จาก "สื่อสงคราม" สู่ "สื่อสันติภาพ" พลวัตข่าวไฟใต้กับบทบาทใหม่ของสื่อประชาสังคม
ในการเสวนาหัวข้อ "บทบาทสื่อในพื้นที่อ่อนไหวต่อความมั่นคง" เมื่อวันอังคารที่ 8 ต.ค.2556 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ผู้ร่วมเสวนาหลายคนได้วิพากษ์การทำหน้าที่ของสื่อต่อสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีลักษณะเป็น "สื่อสงคราม" พร้อมข้อเสนอก้าวสู่การเป็น "สื่อสันติภาพ" เพื่อลดเงื่อนไขการใช้ความรุนแรง
การเสวนาดังกล่าวจัดโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
3 ดัชนีบ่งชี้สื่อขายความรุนแรง
สุณัย ผาสุข นักสิทธิมนุษยชนชื่อดังจากฮิวแมนไรท์วอทช์ ประเทศไทย ในฐานะผู้ดำเนินการเสวนา กล่าวนำตอนหนึ่งว่า บทบาทของสื่อในพื้นที่อ่อนไหวอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สื่อส่วนใหญ่โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักยังคงเน้นการนำเสนอข่าวในรูปแบบของ war journalism (การรายงานข่าวที่เน้นความรุนแรง) โดยมี 3 ดัชนีบ่งชี้ที่สำคัญ คือ
1.การใช้ภาษาแสดงอารมณ์ความรู้สึกเกินจริง
2.การใช้ภาษาที่แสดงถึงความเป็นผู้ร้าย
3.การใช้ภาษาที่แสดงถึงการตกเป็นเหยื่อ ทำให้รู้สึกน่าเวทนาสงสาร
นอกจากนั้น สื่อส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับแหล่งข่าวภาครัฐ และผู้นำในพื้นที่ซึ่งมีสถานะอำนาจผูกพันกับรัฐ
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาก็มีพัฒนาการของประชาสังคม และกระบวนการสันติภาพที่เปิดโอกาสให้เริ่มมีพื้นที่สำหรับ "สื่อเพื่อสันติภาพ" ในลักษณะ peace journalism เน้นทำความเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ และให้ความสำคัญกับความหลากหลายของผู้ที่เกี่ยวข้อง มีการรายงานผลกระทบอย่างรอบด้าน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการสันติภาพเป็นตัวกระตุ้นให้สื่อภาคประชาสังคมมีมากขึ้น
ขณะที่หน่วยงานด้านการสื่อสารของรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งฝ่ายความมั่นคง และสำนักประชาสัมพันธ์ ประสบปัญหาในการทำหน้าที่สื่อสันติภาพ เนื่องจากขาดความเข้าใจจากภาคประชาชน เพราะมุ่งหวังผลการสื่อสารเชิงจิตวิทยาความมั่นคงเท่านั้น เป็นการทำสื่อที่ยึดความต้องการของผู้ส่งสารมากกว่าผู้รับสาร เป็นรูปแบบการสื่อสารแนวดิ่ง
กระบวนการทำงานของสื่อ นอกจากความไม่ปลอดภัยแล้ว ยังมีปัญหาคู่ขัดแย้งพยายามควบคุม แทรกแซง กลั่นกรอง หรือตัดทอนสื่อ ส่วนผู้บริโภคสื่อก็เลือกบริโภคสื่อที่นำเสนอข้อมูลด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว และหวาดระแวงสื่อที่นำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่ง
ปฏิรูป 4 ด้านสู่สื่อเพื่อสันติภาพ
ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล อาจารย์คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ขยายความเรื่อง "สื่อเพื่อสันติภาพ" หรือ peace journalism ว่า เป็นแนวคิดใหม่ของคนทำสื่อที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะสื่อมวลชน แต่หมายถึงวิชาชีพสื่อและการสื่อสารโดยรวมด้วย
