ปาฐกถา "เสกสรรค์" ความฝันเดือนตุลา 40 ปีแห่งการแสวงหาเสรีภาพ เสมอภาค และความเป็นธรรม
ความฝันเดือนตุลา
40 ปีแห่งการแสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมในประเทศไทย
ปาฐกถาพิเศษเนื่องในงานเปิด ’หมุด 14 ตุลา’
โดย ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
จัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 14 ตุลาคม 2556
ณ บริเวณลานโพ ท่าพระจันทร์
ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
วันนี้เมื่อ 40 ปีที่แล้ว นักเรียนนักศึกษา ปัญญาชน และประชาชนเรือนแสนจากทุกชั้นชนและหมู่เหล่า ได้พร้อมใจกันลุกขึ้นต่อต้านระบอบเผด็จการที่ครอบงำย่ำยีประเทศชาติมานานนับทศวรรษ การต่อสู้ครั้งนั้นนับเป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันเป็นครั้งแรกและครั้งใหญ่สุดของปวงชนชาวไทย ที่ยืนยันว่าเราต้องการสังคมที่มีเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม
พูดอีกแบบหนึ่งคือ ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ประชาชนไทยได้ร่วมกันประกาศจุดยืนว่าต้องการระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานเปิด ’หมุด 14 ตุลา’ ขึ้น เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ดังกล่าว จึงนับเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่เราจะได้มาทบทวนกันว่าความฝันเมื่อปี 2516 ได้ปรากฏเป็นจริงมากน้อยเพียงใด
ก่อนอื่น ผมอยากจะเน้นย้ำว่าการต่อสู้ 14 ตุลาคมมิได้เป็นการปะทะกันโดยบังเอิญระหว่างผู้ผูกขาดอำนาจการปกครองกับมวลชนอันไพศาล หากเป็นการดิ้นรนหาทางออกจากคืนวันอันมืดมิดของประชาชนในทุกครรลองชีวิต ยามที่ทั้งประเทศถูกพันธนาการ ทุกผู้ทุกนามย่อมได้รับผลกระทบ แต่ละหมู่เหล่าย่อมฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า แม้ว่าโดยรูปธรรมแล้วความฝันเหล่านั้นอาจจะแตกต่างกัน
พูดให้ชัดเจนขึ้นคือ ประชาชนแต่ละชนชั้นและชั้นชนต่างก็มีเหตุผลของตนในการต่อต้านเผด็จการ และเรียกร้องประชาธิปไตย
อันดับแรก ใช่หรือไม่ว่าภายใต้ระบอบเผด็จการ นักศึกษาปัญญาชนและนักวิชาการล้วนถูกปฏิเสธพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งทำชีวิตทางทางปัญญาของพวกเขาปราศจากคุณค่าและความหมาย
ต่อมา คนชั้นกลางที่เริ่มมีการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจ ย่อมไม่ต้องการเป็นสัตว์เลี้ยงในคอกของผู้ปกครองอีกต่อไป หากอยากมีสิทธิเลือกรัฐบาลที่ตัวเองพอใจ และมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง
ชนชั้นกรรมกรซึ่งถูกใช้เป็นต้นทุนราคาถูกสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม ย่อมฝันถึงวันที่พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติในฐานะที่เป็นคน หลายปีภายใต้ระบอบเผด็จการ รัฐบาลไม่เคยกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ครั้นเริ่มมีสิ่งนี้เมื่อต้นปี 2516 มันก็ต่ำกว่าค่าครองชีพจริงถึง 2 เท่า
กล่าวสำหรับชาวนาในสมัยนั้น จำนวนไม่น้อยเพิ่งสูญเสียที่ดินทำกิน เนื่องจากภาระหนี้สินซึ่งเกิดจากนโยบายกดราคาข้าวของรัฐ ด้วยเหตุดังนี้ ประชาธิปไตยสำหรับพวกเขาจึงไม่ได้เป็นแค่สัญลักษณ์แห่งความศิวิไลซ์ หากหมายถึงโอกาสที่จะถามหาความเป็นธรรม
และพูดก็พูดเถอะภายใต้ระบอบเผด็จการ แม้แต่ชนชั้นนายทุน ผู้ประกอบการ นายธนาคาร หรือพ่อค้า ก็หาได้มีอิสรภาพเต็มที่ในการดำเนินธุรกิจของตน เพราะส่วนไม่น้อยของรายได้ต้องนำมาจ่ายเป็นค่าคุ้มครอง
แน่นอน ถ้าเราถอดรหัสความฝันเหล่านี้ออกมาเป็นคุณค่าทางการเมือง ก็จะพบว่าปรารถนาของผู้คนหลายหมู่เหล่าล้วนรวมศูนย์ล้อมรอบจินตนาการว่าด้วยเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะหาได้จากระบอบอำนาจนิยม
ถามว่าแล้วทำไมประชาชนจึงหันมาฝากความหวังไว้กับประชาธิปไตย คำตอบมีอยู่ว่าเพราะประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมือง ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถผลักดันความฝันให้เป็นจริงได้ด้วยพลังของตนเอง
ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยวิธีการกับจุดหมายสามารถเชื่อมร้อยเป็นเนื้อเดียว ไม่ว่าจะเป็นการหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง การชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม การแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับรัฐ หรือการเดินขบวนสำแดงกำลัง
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวิธีการเคลื่อนไหวที่ไม่เพียงสะท้อนเจตจำนงของประชาชนในประเด็นต่าง ๆ หากยังเป็นการแสดงออกซึ่งความเท่าเทียมกันของสมาชิกในสังคม ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่ามันคือเสรีภาพที่ปรากฏตัวอย่างเป็นรูปธรรม
ในความเห็นของผม เราจำเป็นต้องวัดความคืบหน้าของประชาธิปไตยด้วยบรรทัดฐานนี้ ตราบใดที่ประชาชนหมู่เหล่าต่าง ๆ สามารถใช้พื้นที่ประชาธิปไตยเป็นเวทีแก้ปัญหาและยกระดับชีวิตของพวกเขาได้ ตราบนั้นเราคงต้องถือว่าระบอบการเมืองกำลังทำงานได้ดี
ในทางกลับกัน ถ้าความยากลำบากของประชาชนถูกมองข้าม อำนาจต่อรองของผู้คนจำนวนมากถูกจำกัด หรือพื้นที่ทางการเมืองของพวกเขาถูกปฏิเสธ ก็แสดงว่าระบอบการเมืองเองกำลังมีปัญหา ไม่ว่าระบอบนั้นจะชูธงประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม
เช่นนี้แล้ว 40 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ประชาธิปไตยเป็นเช่นใด
อันที่จริง ผมคงไม่ต้องพูดอะไรมาก ท่านทั้งหลายก็คงทราบดีอยู่แล้วว่าตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ประชาธิปไตยอยู่ในสภาพที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ กระทั่งล้มลุกคลุกคลานจนแทบไม่น่าเชื่อ ทั้ง ๆ ที่การต่อสู้ในเดือนตุลาคม 2516 ได้สั่นคลอนระบอบเก่าอย่างถึงราก และทำให้ลัทธิเผด็จการไม่เคยฟื้นตัวได้อย่างยาวนานหรือเต็มรูป
แน่นอน สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยไร้เสถียรภาพ เกิดจากความพยายามของชนชั้นปกครองเก่าที่จะทวงอำนาจกลับคืนมาด้วยเหตุดังนี้ การเคลื่อนไหวของกรรมกร ชาวนาและนักศึกษาในช่วงหลัง 14 ตุลาคมจึงถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้ง ๆ ที่โดยเนื้อแท้แล้ว มันคือการใช้สิทธิเสรีภาพเรียกร้องความเป็นธรรมของชนชั้นผู้เสียเปรียบ หลังจากถูกกดขี่เหยียบย่ำมานาน
จริงอยู่ บ้านเมืองในช่วงนั้นอาจจะดูระส่ำระสายไร้ระเบียบอยู่บ้าง แต่ถ้าประเทศไทยให้เวลาตัวเองอีกสักหน่อย ก็จะเข้าใจได้ว่านั่นก็เป็นเพราะส่วนยอดของระเบียบอำนาจเก่าได้ล้มลงในชั่วเวลาข้ามคืน ขณะที่ระเบียบใหม่ยังไม่ได้ก่อรูปขึ้นอย่างชัดเจน อันนี้จะว่าไปแล้วก็เป็นสภาพที่เกิดขึ้นคล้ายกันทั่วโลกยามเมื่อระบอบเผด็จการถูกโค่นลง
มองจากมุมนี้ การปราบปรามกวาดล้างนักศึกษาประชาชนและรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จึงไม่เพียงเป็นบาดแผลของแผ่นดินเท่านั้น หากยังทำลายโอกาสของประเทศไทยในการที่จะเชื่อมร้อยการเมืองมวลชนเข้ากับการทำงานของระบบรัฐสภา
จากนั้นเรายังต้องรบกันเองอีกหลายปี กว่าสงครามประชาชนจะสงบลงและประเทศไทยค่อยๆกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง เวลาก็ผ่านไปแล้วราวหนึ่งทศวรรษ
