด"
จากกระแสอนุรักษ์เฟื่องฟูหลอมรวมคนไทยให้ตระหนักพิทักษ์ป่า ที่ผ่านมาดูเหมือนว่า นักอนุรักษ์จะถูกเชื่อมโยงเข้ากับขั้วการเมืองอย่างไม่ทันระวังตัว หากการอนุรักษ์ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมืองแล้วอาจจะส่งผลให้พลังการขับเคลื่อนดูไร้น้ำหนักไปในทันที ขณะที่นักอนุรักษ์อยู่บนถนนที่แวดล้อมไปด้วยการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจน ทำอย่างไรที่พวกเขาเหล่านี้จะยืนสู้เคียงข้างธรรมชาติและสัตว์ป่าอย่างไม่มีข้อกังขา
สำนักข่าวอิศรา นัดพูดคุยกับ "หมอหม่อง-นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์" อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หมวกอีกใบประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา...
หมอผู้รักษาคน รักษาโลก ด้วยหัวใจ ให้ทัศนะถึงเรื่องการออกมาคัดค้านหรือต่อต้านของกลุ่มนักอนุรักษ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง เนื่องจากเราทะเลาะกับทุกรัฐบาลที่จะนำโครงการการพัฒนาต่างๆ เข้ามาในพื้นที่ของป่าและธรรมชาติ
"นักอนุรักษ์ทำหน้าที่เหมือนเป็นเบรกให้กับรถยนต์หรือรถไฟ และไม่ได้บอกให้ใส่เกียร์ถอยหลัง เพียงแต่นักอนุรักษ์ทำหน้าที่เพื่อบอกให้ชะลอในจุดที่ควรชะลอเท่านั้น”
เขายอมรับว่า ในยุคที่บ้านเมืองมีการแบ่งขั้วทางเมืองค่อนข้างสูง และมักมีฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามมาเกาะกระแส ซึ่งจะส่งผลให้พลังการขับเคลื่อนบิดเบี้ยวและทำให้นักอนุรักษ์ถูกมองว่า เป็นพวกต่อต้านรัฐบาล!
"การเรียกร้องหรือคัดค้านใดๆ ไม่เกี่ยวข้องกับนัยยะทางการเมือง ขณะนี้มีคนพยายามโยงให้เป็นเรื่องของชนชั้น มองว่า คนที่ออกมาคัดค้านเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง เรียกนักอนุรักษ์ว่า เป็นนักอนุรักษ์ติดแอร์"
วาทะกรรมเหล่านี้ "หมอหม่อง-รังสฤษฎ์" เชื่อว่า ล้วนเป็นกลอุบายที่มุ่งหวังจะให้กระบวนการอนุรักษ์อ่อนแอลง
"อันที่จริงแล้วการต่อสู้เพื่อปกป้องธรรมชาติ ต้องทำในหลายระดับ ทั้งในระดับประชาชน ผู้สื่อสารในเรื่องการใช้ทรัพยากรในเมืองให้ตระหนักและเกิดการปรับเปลี่ยน เพราะทุกคนมีบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง การจะมาป้ายสี หรือแบ่งชนชั้นในเรื่องการอนุรักษ์เป็นเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์ และเป็นการมองโลกที่แคบมาก เป็นกระบวนการคิดที่ติดอยู่ในกรอบเดิมๆ" หมอนักอนุรักษ์ นำเสนอมุมมอง
เมื่อยิงคำถาม ที่หลายคนพูดชอบพูดว่า นักอนุรักษ์เห็นเสือสำคัญกว่าชาวบ้าน? เขาบอกว่า "ที่จริงพวกเราเองเป็นคนที่มองเรื่องปากท้องของชาวบ้านมากกว่าด้วยซ้ำ นักอนุรักษ์ทุกคนมองเห็นว่า การทำลายธรรมชาติจะส่งผลกระทบกับคนที่อยู่ใกล้ก่อนกลุ่มคนในเมือง เราจึงไม่สนับสนุนคำตอบหรือการหาทางออกของปากท้องเป็นเรื่องแค่วันนี้หรือวันพรุ่งนี้
เราพยายามยืนยันกันมาโดยตลอดว่า การเก็บเงินต้นในธนาคารไว้โดยไม่นำมาใช้หมด จะเป็นหลักประกันที่ทำให้ทุกคนอยู่ดีมีสุขในอีก10ปีข้างหน้า ไม่ใช่การนำต้นทุนมาใช้หมดในรุ่นเดียว
ณ วันนี้ต้นทุนทางธรรมชาติต้องถูกเอามาใช้อย่างผิดๆ เพราะเรามองแต่ในเชิงวิศวะหรือเทคนิค ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราไม่เคยคิดและมองทบทวน จนเกิดผลร้ายอยู่ในขณะนี้ แม้จะมีบทเรียนความผิดพลาดก็ยังเป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ยังคงปล่อยให้เกิดความผิดพลาดเช่นเดิม และยังคงมีกรอบความคิดแบบเดิม"
หมอนักอนุรักษ์ หยิบยกตัวอย่างในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศขึ้นมาเทียบ เขาพยายามปรับเปลี่ยนการพัฒนาโดยระวังและพยายามสร้างหลักประกันความมั่งคั่งในระบบนิเวศน์ ทั้งนี้การบริการที่ป่าให้กับเรา ถ้าตีค่าแล้วมโหฬาร น้ำท่วม ภัยแล้งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดมาจากเขื่อนไม่พอ แต่อุทกภัยเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพราะป่าไม่พอต่างหาก
"แล้วเราก็ยังคงจะสร้างเครื่องมือที่อยู่ในทศวรรษที่ 19 ซึ่งเราควรจะปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ๆ มองนอกกรอบเดิมของตัวเอง อย่ามองว่า นักอนุรักษ์เป็นพวกที่ค้านตลอดเวลาและไม่เคยเสนอทางเลือก เพราะทางเลือกที่เราเสนอคุณไม่เคยฟัง!"
