ธีรยุทธ แนะสังคมไทยเลิกมอง ทักษิณ-เสื้อเหลือง-เสื้อแดงเป็นวิกฤติ
"ธีรยุทธ บุญมี" ยันเรื่องทักษิณไม่ใช่วิกฤติปชต. แต่เป็นปัญหาธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล ขาดความโปร่งใส ขณะที่ “ประชานิยม” เป็นปัญหาทางศก. ยุกลุ่มธุรกิจใหญ่-ปชช. เดือดร้อนต้องออกมาคัดค้านด้วยตัวเอง
วันที่ 14 ต.ค.2556 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ศ.ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ปาฐกถาพิเศษวาระ "40 ปี 14 ตุลา” หัวข้อ "ปณิธานประเทศไทย" โดยตอบคำถามยอดนิยมที่มีคนถามพวก 14 ตุลา เป็นประจำ ทั้งผ่านมาตั้ง 40 ปีแล้ว ทำไมประชาธิปไตยไทยยังไปไม่ถึงไหน และอุดมการณ์ของพวก 14 ตุลา หายไปไหนหมด?
ตอนหนึ่งของปาฐกถา ศ.ธีรยุทธ กล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 ว่า ได้เปิดพื้นที่ใหม่คือการเมืองแบบรัฐสภาและการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคการเมืองไทยทุกพรรคอาศัยทุนเก่า ทหาร และราชการอยู่ตลอด จนเมื่อถึงช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ทุนเก่าและสถาบันอื่นๆ ทรุดโทรมลง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มทุนใหม่ขนาดใหญ่ เน้นความว่องไว และการจัดการความเสี่ยง ได้ยกระดับฐานอำนาจและผลประโยชน์ของภาคการเมืองจากการเป็น "กาฝาก" เกาะกินรัฐ มาเป็นการควบคุมรัฐและภาคชนบทโดยตรง จนเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างกลุ่มอนุรักษ์ที่เคยกุมอำนาจรัฐมาแต่เดิม กับกลุ่มทุนใหม่เก็งกำไรทางอำนาจซึ่งอยู่ในรูปของพรรคการเมือง ทำให้เกิดวิกฤติต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ในประเด็นเรื่องวัฒนธรรมการเมือง ศ.ธีรยุทธ กล่าวว่า สังคมไทยมีวัฒนธรรมการเมืองแบบอุปถัมภ์ หรือถ้าจะใช้คำแรงๆ ก็คือ "สังคมขี้ข้า" ที่คนส่วนใหญ่เสาะหาผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนที่มีอำนาจเส้นสาย สังเกตได้จากนักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่หลั่งไหลไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณทุกวันนี้
“ถ้าจะมอง พ.ต.ท.ทักษิณผ่านมุมมองว่าด้วยขี้ ก็ต้องเรียกทักษิณเป็น “ขี้ขำ” ของการเมืองไทย เพราะขี้ขำแปลว่า อุจจาระที่ค้างคารูทวารอยู่ แม้จะออกแรงแคะก็ยังเอาออกลำบาก ส่วนนายกฯ ยิ่งลักษณ์นั้นอาจจะมองว่าเป็นนายกฯ “ขี้หย้อง” กับ “ขี้แบ๊ะ” คำแรกหมายถึง หญิงสาวที่ชอบแต่ตัวสวยงาม ชอบสำรวย สำอาง ส่วนคำที่สองหมายถึง พวกที่ไม่ทำอะไรจริงจังเป็นล่ำเป็นสัน ทำตัวอีล่อยป้อยแอ หรือทำไปอย่างเสียไม่ได้เป็นส่วนใหญ่” อ.ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มธ. กล่าว และว่า ส่วนชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์ของไทยก็อาจมองได้ว่าเป็นพวก “ขี้หักถ่อง” ซึ่งแปลว่าพวกทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ปากว่าตาขยิบ ปากพูดให้คนทำดี แต่ไม่กล้าลงมือแก้ปัญหาเอง เพราะกลัวจะกระทบกระเทือนตัวเอง
"กองทัพมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นของนักการเมือง มีโอกาสและอำนาจจะแก้ได้ 2 หนคือ การรัฐประหาร รสช. และ 19 ก.ย.2549 แต่ก็ทำแค่ครึ่งๆ กลางๆ มีการอ้างใช้อำนาจรัฐประหารเพื่อมาแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น แต่ตอนนี้ บังสนธิ (พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน อดีตประธาน คมช.) ก็สยบยอม ผมไม่อยากพูดถึง น่าละอายใจ เหมือนทรยศต่อลูกน้อง ไม่ใช่ทหาร พาคนมาตายเยอะแยะ ตัวเองเป็นหัวหน้าเรียกมาและทิ้งลูกน้อง เสพสุขเฉยๆ อันนี้ไม่ได้ต่อว่า เพียงแต่ว่า พูดถึงเรื่องขี้ นึกได้พอดี" ศ.ธีรยุทธกล่าว