อย่างไรก็ตาม การกลับสู่ประชาธิปไตยโดยผ่านรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 มีความแตกต่างจากการต่อสู้ในปี 2516 อย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้เนื่องจากมันเป็นประชาธิปไตยในความหมายที่จำกัดมาก และถูกกำหนดเงื่อนไขจากศูนย์อำนาจเดิม
อันนี้หมายถึงว่าฐานะการนำของชนชั้นนำภาครัฐยังคงถูกรักษาไว้ และแม้ว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ก็แทบไม่มีพื้นที่อันใดสำหรับการมีส่วนร่วมของพลเมืองในกระบวนการตัดสินใจ กระทั่งการเลือกตั้งก็มีความหมายเพียงแค่ครึ่งเดียว เพราะผู้นำรัฐบาลไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองและไม่จำเป็นต้องได้รับเลือกจากประชาชน
สภาพดังกล่าวได้ส่งผลต่อบุคลิกลักษณะของนักการเมืองและพรรคการเมืองอย่างใหญ่หลวง เพราะพวกเขาถูกตัดโอกาสที่จะพัฒนาตนเป็นผู้นำเสียแล้วตั้งแต่ต้น ดังนั้น จึงไม่มีใครสามารถแน่ใจได้ว่านักการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชนหรือเป็นแค่บริวารของผู้นำกองทัพ
ยิ่งไปกว่านี้ ในระยะดังกล่าว นักการเมืองจำนวนไม่น้อยยังเติบโตมาจากนักธุรกิจในท้องถิ่นหรือเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ฐานเสียง พฤติกรรมทางการเมืองของพวกเขาทำให้ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นการเมืองแบบเจ้าพ่อ และเวทีการเมืองก็เป็นเพียงโอกาสขยายธุรกิจและผลประโยชน์ต่าง ๆ ของผู้คน
ขณะเดียวกัน กองกำลังประชาธิปไตยที่เคยขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ประเทศไทยอย่างนักศึกษาปัญญาชน และกรรมกร ชาวนา ต่างก็อ่อนพลังลงเพราะความผันผวนของประวัติศาสตร์ที่พวกตนพยายามขับเคลื่อน ทำให้บรรยากาศทางสังคมดูเหมือนสงบสันติ ปราศจากทั้งปัญหาและการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในระหว่างทศวรรษที่ 2 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ระบอบการเมืองในประเทศไทยจะดูเหมือนซอยเท้าอยู่กับที่และมีภาพปรากฏเป็นเสถียรภาพ แต่ตัวสังคมไทยเองกลับเปลี่ยนแปลงรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเติบใหญ่ขยายตัวของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม และการเข้ามาของกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสิ้นสุดลงของสงครามเย็น
สภาพเช่นนี้ได้ทำให้เกิดการสะสมตัวเงียบ ๆ ของแรงกดดันใหม่ทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อเส้นทางเดินของประชาธิปไตยในเวลาต่อมา
อันดับแรกคือการแย่งชิงฐานะการนำในพันธมิตรการปกครอง ระหว่างชนชั้นนำจากภาคธุรกิจกับชนชั้นนำภาครัฐที่กุมอำนาจมาแต่เดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยเป็นประเด็น แต่เมื่อทุนนิยมอุตสาหกรรมขยายตัวมากขึ้น ย่อมทำให้ฐานทางเศรษฐกิจสังคมของระบอบการเมืองเปลี่ยนไป รวมทั้งฐานคิดของนักการเมืองบางส่วนก็เริ่มเปลี่ยนไปเช่นกัน
ในเวลาเดียวกันนั้นเอง การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกได้ทำให้ความกลัวฝ่ายซ้ายของชนชั้นนายทุนเริ่มหมดไปจากฉากหลังทางการเมืองด้วย อันนี้ทำให้บทบาทของกองทัพและแนวคิดขวาจัดมีพลังลดน้อยถอยลง นักการเมืองที่มาจากภาคธุรกิจเริ่มแสดงความต้องการที่จะขึ้นกุมอำนาจโดยตรงอย่างเปิดเผยมากขึ้น แทนที่จะยอมเป็นแค่หางเครื่องของผู้นำกองทัพและผู้บริหารระบบราชการ
แต่ก็น่าเสียดายที่นักการเมืองจำนวนมากที่เติบโตมาในช่วงนี้เคยชินแต่การรับบทพระรอง ดังนั้นจึงไม่สามารถสถาปนาอำนาจการนำขึ้นมาได้อย่างแท้จริง และยิ่งไม่สามารถขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยให้หยั่งรากขยายตัว
รัฐบาลชุดแรกที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้ง กลายเป็นรัฐบาลที่ถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด นักการเมืองถูกติฉินนินทาเรื่องทุจริตคอรัปชั่น จนกระทั่งกลายเป็นจุดอ่อนขนาดใหญ่ทั้งของรัฐบาลและระบอบการเมืองที่ดูคล้ายประชาธิปไตย ในที่สุดเงื่อนไขในการทวงอำนาจคืนของชนชั้นนำจากกองทัพและระบบราชการก็สุกงอม
ในเบื้องแรก ผลที่ออกมาจากความขัดแย้งดังกล่าว คือรัฐประหาร 2534 ซึ่งเป็นการฟื้นฐานะการเมืองของชนชั้นนำภาครัฐ พวกเขาต้องการพาประเทศไทยกลับไปยังปี 2521 อันเป็นต้นแบบของระบอบประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ และอยากให้นักการเมืองมาช่วยตกแต่งหน้าร้านเท่านั้น
สิ่งที่พวกเขาไม่เข้าใจคือ ตอนนั้นโลกได้เปลี่ยนไปไกลแล้ว และเงื่อนไขในการสร้างรัฐบาลทหารโดยมีนักการเมืองผสมก็จางหายไปเช่นกัน
ด้วยเหตุดังนี้ ภายในเวลาเพียงปีเดียว การสืบทอดอำนาจของผู้นำกองทัพโดยผ่านกลไกรัฐสภาจึงถูกประชาชนต่อต้านอย่างหนัก และนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535 จากนั้นจึงนำไปสู่กระแสปฏิรูปการเมือง และรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ในระหว่างนี้เจตนารมณ์ของการต่อสู้ 14 ตุลาคมเท่ากับถูกนำมายืนยันอย่างมีพลังอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การช่วงชิงฐานะนำในศูนย์อำนาจระหว่างชนชั้นนำภาครัฐกับชนชั้นนำจากภาคธุรกิจยังไม่ได้จบลงเพียงแค่นี้ หากจะหวนกลับมาอีกในบริบทที่ต่างไปจากเดิม
อันดับต่อมา แรงกดดันอีกแบบหนึ่งที่สะสมตัวขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 2 ต่อเนื่องกับต้นทศวรรษที่ 3 หลังการต่อสู้ 14 ตุลาคม คือความไม่พอใจของชนชั้นล่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจและสังคม
กล่าวคือในขณะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นและนำไปสู่ความมั่งคั่งขยายตัวของทั้งชนชั้นนายทุนและคนชั้นกลางในเมือง แต่การเติบโตอันเดียวกันนี้ก็ได้นำไปสู่ความอับจนเสียเปรียบของคนอีกจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งผู้สูญเสียฐานทรัพยากรในการประกอบอาชีพ ผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล ผู้พ่ายแพ้เสียเปรียบในตลาดเสรี ไปจนถึงชุมชนคนชายขอบอีกหลายประเภทที่ขาดเงื่อนไขในการพยุงชีวิตให้สมศักดิ์ศรีความเป็นคน
พูดอีกแบบหนึ่งคือในช่วงปลายทศวรรษ 2530 ช่องว่างระหว่างชนชั้นนับวันยิ่งถ่างกว้างขึ้นเรื่อย ๆ และช่องว่างนี้มิได้เป็นเพียงเรื่องของรายได้ หากยังเกี่ยวโยงกับความเหลื่อมล้ำในเรื่องพื้นที่ทางการเมือง และโอกาสเข้าถึงอำนาจรัฐ ความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการศึกษา สวัสดิการทางการแพทย์ และเงื่อนไขอีกหลาย ๆ อย่างสำหรับการมีชีวิตที่ดี
แน่นอน ประชาชนหลายหมู่เหล่าเชื่อว่าชะตากรรมของพวกเขาไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากเกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐกับทุน ด้วยเหตุนี้ การชุมนุมประท้วงของกลุ่มผู้เดือดร้อนต่างๆจึงเกิดขึ้นด้วยความถี่ที่เหลือเชื่อ แม้ว่าผู้ที่พวกเขาหันมาเผชิญหน้าจะได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยกตัวอย่างเช่นในปี 2538 เพียงปีเดียว มีการชุมนุมประท้วงของชาวบ้านถึงกว่า 700 ครั้ง (ประภาส ปิ่นตบแต่ง/ การเมืองบนท้องถนนฯ /2541)
ผมคงไม่ต้องพูดย้ำก็ได้ว่าการชุมนุมประท้วงเหล่านี้ บ่อยครั้งได้นำไปสู่การปะทะกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน กระทั่งมีกรณีที่ประชาชนต้องเจ็บเนื้อเจ็บตัวอันเนื่องมาจากการใช้ความรุนแรงโดยรัฐยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าผู้นำการต่อสู้หลายคนได้ถูกลอบสังหารหรือถูกคุกคามทำร้าย โดยส่วนใหญ่ฝ่ายรัฐไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