ทั้งนี้ สื่อเพื่อสันติภาพมุ่งปฏิรูปประเด็นต่างๆ ดังนี้
- ปฏิรูปแนวคิดการประเมินคุณค่าข่าวแบบใหม่ ไม่ใช่ยึดเหตุการณ์เชิงลบ 10 ข้อตามคุณค่าข่าวแบบเดิม แต่จะมีการประเมินผลกระทบจากความรุนแรงด้วย
- ปฏิรูปหรือออกแบบวิธีการนำเสนอข่าวใหม่ การพิจารณาเลือกแหล่งข่าวไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการระดับสูง หรือผู้อาวุโสในหมู่บ้าน แต่ทุกคนสามารถเป็นแหล่งข่าวได้
- ปฏิรูปการใช้ภาษา ไม่จำเป็นต้องตื่นเต้นหรือสะท้อนความรู้สึกของคนเขียนข่าวที่ไม่ใช่การอธิบายเหตุการณ์
- ปฏิรูปเป้าหมายการนำเสนอข่าว ไม่ใช่แค่เสนอเพราะเป็นข่าวที่ขายได้ แต่มีเป้าหมายนำไปสู่กระบวนการสร้างสันติภาพ
ผศ.ดร.วลักษณ์กมล ย้ำว่า สื่อเพื่อสันติภาพไม่ได้ละเลยการนำเสนอข่าวความรุนแรง แต่จะปฏิรูปวิธีการนำเสนออย่างไรให้สอดรับกับเป้าหมายสันติภาพ ใช้แหล่งข่าวที่หลากหหลาย ไม่ใช่ต้องนำเสนอแต่เรื่องดีๆ เท่านั้น
หลัก "3 ไม่" และอนาคตสื่อท้องถิ่น
สำหรับหลัก 3 ไม่ในการรายงานข่าวเพื่อสันติภาพ ประกอบด้วย
1.ไม่เน้นเหตุการณ์เฉพาะหน้าเหตุใดเหตุหนึ่ง เพราะสันติภาพเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา
2.ไม่ยึดติดคุณค่าข่าวแบบดั้งเดิม
3.ไม่เป็นอุปสรรคในกระบวนการสันติภาพเสียเอง
"สิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักคือ สื่อต้องร่วมมือไม่ใช่แข่งขัน มีกระบวนการออกแบบและจัดการเนื้อหาการทำงานที่ดีทุกขั้นตอน"
อาจารย์จาก ม.อ.ปัตตานี ยังเผยผลการศึกษา 10 ปีไฟใต้กับพลวัตที่ปรากฏอย่างชัดเจน 3 ประเด็น ได้แก่
1.พลวัตของเหตุการณ์รุนแรง ได้ก้าวข้ามมิติทางการทหารเป็นมิติทางการเมืองมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะรัฐเปิดนโยบายมากขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการสันติภาพ
2.ภาคประชาสังคมมีพลวัตจากเหยื่อสู่พลเมือง มีกำลังและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพ มีการใช้สื่อของภาคประชาสังคมขยายอำนาจของตนเอง
3.พลวัตของสื่อและการสื่อสาร มีการถอนตัวจากพื้นที่มากขึ้นของสื่อกระแสหลัก เพราะเหตุการณ์เกิดนานและเกิดซ้ำๆ กัน แต่ก็มีสื่อเล็กสื่อน้อยเกิดมากมายในพื้นที่ ทำให้มีเสียงและพื้นที่การสื่อสารของคนกลุ่มใหม่ในสังคม นำไปสู่สื่อหลักในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ พื้นที่สื่อเหล่านี้เริ่มพึ่งหวังข้อมูลของสื่อเล็กสื่อน้อยในพื้นที่มากขึ้น
"เพราะฉะนั้นการพัฒนาของสื่อเล็กจึงมีความจำเป็น เพราะเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในสื่อกระแสหลัก และถึงที่สุดควรหลอมรวมสื่อกระแสหลัก สื่อท้องถิ่น และภาคส่วนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนสันติภาพผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ" นักวิชาการด้านสื่อจาก ม.อ.ปัตตานี ระบุ
3 อุปสรรค "ภาษา-ทัศนคติ จนท.-เครือข่าย"
ในเวทีเสวนายังมีการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลายของคนทำสื่อในพื้นที่ ทั้งสื่อมวลชนและภาคประชาสังคม...
พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ กล่าวว่า สื่อโทรทัศน์เป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนมากที่สุด แต่ 96% ของสื่อโทรทัศน์เป็นภาษาไทย ส่วนภาษามลายูมีเพียงช่อง 11 ส่วนแยกยะลา ซึ่งเป็นรายการภาษามลายูเพียงวันละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น
ปัจจุบันสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีประชากร 2.1 ล้านคน ในจำนวนนี้ 50% ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร อีก 30% ใช้ภาษามลายูปนไทย มีเพียง 20% ที่ใช้ภาษาไทยอย่างเดียว นั่นหมายความว่าสื่อ 96% เข้าถึงคนแค่ 20% ในพื้นที่หรือ
"สื่อรัฐมีคุณภาพและประสิทธิภาพในการแพร่กระจายอย่างครอบคลุม แต่มีปัญหาเรื่อง content หรือเนื้อหาที่ไม่โดนใจชาวบ้าน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่ได้ใช้ภาษามลายู และบุคลากรในสื่อของรัฐก็ไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้ดีพอ" พล.ต.ต.จำรูญ กล่าว
นายตูแวดานียา มือรีงิง ผู้อำนวยการสำนักข่าวอามาน ซึ่งทำงานกับสื่อต่างประเทศหลายสำนัก กล่าวว่า ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนไม่เข้าใจ และพยายามปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อต่างประเทศที่เข้ามาในพื้นที่ชายแดนใต้ ทั้งๆ ที่ควรเปิดกว้าง โดยเฉพาะการปฏิบัติงานและภารกิจของเจ้าหน้าที่รัฐเอง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสร้างความเข้าใจเผยแพร่ไปทั่วโลก
"แต่จากประสบการณ์หลายๆ ครั้งเจ้าหน้าที่ก็ปิดบังโดยใช่เหตุ โดยเฉพาะการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เอง อ้างว่ากลัวฝ่ายตรงข้ามล่วงรู้ยุทธวิธี ทั้งๆ ที่ฝ่ายตรงข้ามเขาขับรถเวียนดูคุณทุกวัน ไม่รู้จะปิดทำไม"
ขณะที่ รอซีดะห์ ปูซู ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสดประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การทำข่าวในพื้นที่ชายแดนใต้ ใช้หลักตรวจสอบข่าวแค่ 3 ฝ่าย คือ ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ไม่เพียงพอ ถ้าจะให้ดีต้องถามความเห็นของชาวบ้านด้วย โดยเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้านซึ่งรู้ข้อมูลมากที่สุด
ส่วน นายอับดุลรอแม เจะกายอ ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ปัจจุบันเรามี content providers หรือผู้ให้บริการด้านเนื้อหามากมาย แต่กลับไม่มี network providers คือมีเครือข่ายสื่อในการนำเสนอไม่เพียงพอ พูดง่ายๆ คือมีนางรำ มีผู้กำกับ แต่ไม่มีช่องทางนำเสนอ
"ส่วนตัวอยากให้มีทีวีเหมือนไทยพีบีเอสของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะ เพราะที่ผ่านมาไม่มีสถานีใดที่เป็นกลางและนำเสนอภาพที่ดูแล้วเข้าใจพื้นที่อย่างถ่องแท้เลย"
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บรรยากาศในงานเสวนาที่โรงแรมเดอะสุโกศล
2 ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล
หมายเหตุ :
1 ภาพในงานเสวนา ปรับแต่งโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา
2 ภาพ ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จากอัลบั้มภาพในเฟซบุ๊ค