ทางเลือกที่เสนอ นพ.รังสฤษฎ์ ชี้ว่า แม้อาจจะไม่ใช่โครงการใหญ่โต เป็นแค่สร้างฝาย หรืออ่างเก็บน้ำเล็กๆ แต่ก็เป็นระบบการจัดการแบบค่อยเป็นค่อยไป
"พวกเราคิดและพยายามที่จะเสนออยู่ตลอดเวลา และดูเหมือนจะไม่ยุติธรรม หากมองว่า กลุ่มนักอนุรักษ์ไม่เคยเสนอทางเลือก”
ปธ.ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ยืนยันถึงหน้าที่ของกลุ่มนักอนุรักษ์ คือ การรักษาป่า มีบทบาทที่จะชี้ประเด็นองค์ความรู้และผลกระทบหรือสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ โดยจะต้องไม่ลืมเอาธรรมชาติเขามาอยู่ในสมการของการพัฒนาประเทศในโครงการต่างๆ
การพัฒนาโครงการต่างๆ จะต้องรับฟังความคิดเห็นข้อมูลซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เหยียบคันเร่งเพียงอย่างเดียว และเร่งโดยไม่มององค์ความรู้ เพราะองค์ความรู้เรื่องธรรมชาตินักการเมืองเท่ากับศูนย์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ควรจะมองว่าจะต้องฟังซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกคนในสังคมและประเทศชาติ โดยที่ไม่มองฝ่ายเห็นต่างเป็นฝ่ายตรงข้าม เพราะนั่นไม่ใช้หลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย
เขา เชื่อว่า การรับฟังจะเป็นวิธีการที่ก่อให้เกิดแนวทางที่เหมาะสมที่สุด
“การที่ออกมาคัดค้านหรือต่อต้านโครงการต่างๆ ของรัฐบาลไม่ใช่เราไม่ต้องการการพัฒนา ไม่ได้ประท้วงเพื่อให้กลับไปสู่ยุคหิน 10 ปีที่ผ่านมาประเทศก็พัฒนามาเรื่อยๆ มีสิ่งก่อสร้างมากมาย มีถนนใหญ่โต ซึ่งการพัฒนาเกิดขึ้นทุกย่อมหญ้า แต่นักอนุรักษ์เลือกค้านเฉพาะโครงการที่มีผลกระทบรุนแรงและเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน วันนี้เราไม่ได้ต้องการบอกให้รัฐบาลใส่เกียร์ถอยหลัง แต่หากเข้าโค้งโดยไม่ลดเกียร์ลดคันเร่งอาจจะแหกโค้งได้
ทั้งนี้หากมองเมืองจีนเป็นโมเดล แล้วมุ่งหวังจะสร้างโครงการต่างๆ ขึ้นมาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้าง GDP ให้ได้7-8% ให้ดูด้วยว่า จีนทำแล้ววันนี้เขาเจอผลกระทบอะไรบ้าง ธรรมชาติบ้านเขาถูกทำลาย มลภาวะในเมืองรุนแรงอย่างมาก คนไม่มีปากมีเสียงไม่มีสิทธิต่อสู้ เนื่องจากนโยบายเผด็จการ ไม่มีใครสะกิดได้ พัฒนาอะไรต้องลุยอย่างเดียว มุ่งหมายของความเจริญ”
ทั้งนี้ หมอหม่อง ยังทิ้งท้ายด้วยว่า การพัฒนาประเทศไทยในวันนี้จะต้อง "ตั้งเข็ม" ให้ดีว่าต้องการจะไปในทิศทางไหน ไม่ใช่พัฒนาเน้นเศรษฐกิจโดยไม่ลืมหูลืมตา แล้วใช้ทุนทางธรรมชาติจนหมด การพัฒนาที่จะเกิดขึ้นจะมองกันแค่ 1 ปี หรือ 2 ปี ไม่ได้ แต่ต้องถามตัวเองว่า ทำไปแล้วจะยั่งยืนหรือไม่
หรือเราจะยังมองการพัฒนาประเทศกันคนละอย่างแบบคนสายตาสั้นกับสายตายาว พร้อมยืนยันว่า นักอนุรักษ์ไม่ได้ขัดแย้งกับเรื่องการพัฒนาประเทศ เพียงแต่การพัฒนาที่จะเกิดขึ้นจะต้องเป็นไปอย่างไม่ไร้สติ และต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีประโยชน์กับทุกฝ่าย
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/rungsrit.kanjanavanit/photos