ดังนั้นเราจึงอาจพูดได้ว่าแม้การต่อสู้ 14 ตุลาคมจะผ่านไปถึงกว่า 20 ปีแล้ว และการมีสิทธิเสรีภาพกำลังกลายเรื่องธรรมดาในหมู่คนชั้นกลางแห่งเมืองหลวง แต่สำหรับคนตัวเล็กตัวน้อยในประเทศไทย ความฝันเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมกลับยังไม่ปรากฏเป็นจริง
ตรงกันข้าม หลายครั้งที่พยายามยืนยันความฝันเหล่านั้น พวกเขากลับต้องพบกับกระบองของเจ้าหน้าที่และสุนัขตำรวจ กระทั่งบางทีก็ต้องวิงวอนขอความเมตตาด้วยใบหน้าที่อาบเลือดและน้ำตา ภาพย่อของ 6 ตุลาคม 2519 ยังคงถูกผลิตซ้ำอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ หรือแม้แต่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยโลกไม่ทันสังเกตหรือให้ความสนใจ โดยเฉพาะโลกของคนที่ได้เปรียบจากแผนพัฒนาประเทศและการขยายตัวของทุนนิยม
แน่นอน สภาพที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าลำพังประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้นอาจจะไม่พอเพียงสำหรับการแก้ปัญหาหรือสนองความใฝ่ฝันของประชาชนได้ครบทุกหมู่เหล่า
ต่อให้ผู้นำกองทัพหรือชนชั้นนำจากระบบราชการกลับคืนสู่กรมกอง นักการเมืองส่วนใหญ่ก็ยังพอใจอยู่กับการเป็นแค่นักเลือกตั้ง ที่หมกมุ่นอยู่กับการต่อรองแบ่งผลประโยชน์กันเอง มากกว่าเป็นผู้นำการเมืองที่มีวิสัยทัศน์ หรือเป็นรัฐบุรุษที่ทำทุกอย่างเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน
เช่นนี้แล้ว สถานการณ์การเมืองในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคมทมิฬ 2535 จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง ยามนั้นกระแสโลกาภิวัตน์เริ่มพัดมาแรง ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมในการเผชิญกับสภาวะแปลกใหม่ แต่ใครเล่าจะรับผิดชอบในเรื่องนี้
พูดก็พูดเถอะ ในห้วงหนึ่งมันเป็นสถานการณ์ที่ชวนคับแค้นใจยิ่ง เพราะเราเพิ่งปฏิเสธระบอบอำนาจนิยมมาหมาด ๆ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจตั้งความหวังไว้กับระบอบประชาธิปไตยแบบเจ้าพ่อได้
ดังนั้น ผู้ห่วงใยบ้านเมืองจำนวนไม่น้อยจึงเริ่มคิดถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ ซึ่งในปณิธานดังกล่าว มีแนวคิดที่จะหนุนเสริมการทำงานของระบบรัฐสภาด้วยการเมืองภาคประชาชน หรือประชาธิปไตยทางตรงรวมอยู่ด้วย
ถามว่าแล้วทำไมที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ประชาชนผู้เดือดร้อนอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ จึงไม่สามารถเคลื่อนไหวผ่านระบบพรรคการเมือง หรืออาศัยนักการเมืองจากพื้นที่ของตนช่วยขับเคลื่อนนโยบายที่ตอบสนองหรือช่วยแก้ไขปัญหาของพวกเขา
ในความเห็นของผม เหตุผลที่ทำให้ความหวังดังกล่าวไม่อาจเป็นจริงมาจากหลายเหตุปัจจัยด้วยกัน ที่เห็นได้ชัดเจนคือนักการเมืองจำนวนมากมีฐานะเป็นเจ้าของเครือข่ายผลประโยชน์ซึ่งก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกับชาวบ้าน ดังนั้นมันจึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะเป็นผู้ปัดเป่าความเดือดร้อนเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญที่มองเห็นได้ยากอีกอย่างหนึ่งก็คือ การหายไปของพื้นที่สำหรับพรรคการเมืองแบบทางเลือกในตัวระบบรัฐสภาเอง
ในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พรรคการเมืองที่มีแนวทางแบบสังคมนิยมหรือแบบรัฐสวัสดิการล้วนถูกทำให้เป็นองค์กรผิดกฎหมาย ครั้นต่อมาเมื่อสงครามอุดมการณ์สิ้นสุดลง ระบบทุนนิยมในประเทศไทยก็หยั่งรากแน่นจนไม่มีรัฐบาลไหนกล้าแตะต้องผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน มิหนำซ้ำผลประโยชน์ของทุนยังถูกยกระดับขึ้นเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ ทั้งโดยรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ผมคงไม่ต้องเอ่ยถึงก็ได้ว่าสภาพดังกล่าวทำให้ประชาชนที่ถูกกดขี่ขูดรีดไม่มีพรรคการเมืองที่เข้าข้างพวกเขาอยู่ในรัฐสภาเลย ยกเว้นนักการเมืองบางท่านที่เห็นอกเห็นใจผู้เสียเปรียบ ซึ่งก็มีอยู่น้อยนิดเกินกว่าจะสร้างผลสะเทือนในเชิงนโยบาย
ดังนั้น ประเด็นจึงต้องย้อนกลับมาสู่หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คือเชื่อมโยงจุดหมายกับวิธีการเข้าหากัน
ประชาชนจะต้องมีพื้นที่ทางการเมืองของตัวเองโดยตรง และสามารถแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคทางการเมืองของพวกเขาปรากฏเป็นจริง รวมทั้งความเป็นธรรมที่พวกเขาปรารถนาก็ต้องอาศัยพลังของตนขับเคลื่อนผลักดันเอาเอง
พูดกันตามความจริง กลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวในรูปของการเมืองภาคประชาชนนั้นไม่ได้มีความคิดไปไกลถึงขั้นล้มระบบทุนนิยม และยิ่งไม่ต้องพูดถึงการโค่นอำนาจรัฐ พวกเขาเพียงแต่อยากอยู่นอกเขตอิทธิพลของตลาดเสรี และขอเงื่อนไขสำหรับความอยู่รอดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่ดินทำกิน ความปลอดภัยจากมลภาวะที่มาจากภาคอุตสาหกรรม หรือสิทธิในการจัดการทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ อย่างสายน้ำ ป่าเขา และฝั่งทะเล
เดิมทีเดียวพี่น้องเหล่านี้เพียงขอให้รัฐคุ้มครองพวกเขาด้วย แทนที่จะปล่อยให้ทุนเป็นฝ่ายรุกชิงพื้นที่ได้ทุกหนแห่ง แต่ต่อมาเมื่อการณ์ปรากฏชัดว่ารัฐกับทุนแยกกันไม่ออก จุดมุ่งหมายของพวกเขาจึงเปลี่ยนเป็นลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชน ซึ่งความหมายที่แท้จริงคือให้รัฐเกื้อหนุนทุนน้อยลง และสงวนพื้นที่บางแห่งเอาไว้ให้พวกเขาดูแลชีวิตของตนเอง
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการเมืองภาคประชาชนเป็นการต่อสู้ในลักษณะป้องกันตัวของชนชั้นที่ถูกทอดทิ้ง มากกว่าเป็นความเคลื่อนไหวของชนชั้นที่ต้องการมีฐานะในศูนย์อำนาจส่วนกลาง
กระนั้นก็ดีในโลกทัศน์ที่ดูเหมือนแลไปข้างหลัง พวกเขายังมีแนวคิดในการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจและโครงสร้างสังคม เพราะนั่นเป็นเพียงโอกาสเดียวที่จะทำให้ตนเองมีพื้นที่ในการใช้ชีวิตได้อย่างอิสระเสรี และสมศักดิ์ศรีความเป็นคน
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเกิดขึ้นของการเมืองภาคประชาชนในช่วงนี้ได้ส่งผลต่อกระบวนการปฏิรูปการเมืองพอสมควร เพราะมันเป็นพลังที่ขับเคลื่อนในเรื่องสิทธิเสรีภาพสืบต่อจากการต่อสู้ 14 ตุลาคม นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นขบวนการเมืองที่ริเริ่มเรื่องสิทธิชุมชน ตลอดจนเรียกร้องให้มีการเคารพอัตลักษณ์ตัวตนของชนชาติกลุ่มน้อย
ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ฐานะของการเมืองภาคประชาชนจึงได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก พร้อมทั้งบทบัญญัติที่ยืนยันทิศทางการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยืนยันสิทธิทางการเมืองของประชาชนและสิทธิมนุษยชนในมิติต่าง ๆ สภาพดูเหมือนว่าจากนี้ไป กลุ่มชนที่เสียเปรียบและต่ำต้อยทางสังคมจะสามารถใช้กระบวนทางการเมืองมากอบกู้ความเป็นธรรมได้
แต่ก็อีกนั่นแหละ รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองมิได้ถูกออกแบบให้มาคุ้มครองคนเสียเปรียบอย่างเดียว หากยังแอบยกฐานะเศรษฐกิจทุนนิยมและกลไกตลาดเสรีขึ้นมาเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐด้วย ดังที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 87