สำหรับคำถามประชาธิปไตยไทยจะไปทางไหนนั้น ศ.ธีรยุทธ กล่าวว่า อยากให้ทุกส่วนช่วยกันมองปัญหาให้ถูก ดังนี้
1.สังคมไทยจะทุ่มเทพลังงานไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ไม่ควรมองเรื่องของทักษิณหรือเสื้อเหลือง-เสื้อแดงเป็นวิกฤติอีกต่อไป ทั้งหมดเป็นเพียงปัญหาที่ยังค้างคารอการแก้ไขอยู่เท่านั้น
2. ปัญหาเรื่องทักษิณไม่ใช่วิกฤติประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล คือการขาดความโปร่งใส ตรวจสอบ และการคอร์รัปชั่นทำผิดกฎหมาย
3. นโยบาย “ประชานิยม” หรือการที่พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ
"นักวิชาการมีหน้าที่ออกมาแสดงทัศนะตักเตือนข้อดีข้อเสีย และถ้าจะถึงขั้นทำให้เกิดวิกฤติจริงๆ กลุ่มธุรกิจใหญ่ต่างๆ ที่ประสบความเดือดร้อนก็จะต้องออกมาคัดค้านด้วยตัวเอง หรือประชาชนอาจต้องเจอปัญหาเงินเฟ้อไปเรื่อยๆ ก็จะต้องลุกขึ้นมาประท้วงเรียกร้องอย่างใดอย่างหนึ่ง"
4. ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะแม่แบบความคิดและกระบวนทัศน์เดิมของตัวเอง ทำให้รัฐไทยโดยเฉพาะกองทัพ สถาบันอนุรักษ์ และภาคธุรกิจไทยมองปัญหาและตั้งยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดอย่างยิ่งในการไม่ช่วยกันป้องปรามไม่ให้ปัญหาการซื้อเสียง การคอร์รัปชั่นทางการเมืองจนบานปลายจนมีสภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ศ.ธีรยุทธ กล่าวถึงปัญหาใหญ่หรือภารกิจใหญ่ของประเทศในอนาคตก้าวพ้นเกินปัญหาประชาธิปไตยธรรมดาๆ ไปแล้ว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันหลายๆ ด้าน ปัญหาในระดับความเป็นรัฐไทย ทั้งในประเด็นว่ารูปแบบรัฐไทยควรเป็นอย่างไร โครงสร้างอำนาจการเมืองและอำนาจการปกครองควรเป็นอย่างไร
ฉะนั้น สิ่งที่ควรขบคิดเพื่อสร้างสิ่งที่ถูกต้อง ดีกว่า ในอนาคตก็คือ การพิจารณาว่าจะลดอำนาจรัฐส่วนกลางลงอย่างไร เพิ่มอำนาจภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชนในการกำหนดผลประโยชน์ทางทรัพยากร เศรษฐกิจ การศึกษา ในด้านประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณีของตนอย่างไร
“บางทีการแก้ปัญหาความขัดแย้งเหลือง-แดงอาจอยู่ตรงจุดนี้ นั่นคือการมีภารกิจร่วมกันในการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ให้พ้นไปจากศูนย์กลางชนชั้นนำและชนชั้นกลางไปสู่ชาวบ้าน ภูมิภาค และท้องถิ่นให้ได้”
ทั้งนี้ ศ.ธีรยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ประเด็นหนึ่งซึ่งน่าพิจารณาท้าทายยิ่งก็คือ ถ้ามองว่าขบวนเสื้อแดงเป็นตัวแทนของชาวบ้านและพลังชาวรากหญ้าที่แท้จริงแล้ว เหตุใดแกนนำเสื้อแดงจึงจะไม่ขบคิดเสนอต่อพรรคเพื่อไทย เพื่อกระจายอำนาจลงสู่ชาวรากหญ้าอย่างแท้จริงด้วย รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์แง่ดีแง่เสียของนโยบายประชานิยม ติติงขอบเขต ปริมาณ และปัญหาที่สัมพันธ์กับนโยบายการเงินการคลังต่อพรรคเพื่อไทยด้วย?
“ขณะเดียวกัน “เสื้อเหลือง” ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของพลังอนุรักษนิยม ก็ควรผลักดันให้พลังอนุรักษ์ไทยยอมรับการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ยอมสลายการตีกรอบความคิดและองค์ความรู้ที่คับแคบด้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งการเสนอแนะให้พลังอนุรักษ์ได้พิจารณาข้อจำกัดของตัวเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือ remodernize ตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือสมานฉันท์ปรองดองอย่างแท้จริงของสองขั้วนี้”
อ่านปาฐกถาฉบับเต็มที่:ธีรยุทธ บุญมี : 40 ปี 14 ตุลา อุดมการณ์หายไปไหนหมด?