อันนี้ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีความขัดแย้งในตัวเองอย่างยิ่ง เพราะในขณะที่พูดถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพไว้มากมาย เสรีภาพในการเลือกนโยบายทางเศรษฐกิจนอกกรอบทุนนิยมกลับถูกหักล้างไปโดยสิ้นเชิง
ทั้ง ๆ ที่กลไกตลาดเสรีนั้นเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในประเทศไทยถ่างกว้างอย่างรวดเร็ว และการปฏิรูปสังคมในระดับรากฐานแทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่แตะต้องโครงสร้างดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ สถานการณ์ของบ้านเมืองยิ่งทวีความซับซ้อนมากกว่านั้นอีก มันกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตใหม่ทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งนองเลือดในระยะถัดมา
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยตรง ดังนั้นผมจึงต้องขออนุญาตใช้เวลาทบทวนความเป็นมาสักเล็กน้อย
อันดับแรก ความล้มเหลวของนักการเมืองรุ่นเก่าในการดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้กลุ่มทุนใหม่ที่เติบโตมากับกระแสโลกาภิวัตน์และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกมากกว่า ไม่ต้องการปล่อยให้ชนชั้นนำจากท้องถิ่นหรือนักการเมืองอาชีพเหล่านี้มีฐานะนำในศูนย์อำนาจอีกต่อไป
หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือพวกเขาต้องการขึ้นมาบริหารบ้านเมืองด้วยตัวเอง
แน่นอน ลำพังแค่นี้ก็คงไม่ใช่อะไรใหม่มากนัก แต่เงื่อนไขที่ทำให้การก้าวขึ้นสู่อำนาจของชนชั้นนำใหม่จากภาคธุรกิจต่างไปจากเดิมคือ พวกเขาขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้มากเป็นพิเศษ อีกทั้งมีข้อกำหนดหลายอย่างที่ส่งเสริมให้มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่จำนวนน้อย โดยหวังว่าจะช่วยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีความเข้มแข็งมั่นคงและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
ยิ่งไปกว่านั้น การกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน ซึ่งพรรคการเมืองเป็นผู้นำเสนอบัญชีรายชื่อผู้สมัครต่อประชาชนทั้งประเทศ ยิ่งทำให้ฐานความชอบธรรมของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ได้รับชัยชนะมีลักษณะกว้างขวางกว่าก่อนหน้านี้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฐานความชอบธรรมของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ถูกวางตัวไว้เป็นหมายเลขหนึ่งของบัญชีรายชื่อ เพราะมันเท่ากับว่าคนส่วนใหญ่เลือกเขาขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
ถามว่าแล้วประชาชนเล่าได้อะไรบ้างจากการปฏิรูปการเมืองในทิศทางนี้
ในความเห็นของผม คำตอบที่สั้นและชัดเจนที่สุดคือได้อำนาจต่อรองเพิ่ม ทั้งนี้เนื่องจากการเลือกตั้งส.ส.ด้วยระบบสัดส่วนถือเอาทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่อยู่ในสนามแข่งขันแทบไม่อาจหาเสียงด้วยวิธีอื่น นอกจากต้องเสนอนโยบายที่โดนใจผู้คน
สิ่งที่เป็นความฉลาดของกลุ่มทุนใหม่ที่เข้ามาในเวทีการเมืองคือพวกเขาเข้าใจเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปเหล่านี้มากกว่านักการเมืองรุ่นเก่า ซึ่งเคยชินกับการให้สัญญาเชิงอุปถัมภ์หรือปฏิญาณตนแบบลม ๆ แล้ง ๆ มากกว่าการสร้างนโยบายที่จับต้องได้และตรงกับประเด็นปัญหา
ดังนั้น การเลือกตั้งในปี 2544 จึงจบลงด้วยการพ่ายแพ้ยับเยินของพรรคการเมืองที่มีมาแต่เดิม และชัยชนะอันงดงามของพรรคการเมืองที่ชนชั้นนำใหม่จากภาคธุรกิจก่อตั้งขึ้น
การที่พรรคการเมืองพรรคเดียวได้เสียงข้างมากอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎรนั้นนับเป็นปรากฏการณ์ที่แทบไม่เคยมีมาก่อนในระบบรัฐสภาไทย แต่ที่สำคัญกว่าและมีนัยยะทางการเมืองกว้างไกลกว่าคือการก่อรูปความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับมวลชนจำนวนมหาศาลโดยผ่านนโยบายที่เป็นรูปธรรม
หรือพูดให้ชัดขึ้นคือการก่อตัวของพันธมิตรทางชนชั้นอันเหลือเชื่อระหว่างกลุ่มทุนใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์กับเกษตรกรในชนบทซึ่งเป็นฐานเสียงขนาดใหญ่สุดในสนามเลือกตั้งของไทย
กล่าวสำหรับประเด็นนี้ เราคงต้องยอมรับว่ากลุ่มทุนใหม่เป็นผู้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงในชนบทและหัวเมืองต่างจังหวัดก่อนใคร ๆ พวกเขามองเห็นว่าชาวไร่ชาวนาส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อพยพเข้าเมืองได้แปรสภาพเป็นผู้ประกอบการรายย่อยไปหมดแล้ว พี่น้องในต่างจังหวัดเหล่านั้นล้วนทำการผลิตในเชิงพาณิชย์และจำเป็นต้องอยู่กับตลาดทุนนิยม แต่ก็เป็นผู้เล่นที่เสียเปรียบอย่างยิ่งภายใต้กลไกตลาดเสรี
ดังนั้นชนชั้นกลางใหม่ในชนบทจึงต้องการนโยบายรัฐมาหนุนช่วยหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องของการเข้าถึงแหล่งทุน การตัดวงจรหนี้สิน มาจนถึงการคุ้มครองราคาผลผลิตทางเกษตรที่พวกเขาฝากชีวิตเอาไว้
สำหรับชนชั้นที่เสียเปรียบในตลาดเสรี การแสวงหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแทบจะทำไม่ได้เลย หากปราศจากอำนาจต่อรองในทางการเมือง
แต่ก็แน่ละ นโยบายแบบนี้อาจจะไม่จำเป็นสำหรับชนชั้นนายทุนและคนชั้นกลางรุ่นเก่าในเมืองหลวง ซึ่งไม่มีใครช่วยก็รวยได้ เพราะมีกลไกตลาดคอยดีดเงินเข้ากระเป๋าอยู่แล้ว ความแตกต่างดังกล่าวต่อไปจะมีส่วนทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ตามมา
ในเมื่อสภาพเป็นเช่นนี้ การเลือกตั้งในช่วงหลัง 2540 จึงไม่เพียงเป็นหนทางขึ้นสู่อำนาจของกลุ่มทุนใหม่เท่านั้น หากยังเป็นพื้นที่แสดงตัวตนและสำแดงน้ำหนักทางการเมืองของชนชั้นกลางใหม่ในชนบทด้วย และด้วยสาเหตุดังกล่าว มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาชนในชนบทเหล่านั้นจะโกรธแค้นน้อยใจ เมื่อพื้นที่และทางออกจากความเสียเปรียบเพียงทางเดียวของพวกเขาถูกทำลายลงโดยรัฐประหารในปี 2549
ในทัศนะของผม สถานการณ์ข้างต้นคือที่มาทางเศรษฐกิจสังคมของการเมืองแบบเสื้อสีและความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ผมคิดว่าจะเพ่งมองแต่ความแตกแยกของผู้คนในสังคมไทยเพียงด้านเดียว คงไม่ได้ เพราะถ้าพิจารณาจากมุมของประชาธิปไตยแล้ว นับว่ามีพัฒนาการใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างชัดเจน
สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ ในขณะที่การเมืองภาคประชาชนพยายามถอยห่างจากการเมืองภาคตัวแทน และต่อรองจากจุดยืนอิสระ การเมืองมวลชนของชนชั้นกลางใหม่กลับช่วยชุบชีวิตให้กับระบบรัฐสภาด้วยการใช้การเมืองภาคตัวแทนช่วยต่อรองในระดับนโยบาย
ในความเห็นของผม กระบวนการดังกล่าวน่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยให้เข้าใกล้ความฝันเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรมอีกสักก้าวสองก้าว ทั้งนี้เนื่องจากมันจะช่วยลดทอนช่องว่างทางชนชั้น โดยเฉพาะช่องว่างในเรื่องอำนาจและอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การลดช่องว่างในด้านรายได้
ในระยะ 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเสียทั้งเวลาและเลือดเนื้อไปไม่น้อย ในการพยายามผลักระบอบอำนาจนิยมให้ออกจากเวทีประวัติศาสตร์ และขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยให้สามารถตอบโจทย์ต่าง ๆ ของประชาชน
ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องเลอะเทอะทางตรรกะที่จะคิดว่าประชาธิปไตยสามารถเติบโตได้โดยไม่ต้องต่อสู้ หรือเป็นสิ่งที่ควรพัฒนาจากข้างบนลงมา
อันที่จริง ถ้าเรามองโลกเชิงบวกสักหน่อย ก็จะพบว่าท่ามกลางความสับสนวุ่นวายในสายตาของคนบางกลุ่มบางคน สังคมไทยกลับมีความคืบหน้ามากขึ้นในการทำความฝันเดือนตุลาให้ปรากฏเป็นจริง
ใช่หรือไม่ว่าหลายปีมานี้ การเมืองภาคประชาชนมีบทบาทอย่างสูงในการผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตยในทุกสาขาคำนิยาม
ใช่หรือไม่ว่าในระยะหลัง ๆ การเมืองมวลชนก็มีบทบาททำให้การเลือกตั้งและระบบรัฐสภามีความหมายมากขึ้น โดยกดดันให้พรรคการเมืองต้องปรับตัว และรัฐต้องมีนโยบายกระจายความเป็นธรรม
พูดอย่างถึงที่สุดแล้ว ทั้งหมดนี้ทำให้การเมืองไทยเป็นเรื่องของชนชั้นนำน้อยลง ขณะที่เป็นเรื่องของสามัญชนคนธรรมดามากขึ้น ถ้าสิ่งนี้ไม่ใช่การเติบโตของประชาธิปไตยแล้ว ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าอะไรใช่
อย่างไรก็ตาม พัฒนาการเช่นนั้นไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะก้าวรุดหน้าไปบนหนทางประชาธิปไตยโดยง่าย ทั้งนี้เนื่องจากเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ผลิตความขัดแย้งยังคงมีอยู่ และชะตากรรมของประเทศจะขึ้นต่อความสามารถของเราในการจัดการความขัดแย้งที่สำคัญ ๆ
ในความเห็นของผม เงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายประชาธิปไตย อาจจัดได้เป็น2กลุ่มใหญ่ ๆกลุ่มแรกได้แก่เงื่อนไขอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางชนชั้นอย่างสุดขั้ว หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับที่ล้นเกิน ซึ่งส่งผลให้ผู้คนเข้าถึงอำนาจได้ไม่เท่ากันและมีทัศนะทางการเมืองไม่ตรงกัน
เงื่อนไขในกลุ่มต่อมา เป็นผลสืบเนื่องมาจากแรงผลักของกระแสโลกาภิวัตน์และทุนนิยมแบบไร้พรมแดน ซึ่งทำให้รัฐไทยมีพื้นที่น้อยลงในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ และระบอบประชาธิปไตยถูกลดอำนาจในการกำหนดนโยบาย
ขณะเดียวกันเงื่อนไขดังกล่าวยิ่งส่งผลให้ความแตกต่างทางชนชั้นขยายกว้างออกไปอีกจนเกือบจะควบคุมไม่ได้ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้ทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติกลายเป็นเพียงภาพลวงตา
แน่นอน ความแตกต่างทางชนชั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ประเด็นสำคัญมีอยู่ว่าความแตกต่างที่นับวันยิ่งขยายกว้างนี้ ทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมมีมุมมองและมีระดับความภักดีต่อประชาธิปไตยไม่เหมือนกัน
ชนชั้นนายทุนและคนชั้นกลางในเมืองหลวงมองการเมืองแบบหนึ่ง กรรมกรอุตสาหกรรมมองอีกแบบหนึ่ง ในขณะที่คนชั้นกลางใหม่ในภาคเกษตรกรรมก็มีมุมมองต่อประชาธิปไตยของตนเอง และชาวบ้านในชุมชนชายขอบก็เช่นเดียวกัน
ที่น่าหนักใจคือ ทัศนะที่เพาะตัวขึ้นจากความเหลื่อมล้ำที่สุดขั้วมักเป็นทัศนะที่ยากจะไกล่เกลี่ยประนีประนอม เพราะมันผูกติดอยู่กับเดิมพันเรื่องผลประโยชน์ที่เป็นแกนชีวิตของแต่ละฝ่าย ในเงื่อนไขดังกล่าวบรรยากาศเสรีนิยมจึงเกิดขึ้นได้ยาก และความขัดแย้งทางความคิดก็มักนำไปสู่การเผชิญหน้าทางการเมือง กระทั่งในบางกรณี ถึงกับนำไปสู่ความรุนแรง
ยกตัวอย่างเช่นในปี 2549 ในขณะที่ชนชั้นกลางใหม่ในชนบทกำลังตื่นเต้นยินดีกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาล คนชั้นกลางในเมืองหลวงจำนวนไม่น้อยกลับรู้สึกวิตกกังวลในสิ่งที่เรียกว่าประเด็นคุณธรรมของฝ่ายบริหาร
รวมทั้งรู้สึกหวั่นไหวเกี่ยวกับฐานะของตน เพราะเห็นว่ามาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดกติกาของระบบตลาดเสรี เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว บางส่วนจึงถึงกับเต็มใจให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลด้วยวิธีการที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย
ในทำนองเดียวกัน เหตุการณ์นองเลือดในปี 2553 ก็มาจากความคิดเห็นที่ไม่อาจไกล่เกลี่ยประนีประนอม เพราะมวลชนที่ต่อต้านรัฐบาลในช่วงนั้นเห็นว่ารัฐบาลมีที่มาไม่ชอบธรรม อีกทั้งพวกเขายังรู้สึกว่าตัวเองถูกชนชั้นที่เหนือกว่าข่มเหงรังแกตามอำเภอใจ
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ผมเห็นว่ามีรากฐานมาจากความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วทั้งสิ้น ความเหลื่อมล้ำสุดขั้วคือที่มาของความขัดแย้งรุนแรงในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยสงครามประชาชนในชนบท มาจนถึงกรณีกระชับพื้นที่ด้วยกระสุนจริงที่ราชประสงค์
กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ เราไม่มีทางจะสร้างเสถียรภาพทางการเมืองได้เลย ถ้าหากไม่มีความพยายามแก้ไขปรับปรุงให้ช่องว่างทางชนชั้นเหล่านี้ลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าเศร้าก็คือ ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำดังกล่าวไม่เพียงไม่ลดลง หากยังเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก ตัวเลขจากปี 2552 ระบุว่ารายได้ของคน 20 เปอร์เซนต์แรกที่อยู่ลำดับสูงสุดกับคน 20 เปอร์เซนต์ที่อยู่ข้างล่างสุดห่างไกลกันถึง 13.2 เท่า (มติชน 6 พค.52) และคน 10 เปอร์เซนต์ที่รวยสุดเป็นเจ้าของสินทรัพย์มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ เทียบกับคนชั้นล่างสุด 10 เปอร์เซนต์ได้ส่วนแบ่งไปแค่ 3.9 เปอร์เซนต์ (มติชน 5 ตค.52)
และถ้าจะพูดถึงการกระจุกตัวของความมั่งคั่งจริง ๆ แล้ว ตัวเลขยังน่าตกใจกว่านี้อีก ดังจะเห็นได้จากการค้นคว้าของนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งพบว่า 42 เปอร์เซนต์ของเงินฝากในธนาคารทั้งประเทศ ซึ่งมีค่าประมาณหนึ่งในสามของจีดีพีประเทศไทย เป็นของคนเพียงสามหมื่นห้าพันคน จากจำนวนประชากรราว 64 ล้านคน (ผาสุก พงษ์ไพจิตร/ มติชน 18 พย.52)
ล่าสุด นิตยสารฟอร์บส์ได้เปิดเผยรายชื่อมหาเศรษฐี 50 อันดับแรกของประเทศไทย ปรากฏว่าคนจำนวนหยิบมือเดียวเหล่านี้เป็นเจ้าของมูลค่าความมั่งคั่งรวมกันแล้วกว่า 2.6 ล้านล้านบาท ซึ่งเท่ากับ 1 ใน 4 หรือ 25 เปอร์เซนต์ของจีดีพี นอกจากนี้ 44 คนในจำนวนดังกล่าวยังมีความมั่งคั่งเพิ่มจากปีที่ผ่านมา (โพสต์ทูเดย์ 4 กค. 56)
ยิ่งไปกว่านั้น แนวโน้มที่ความมั่งคั่งกระจุกตัวยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังรายงานของธนาคาร UBS ร่วมกับสถาบันแห่งหนึ่งสำรวจพบว่าเศรษฐีไทยที่มีเงินมากกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (960 ล้านบาท) มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าปีกลายนี้ 15.2 เปอร์เซนต์ หรือเพิ่มจาก 625 คนเป็น 720 คน คนเหล่านี้เป็นเจ้าของสินทรัพย์รวมมูลค่าแล้ว 110,000 ล้านเหรียญ หรือกว่า 3.52 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นมาจากปีกลาย 520,000 ล้านบาท (ไทยรัฐ 23 กย.56)
ในทางตรงกันข้าม เมื่อเราหันมามองชีวิตของเกษตรกรไทย ก็จะพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วพวกเขามีรายได้ทั้งปีเพียง114,000 บาท ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิตและรายจ่ายด้านอุปโภคออกแล้ว กลับติดลบปีละ 34,000 บาท (มติชน 6 พย.53) อันนี้หมายความง่าย ๆ ว่าพวกเขายิ่งผลิตยิ่งเป็นหนี้
และเมื่อพูดถึงรายได้เฉลี่ยของคนงานรับจ้าง เราก็จะเห็นภาพความเหลื่อมล้ำที่ครบวงจรมากขึ้น เพราะคนเหล่านี้ได้รับค่าจ้างเพียงเดือนละ 7,000-9,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเมื่อคิดเป็นค่าจ้างรายวันแล้ว ยังน้อยกว่าราคาอาหารกลางวันของคนชั้นกลางจำนวนมาก หรืออาจจะถูกกว่าราคากางเกงในที่ขายตามห้างหรู
ในขณะที่ช่องว่างระหว่างค่าตอบแทนของผู้บริหารบริษัทกับพนักงานระดับเสมียนก็ห่างไกลกันถึงกว่า 11 เท่า โดยผู้บริหารบริษัทในประเทศไทยได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าทุกประเทศในเอเชีย ยกเว้นฮ่องกง (สฤณี อาชวานันทกุล/ ความเหลื่อมล้ำฉบับพกพา/ 2554 น.43)
พูดแล้วก็พูดให้หมดเปลือก ความแตกต่างทางชนชั้นที่สุดขั้วเหล่านี้ ยังถูกทำให้เลวลงอีกด้วยระบบการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม เพราะภาษีจากรายได้และกำไรประเภทต่าง ๆ ซึ่งจัดเก็บจากคนที่ได้เปรียบ กลับมีสัดส่วนไม่ถึงครึ่งของรายได้รัฐจากภาษีทั้งหมด ในขณะที่ภาษีสินค้าและบริการซึ่งเก็บจากผู้บริโภคทุกคนกลายเป็นรายได้รัฐส่วนใหญ่ (http://whereisthailand.info/2013/03/sources-of-tax-revenue/) กล่าวอีกแบบหนึ่งคือคนรวยเสียภาษีน้อยเกินไป ส่วนคนจนก็เสียภาษีทางอ้อมทุกวัน
แน่นอน ตัวเลขเหล่านี้ย่อมมีนัยยะทางการเมืองอย่างใหญ่หลวง เราจะยืนยันหลักการแห่งความเสมอภาคได้อย่างไร บนภูมิประเทศทางเศรษฐกิจและสังคมที่ตรงข้ามกับความเสมอภาคอย่างสิ้นเชิง จำนวนของเกษตรกรและแรงงานรับจ้างในระบบนั้นเมื่อรวมกันแล้วเท่ากับเกินครึ่งของประชากรไทย อะไรจะเกิดขึ้นถ้าความคับแค้นทางเศรษฐกิจของพวกเขาเปลี่ยนเป็นความไม่พอใจทางการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในประเทศไทย การเอ่ยถึงความแตกต่างทางชนชั้นดูจะเป็นเรื่องต้องห้ามและชวนให้ไม่สบายใจสำหรับคนจำนวนไม่น้อย แต่ในความเห็นของผม ท่าทีแบบนี้ทั้งไร้ประโยชน์และเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะมันเท่ากับตัดประเด็นใจกลางออกไปจากความจริงของปัญหา ซึ่งท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะหรือทางออกที่ฉาบฉวย
ดังนั้น ผมจึงคิดว่าเราควรมองความจริงให้เต็มตา บ้านเมืองจึงจะพอทางออกได้บ้าง เราควรเปิดบาดแผลของประเทศออกมาดู และมองให้เห็นความเกี่ยวโยงอันใกล้ชิด ระหว่างความแตกต่างทางชนชั้นที่สุดขั้วกับภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมือง
สำหรับชนชั้นที่ได้เปรียบ ท่านควรยอมรับว่ามันหมดเวลาแล้วที่จะมีอุปาทานว่าตนเองไม่เดือดร้อนกับสภาพเช่นนี้ หมดเวลาแล้วเช่นกันที่จะโทษว่าบ้านเมืองวุ่นวายเพราะจริตฟุ้งซ่านของคนไม่กี่คน หรือแค่ขจัดคอรัปชั่นแล้วบ้านเมืองจะดีเอง
ผู้คนในประเทศไทยควรจะต้องตระหนักให้มากขึ้นว่าปัญหาของประเทศไม่ได้เกิดจากการโกงบ้านกินเมืองอย่างเดียว แม้ว่าสิ่งนั้นจะมีจริงและสมควรแก้ไข แต่คนที่ดูเหมือนมือสะอาดก็ใช่ว่าจะผุดผ่องอันใดนักหนา เพราะเงื่อนไขที่ก่อเรื่องมากกว่าคือระบบที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งรวยได้อย่างเหลือล้นโดยไม่ต้องโกง ขณะคนส่วนใหญ่ลำบากได้อย่างเหลือเชื่อทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เกียจคร้าน
ต่อไป เราลองมาพิจารณาอุปสรรคของประชาธิปไตยอันเนื่องมาจากยุคโลกาภิวัตน์ หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือผลกระทบของทุนนิยมไร้พรมแดนที่มีต่อเส้นทางเดินของสังคมไทย
แน่นอน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์มีด้านที่เป็นความเจริญอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ การกระตุ้นการเติบโตของพลังการผลิต และการทำลายพรมแดนที่เคยกั้นขวางสายใยสัมพันธ์ระหว่างมวลมนุษย์
อย่างไรก็ดี ถ้าพิจารณาเฉพาะด้านที่สร้างความเหลื่อมล้ำ เราจะพบว่าระบบทุนนิยมแบบไร้พรมแดนได้คะแนนต่ำอย่างน่าตกใจยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากการเลื่อนไหลเสรีของทุนและแรงงาน มักนำไปสู่ข้อได้เปรียบของชนชั้นนายทุนฝ่ายเดียว ส่วนผู้ใช้แรงงานนั้นแทบไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเหลือ ขณะที่ระบบการค้าเสรีก็ทำให้เกษตรกรรายย่อยแทบทำอะไรไม่ได้เลย ในการตั้งราคาผลผลิตที่สมเหตุสมผล
ที่เลวร้ายกว่านั้นอีกก็คือ ทุนนิยมโลกาภิวัตน์แท้จริงแล้วไม่ได้พึ่งกลไกตลาดอย่างเดียว หากยังกดดันและผูกมัดให้อำนาจรัฐต่าง ๆ หันมาคุ้มครองกฎกติกาที่ตัวเองกำหนดด้วย ซึ่งในกรณีของไทยนั้น นอกเหนือไปจากการออกกฎหมาย 11 ฉบับตามข้อเรียกร้องของไอเอ็มเอฟแล้ว ทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และฉบับ 2550 ต่างก็มีบทบัญญัติเหมือนกันว่ารัฐจะต้องดำเนินนโยบายสนับสนุนกลไกการค้าเสรี
ใช่หรือไม่ว่านี่เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ปัญหาการเมืองไทยยิ่งสลับซ้อนมากกว่าเดิมหลายเท่า เพราะมันหมายความว่าทุนนิยมโลกาภิวัตน์ไม่เพียงเข้ามาเร่งขยายความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเท่านั้น หากยังปิดกั้นหนทางแก้ไขเอาไว้ด้วย
อันที่จริงในระยะใกล้ ๆ นี้สิ่งบอกเหตุก็พอมีอยู่แล้ว เช่นในกรณีปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท กับกรณีนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลปัจจุบัน เป็นต้น
กรณีแรกนอกจากมีเสียงบ่นจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว ปรากฏว่านายทุนไทยยังย้ายไปลงทุนในประเทศค่าแรงต่ำเป็นจำนวนมาก ส่วนกรณีหลัง ถ้าตัดเสียงครหานินทาเรื่องทุจริต ออกไป ก็จะพบว่าเสียงวิจารณ์ส่วนใหญ่ล้วนมาจากมุมมองแบบเสรีนิยมใหม่ทั้งสิ้น
และในทั้งสองกรณี ผู้วิจารณ์ต่างพากันแสดงความห่วงใยระบบตลาดและใช้ฐานคิดดังกล่าวเป็นกรอบอ้างอิงความถูกต้อง ส่วนชีวิตของกรรมกรและชาวนาที่เสียเปรียบเชิงโครงสร้างนั้น แทบจะไม่มีใครเอ่ยถึง
พูดง่าย ๆ คือรัฐไทยกำลังถูกทุนนิยมโลกาภิวัตน์กดดันให้เมินเฉยต่อชนชั้นที่เสียเปรียบมากขึ้น
ในเมื่อสภาพเป็นเช่นนี้ พื้นที่สำหรับการบริหารจัดการปัญหาต่าง ๆ ของรัฐไทยจึงถูกลดทอนลง ภายใต้กรอบกติกาของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ อำนาจในการจัดการสังคมถูกโอนไปไว้ที่กลไกตลาดเป็นส่วนใหญ่ และรัฐเองก็กำลังถูกแปรรูปดัดแปลงให้รับใช้เฉพาะชนชั้นนายทุน
คำถามมีอยู่ว่า แล้วระบบทุนจะดูแลคนได้ทั่วถึงหรือไม่ มันมีศักยภาพในการแก้ไขปรับปรุงตัวเองมากน้อยเพียงใด เรื่องนี้ผมไม่ต้องพูดมาก ก็เห็นชัดกันอยู่แล้วว่าเป็นไปได้ยาก
ที่ผ่านมาหลายปีการขยายตัวของทุนนิยมในประเทศไทยถูกยกขึ้นเป็นทั้งวาระแห่งชาติและผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งอาจจะเป็นจินตภาพที่คลุมเครือมาตั้งแต่ต้น แต่มาถึงยุคทุนนิยมไร้พรมแดนเราอาจพูดได้ว่าความคลุมเครือนั้นได้หายไปหมดแล้ว มันชัดเจนที่สุดว่าสิ่งนี้คือมายาคติ ซึ่งไม่มีความเป็นจริงใด ๆ รองรับ
ถามว่าทำไมผมจึงกล้าพูดเช่นนี้ ที่กล้าพูดก็เพราะกฎเกณฑ์ของทุนนิยมโลกาภิวัตน์นั้นอยู่ตรงข้ามกับจินตภาพเรื่องชาติในระดับประสานงา
มันเป็นระบบที่ถือว่าทั้งโลกเป็นตลาดเดียวกัน และไม่ยอมรับอำนาจของรัฐไหนในการกำหนดกติกาอย่างเป็นอิสระ ไม่ยอมรับข้อจำกัดใด ๆ ในการเคลื่อนย้ายทุนและหากำไรจากทุน ซึ่งรวมทั้งไม่ยอมรับข้อจำกัดทางความคิดหรือทางศีลธรรมด้วย
ดังนั้นปรากฏการณ์นายทุนทิ้งชาติจึงเป็นเรื่องที่ทั้งถูกต้องและปกติธรรมดาในเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดน สำหรับระบบนี้ไม่มีเหตุผลชุดอื่นมาแทนกำไรสูงสุดได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างงานให้คนในชาติ การกระจายรายได้ให้ชนชั้นผู้เสียเปรียบ หรือผลประโยชน์ทางด้านภาษีอากรของรัฐ
ใช่หรือไม่ว่าทุนไทยเองก็กำลังเคลื่อนไปในทิศทางนั้น
รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าภายในไตรมาสแรกของปี 2555 นักนักธุรกิจไทยได้นำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศถึง 3.08 แสนล้านบาท (โพสต์ทูเดย์ 8 พค.55) และเมื่อเดือนมกราคม 2556 ก็มีรายงานจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยืนยันว่าโรงงานผลิตเสื้อผ้าและรองเท้ายี่ห้อดังของไทยไม่ต่ำกว่า 100 โรงงานกำลังหาทางย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหนีค่าแรงขั้นต่ำใน
ประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นเป็น 300 บาท ในจำนวนนี้มีบางโรงงานที่กำลังทยอยเลิกจ้างพนักงานเพื่อปิดกิจการในประเทศ (โพสต์ทูเดย์ 28 มค.56)
แน่นอน แรงจูงใจสำคัญของนักลงทุนไทย คือค่าแรงราคาถูกและสิทธิพิเศษทางด้านภาษี ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศเวียดนาม ค่าแรงตามเมืองใหญ่อยู่ในระดับวันละ 200 บาท และนอกเมืองออกไปยังต่ำกว่านั้นอีก นอกจากนี้ยังอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเป็นเจ้ากิจการได้ถึง 100 เปอร์เซนต์ ด้วยเหตุนี้ภายในครึ่งปีแรกของ 2556 ปีเดียว จึงมีนักธุรกิจไทยไปลงทุนในเวียดนามถึงกว่า 300 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 6,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 183,000 ล้านบาท (โพสต์ทูเดย์ 13 สค.56)
ส่วนกัมพูชานั้นค่าแรงยิ่งต่ำลงมาอีก บางแห่งอัตราค่าจ้างรายวันอยู่ที่เพียง 70 บาท กลุ่มทุนไทยจึงเริ่มดำเนินการสร้างนิคมอุตสาหกรรมขึ้นใกล้ชายแดน เพื่อรองรับทุนไทยเป็นหลัก (โพสต์ทูเดย์ 25 มีค. 56)
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ของการลงทุนแบบข้ามชาติของบรรดานักธุรกิจไทย ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการขยายตัวสู่ประเทศตะวันตกของทุนใหญ่อีกหลายเจ้า ซึ่งแรงจูงใจอาจจะไม่ได้อยู่ที่ค่าแรงราคาถูก เท่ากับการช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดสินค้าระดับโลก
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าทุนข้ามชาติกับทุนทิ้งชาติแท้จริงแล้วเป็นสิ่งเดียวกัน และมันคงเป็นเรื่องยากสิ้นดีที่จะเห็นทุนนิยมโลกาภิวัตน์ทำหน้าที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นหรือช่วยสร้างความเป็นธรรมทางสังคม แม้แต่เสรีภาพในจินตภาพของระบบนี้ก็ดูจะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องการค้าการลงทุนเสรี ตลอดจนการบริโภคเสรีเท่านั้น
ในเมื่อสภาพเป็นเช่นนี้แล้ว ผลประโยชน์อันล่อนจ้อนของชนชั้นนายทุน (ทั้งทุนไทยและต่างชาติ) จึงไม่อาจถูกรัฐใช้เสื้อคลุมชาตินิยมมาปกปิดได้ง่าย ๆ เหมือนเดิม ขณะเดียวกันเสื้อคลุมรัฐชาติก็หลุดลุ่ยเองด้วย เพราะรัฐกำลังกลายเป็นทั้งพนักงานประชาสัมพันธ์และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ระบบทุนเท่านั้น
อันที่จริง นี่ไม่ใช่สภาพที่เกิดกับประเทศไทยประเทศเดียว หากเกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งเกิดขึ้นในประเทศมหาอำนาจในโลกตะวันตกด้วย
โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลยืนยันว่าทุนนิยมโลกาภิวัตน์กำลังสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วขึ้นในสังคมอเมริกัน ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย
เขาได้ชี้ให้เห็นว่า ระบบการเมืองอเมริกันซึ่งเป็นประชาธิปไตยเก่าแก่ที่สุดในโลก กำลังถูกบิดเบือนให้กลายเป็น ‘ระบบหนึ่งดอลล่าร์หนึ่งคะแนน’ แทนที่จะเป็นไปตามหลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียงดังที่เคยเป็นมา ประชาชนคนส่วนใหญ่แทบไม่สามารถกำหนดเส้นทางเดินของประเทศได้เลย เพราะอิทธิพลของกลุ่มทุนและพวกที่ถือครองความมั่งคั่งสูงสุด (โจเซฟ สติกลิตซ์/ สฤณี อาชวานันทกุล แปล/ ราคาของความเหลื่อมล้ำ/ 2556 น.225-260)
พูดก็พูดเถอะ ในระยะหลัง ๆ ถ้ารัฐบาลมีท่าทีจะปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีที่ส่งผลกระทบถึงพวกเขา เศรษฐีอเมริกันก็พร้อมจะใช้ไม้ตาย ด้วยการโอนไปถือสัญชาติอื่น เฉพาะครึ่งปีแรกของ 2556 พวกเขาก็ทำเช่นนี้เกือบ 2 พันคน และเมื่อเปรียบเทียบไตรมาส 2 ของปีนี้กับปีก่อน จำนวนเศรษฐีทิ้งสัญชาตินับว่าเพิ่มขึ้นถึง 6เท่า เนื่องจากนโยบายภาษีของรัฐบาลพรรคเดโมแครต ( โพสต์ทูเดย์ 12 สค.56) สำหรับเรื่องนี้ พฤติกรรมของเศรษฐีในประเทศแถบยุโรปก็ไม่ต่างกัน
แน่ละ ในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ ผมคิดว่านายทุนใจดีที่เห็นอกเห็นใจผู้เสียเปรียบย่อมมีอยู่ แต่ถ้าพูดโดยภาพรวมของทุนนิยมโลกาภิวัตน์แล้ว ก็คงต้องสรุปว่ามันเป็นระบบที่หากปล่อยไว้โดยลำพัง ย่อมไม่สามารถจัดสรรผลประโยชน์ให้กับประชาชนได้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง
ดังนั้น ผลกระทบจากทุนนิยมไร้พรมแดนที่มีต่อประเทศไทยจึงมีนัยยะทางการเมืองอย่างใหญ่หลวง มันหมายถึงว่าในด้านหนึ่งเราจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการทางการเมืองมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่แก้ไขตัวเองไม่ได้ และในอีกด้านหนึ่งก็ต้องแก้ไขปมเงื่อนทางการเมืองที่โลกาภิวัตน์มาผูกมัดไว้ด้วย ทั้งสองด้านนี้บางทีอาจจะต้องสะสางไปพร้อม ๆ กัน
ถามว่าแล้วอันใดเล่าคือคือปมปัญหาทางการเมืองอันเนื่องมาจากระบบทุนนิยมแบบข้ามชาติ และกระบวนการทางการเมืองแบบไหนบ้างที่จะช่วยคลายปมเหล่านั้น ต่อเรื่องนี้ผมคิดว่าเราอาจพิจารณาได้เป็น 3 ระดับด้วยกัน
ในระดับรัฐ (state level) เราควรตระหนักว่าโลกาภิวัตน์ทำให้ความเป็นรัฐชาติของไทยว่างเปล่าขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากพลังอำนาจจากนอกประเทศเข้ามามีส่วนกำหนดนโยบายของรัฐไทยได้ในสัดส่วนที่สูงมาก อีกทั้งตลาดก็กลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่รัฐเข้าไปแตะต้องไม่ได้
การเลื่อนไหลเข้าออกของทุนและแรงงานทำให้จินตภาพความเป็นชาติเจือจางขึ้นทุกที นายทุนต่างชาติเข้ามาถือครองทรัพย์สินในประเทศไทยในสัดส่วนมหาศาล ขณะที่ผู้ใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนนับล้านก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของผม ประเด็นหลักไม่ได้อยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ หากอยู่ที่การกลบเกลื่อนความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยวาทกรรมที่หมดสมัย
เช่นเดียวกับเรื่องชนชั้น ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องพูดกันตรง ๆ ว่ารัฐไทยไม่เหมือนเดิม และสังคมไทยก็เปลี่ยนไปเช่นกัน มันไม่ได้เป็นก้อนเดียวโดด ๆ อีกทั้งไม่ได้ประกอบด้วยคนไทยล้วน ๆ เราจะจัดที่จัดทางให้ผู้คนเหล่านี้อยู่ร่วมกันอย่างไรยังเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาค้นคว้า แต่ที่แน่ ๆ คือรัฐไม่ควรอ้างว่าผลประโยชน์ของทุนเป็นผลประโยชน์ของชาติอีก
ในยุคที่ช่องว่างทางชนชั้นถ่างห่าง จินตภาพเรื่องส่วนรวมพร่ามัว รัฐไทยยิ่งจำเป็นต้องขยายบทบาทในการบริหารความเป็นธรรม ทั้งสังคมและรัฐจึงจะอยู่รอดได้ และเพื่อจุดมุ่งหมายนี้บางทีรัฐอาจจะต้องยอมปรับโครงสร้างอำนาจของตนเอง โดยกระจายอำนาจสู่หัวเมืองต่างจังหวัดและชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพื่อว่าประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ จะได้มีเครื่องมือมากขึ้นในการคุ้มครองอัตลักษณ์และผลประโยชน์ของพวกเขา ก่อนที่โลกาภิวัตน์จะถอนรากถอนโคนทุกสิ่งทุกอย่าง
อันดับต่อมา ในระดับระบอบการเมือง (regime level) ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ทำให้ระบอบประชาธิปไตยถูกคว้านไส้ออกไปหลายเรื่อง เพราะนโยบายหลักหลายอย่างกลายเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ดังนั้นในหลาย ๆ กรณีเจตจำนงของประชาชนจึงกลายเป็นสิ่งที่ผู้นำการเมืองตอบสนองไม่ได้
พูดอีกแบบหนึ่งคือ กลไกตลาดเสรีกำลังทำให้เนื้อในของระบอบประชาธิปไตยว่างเปล่า เพราะผู้มีอำนาจต่อรองสูงในตลาดย่อมมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของศูนย์อำนาจมากกว่าปวงชนซึ่งเป็นเจ้าของอธิปไตย ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าทิศทางการจัดการสังคมของกลไกตลาด ไม่ได้สอดคล้องกับเสียงของประชาชนเสมอไป กระทั่งเป็นการลิดรอนสิทธิทางการเมืองของประชาชนอยู่โดยอ้อม
เรียนตรง ๆ นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราควรมองเห็นว่าเป็นปัญหา มิฉะนั้นแล้วจะเท่ากับช่วยกันสร้างภาพลวงตาว่าในระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมใหม่ ประชาชนสามารถกำหนดได้ทุกอย่าง ทั้ง ๆ ที่โดยความเป็นจริงประชาชนไม่สามารถกำหนดนโยบายพื้นฐานได้เลย แม้แต่ผู้นำการเมืองก็ยังต้องคอยเสาะหาช่องเล็กช่องน้อยคิดนโยบายที่ไม่ขัดแย้งกับตลาด หรือไม่ขัดใจทุนนิยมโลก ออกมาเป็นนโยบายหาเสียง แทนที่จะคิดถึงนโยบายใหญ่ ๆ ที่เป็นทางเลือกเชิงโครงสร้าง
ดังนั้น ประเทศไทยคงฝากประชาธิปไตยไว้กับสถาบันและกระบวนการที่เป็นทางการอย่างเดียวไม่ได้ หากต้องประสานบทบาทของการเมืองภาคประชาชน และการเมืองมวลชนเข้ากับระบบรัฐสภา ทั้งนี้เพราะพลังทั้งสองส่วนต่างก็มีปัญหากับทุนนิยมโลกไปคนละแบบ และมีแรงจูงใจสูงที่จะอาศัยมาตรการทางการเมือง
สำหรับฝ่ายแรกนั้นมักประกอบด้วยกลุ่มประชาชนที่ต้องการอยู่นอกตลาดเสรี ส่วนฝ่ายหลังแม้จะเป็นชนชั้นที่ต้องอยู่กับตลาดแต่ก็อยู่อย่างเสียเปรียบปราศจากอำนาจต่อรอง ด้วยเหตุดังนี้ ฝ่ายหนึ่งจึงเรียกร้องพื้นที่จัดการตัวเอง ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการพื้นที่ในกระบวนการกำหนดนโยบาย
ต่อไป เรามาพูดกันถึงผลกระทบของโลกภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในระดับรัฐบาล (government level) ในระดับนี้ ความยากลำบากที่สุดอยู่ที่บทบาทการเป็นผู้นำประเทศ หรือผู้นำของฝ่ายบริหาร ทั้งนี้เนื่องจากกรอบอ้างอิงเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวมแบบเก่าเริ่มใช้ไม่ได้
เศรษฐกิจไร้พรมแดนทำให้ผลประโยชน์ต่างชาติกับของคนในประเทศไม่มีเส้นแบ่งอีกต่อไป ขณะที่ผลประโยชน์ของชนชั้นที่ได้เปรียบก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับของชนชั้นที่เสียเปรียบ ยังไม่ต้องพูดถึงความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มประชาชนในอีกสารพัดเรื่อง ซึ่งทำให้ยากต่อการเหมารวมว่ารัฐบาลกำลังทำเพื่อคนไทยทุกคน
ในเมื่อรัฐบาลขาดข้ออ้างที่ทุกฝ่ายยอมรับ การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารย่อมถูกคัดค้านถี่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นวิกฤตฉันทานุมัติ (Political Consensus) อย่างต่อเนื่อง มวลชนจำนวนมหาศาล และหลายหมู่เหล่า เริ่มเห็นว่ารัฐไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องเชื่อฟังกันโดยปราศจากเงื่อนไข ดังนั้นจึงพร้อมจะกดดันรัฐบาลให้ค้ำประกันผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของพวกเขา
ตามความเห็นของผม วิธีแก้ไขสภาพดังกล่าวไม่อาจเป็นอย่างอื่น นอกจากจะต้องยอมรับว่าสังคมไทยไม่ได้ประกอบด้วยราษฎรก้อนเดียวที่รักกันอยู่ตลอดเวลา และใครก็ตามที่มีบทบาทนำพาประเทศจะต้องเลิกอ้างอิงผลประโยชน์แห่งชาติแบบลอย ๆ เพื่อปกปิดผลประโยชน์ทางชนชั้นเสียที เพราะถึงอย่างไรก็ปิดไม่มิดอยู่แล้ว
อันที่จริงผลประโยชน์อันล่อนจ้อนของนายทุนก็มีส่วนทำให้ชนชั้นล่าง ๆ ไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากจะเรียกร้องผลประโยชน์อันล่อนจ้อนของชนชั้นตนด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ ราคาข้าว ราคายาง หรือค่าชดเชยเรื่องมลภาวะ พูดกันง่าย ๆ คือไม่มีใครยอมอ่อนข้อ หรือเสียสละเพื่อสิ่งที่จับต้องไม่ได้อีกต่อไป
ล่าสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เปิดเผยเมื่อต้นเดือนตุลาคมว่าปีนี้มีการชุมนุมของประชาชนไทยมากกว่า 3,000 ครั้ง และในจำนวนนั้นเป็นการประท้วงหรือเรียกร้องเรื่องเศรษฐกิจปากท้องถึง 1,939 ครั้ง ที่เหลือเป็นเรื่องการเมือง (ไทยรัฐ 8 ตค.56)
แน่ละ เราอาจตีความได้ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงสิทธิเสรีภาพของชาวไทยในยุคปัจจุบัน แต่สำหรับความเสมอภาคและความเป็นธรรมแล้วเห็นทีจะไม่ใช่ ข้อเท็จจริงคือผู้คนกำลังเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และไม่มีใครยอมรับความเดือดร้อนนี้โดยไม่ต่อสู้ดิ้นรน
ดังนั้น ผู้นำการเมืองที่ตื่นรู้จึงควรย้ายฐานความชอบธรรมของอำนาจไปสู่การสนองผลประโยชน์รูปธรรมของประชาชนให้มากขึ้น ยอมรับว่ารัฐบาลต้องมีบทบาทบริหารความเป็นธรรมและแก้ไขความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากกลไกตลาด รวมทั้งต้องรับฟังเสียงของประชาชนที่หลากหลายแตกต่างไม่เฉพาะในช่วงเสียงเลือกตั้ง หากตลอดช่วงที่อยู่ในอำนาจ และในทุกขั้นตอนของการตัดสินใจ
หากทำเช่นนั้นได้ก็เท่ากับแปรวิกฤตฉันทานุมัติให้เป็นโอกาสในการพัฒนาประชาธิปไตย
ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
ผมต้องขออภัยที่ได้ใช้เวลาค่อนข้างมากในการพูดถึงความเหลื่อมล้ำ และผลกระทบที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยไทย อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าประเด็นนี้คือปัญหาใหญ่สุดของยุคสมัย ทั้งของโลกและของบ้านเรา มันเป็นสถานการณ์ที่สาปแช่งคนจำนวนมหาศาล ให้จมปลักอยู่กับความต่ำต้อยน้อยหน้า อับจนข้นแค้น และเสียโอกาสที่จะได้ลิ้มรสความเจริญ
วันนี้ ผมขออนุญาตเป็นปากเสียงให้กับพี่น้องเหล่านั้น เพราะผมคิดว่าพวกเขามีโอกาสน้อยเกินไปในการพูดถึงความเสียเปรียบของตน
โดยสารัตถะแล้ว สิ่งที่ผมพูดก็ไม่ได้ต่างจากที่เคยพูดเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ไม่ได้หลุดไปจากความฝันเดือนตุลาคมที่หมุดประวัติศาสตร์กำลังจะจดจารึกไว้
เพียงแต่ว่าในวันนี้ บริบทที่เปลี่ยนไปของโลก ทำให้เราเห็นพ้องต้องกันน้อยลง
ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติรับฟัง
_______________________________________