ทุนแทรก-แบ่งขั้ว “สื่อ” ต้องปรับตัว ก่อนถูกสังคมโดดเดี่ยว
เสวนาเส้นทางสิทธิเสรีภาพสื่อ 40 ปี 14 ตุลาฯ “ป้าญัติ” มองทุนสามานย์แทรกทำสื่อแบ่งขั้ว อ.นิเทศฯ ชี้ถ้าสื่อไม่ปรับ อาจถูกสังคมโดดเดี่ยว ปล่อยรัฐเข้ามาจัดแถว "เทพชัย" แนะจับตา กสทช.ตัวแปรสำคัญในอนาคต
เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2556 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดงานราชดำเนินเสวนา เรื่อง “40 ปี 14 ตุลา เส้นทางเสรีภาพสื่อไทย” มีการเชิญนักวิชาชีพและนักวิชาการหลายคนมาเป็นวิทยากร
ทุนสามานย์แทรกสื่อแบ่งขั้ว
นางบัญญัติ ทัศนียะเวช อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวว่า ก่อน 14 ตุลาฯ ปี 2516 สื่อก็เหมือนประชาชน คือจำนนต่ออิทธิพลของเผด็จการ เราเขียนข่าวเท่าที่เขายอมให้เขียน แต่หลัง 14 ตุลาฯ มีการปลุกพลังของสิทธิเสรีภาพ เป็นยุคน้ำลดตอผุด ทว่าช่วงดังกล่าวอยู่ก็ได้แค่ 3 ปี เมื่อกลุ่มขวาตกขอบสร้างสถานการณ์ จนมีการปฏิรูปการปกครองในปี 2519 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับทุกปิดแล้วต้องไปรายตัวเพื่อขอเปิด หลายฉบับถูกปิดตาย บางฉบับได้ที่เปิดก็มีเงื่อนไขให้ไล่นักข่าวบางคนออก ถือเป็นยุคมืดของสิทธิเสรีภาพสื่อไทยอย่างแท้จริง
“มาถึงปัจจุบัน วงการสื่อแตกแยก ไม่เห็นอิทธิพลของทหาร เห็นแต่อิทธิพลของทุนสามานย์ที่เข้ามาแทรกแซง ทำให้สื่อแยกเป็นสองขั้ว บางฉบับรับใช้โจ่งแจ้ง บางฉบับเขียนสวนทางกันเองจนคนอ่านงง ส่วนตัวมองว่าถึงเวลาที่ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ยังมองไม่เห็นทางออก อาจต้องรอสะสมพลังมวลชน เช่น 14 ตุลาฯ” นางบัญญัติกล่าว
จะอยู่เป็นทาสหรือเสรีชน
นายสำเริง คำพะอุ อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า สถานการณ์สื่อทุกวันนี้มืดมิดกว่าหลัง 6 ตุลาฯ เมื่อปี 2519 คนทำหนังสือพิมพ์จะมีสิทธิเสรีภาพหรือไม่อยู่ที่ 2 ปัจจัย 1.เจ้าของสื่อ ผู้ออกนโยบาย จะสั่งกองบรรณาธิการ (กอง บก.) ว่ามีทิศทางอย่างไร และ 2.คนทำหนังสือพิมพ์ ถ้ารับนโยบายนั้นไม่ได้ ก็ควรเดินออกไป ทั้งนี้ เห็นว่าหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้เปลี่ยนไป คนข้ามเขื่อนแม่วงก์เดิน 388 กิโลเมตรไม่เสนอ ไปเสนอข่าวเรื่องพรรคฝ่ายค้านจะแตกหรือไม่ หนังสือพิมพ์เคยทำไม่ได้กับการโกหกของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร แต่กลับคนได้กับคนที่พูดไม่จริงว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม
“นี่คือความเป็นจริงที่มันเกิดขึ้น อยู่ที่ตัวเราเองว่าจะอยู่เป็นทาสหรือเสรีชน เราจะรับใช้ประชาชน รับใช้ตัวเอง หรือรับใช้นายทุน ที่เห็นแค่แก่ประโยชน์ส่วนตัว” นายสำเริงกล่าว
คนทำ นสพ.ต้องเป็นมืออาชีพ
นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ประธานมูลนิธิอิศรา อมันตกุล กล่าวว่า ถ้าใช้ 14 ตุลาฯ เป็นตัวแบ่งเรื่องเสรีภาพสื่อไทย มันอาจจะไม่ครอบคลุม เพราะก่อนหน้านี้ก็มีหลายเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง ถ้านับตั้งแต่ปี 2500 ก็มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับถูกปิด ถ้าจะเปิดใหญ่ต้องยอมทำตามข้อกำหนดของรัฐ ทำให้ช่วงนั้นมีแต่ข่าวสังคม ข่าวอาชญากรรม ที่บอกว่าคนรุ่นก่อนสู้ จึงไม่ใช่เลย เพราะคนที่สู้ คือคนรุ่นใหม่ ทำหนังสือพิมพ์เล็กๆ พยายามทำความจริงให้ปรากฏ ต่อสู้ในบริบทของตัวเอง เหมือนแม่น้ำที่พยายามไหลสู่ทะเล แม้จะต้องภูเขาน้อยใหญ่
“หน้าที่ของสื่อคือทำความจริงให้ปรากฏ คนที่มีอาชีวะปฏิญาณของวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เท่านั้นที่จะเป็นคนหนังสือพิมพ์ตัวจริง ไม่ใช่ขององค์กรสื่อใหญ่ๆ ที่เอาตัวรอดมาทุกสมัย” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว
กสทช.ตัวแปรสำคัญในอนาคต
นายเทพชัย หย่อง บรรณาธิการเครือเนชั่น กล่าวว่า การต่อสู้ของสื่อสมัยก่อนมันโดดเดี่ยวมาก คนในสังคมอาจไม่รับรู้มากเท่าไร จึงต้องชื่นชมจริงๆ เพราะสมัยก่อน ใครก็ตามที่เข้ามาเป็นสื่อ เขาไม่ได้ต้องการผลตอบแทนดีๆ หรือความมีชื่อเสียง แต่ต้องการให้สังคมมันดีขึ้นจริงๆ ทุกวันนี้สื่อก็ยังเรียกร้องประชาธิปไตย เปิดโปงการทุจริต ขุดคุ้ยการเล่นเส้นเล่นสาย แต่ความเข้มข้นกลับน้อยลงกว่าสมัย 14 ตุลาฯ แม้เครื่องมือจะมีมากขึ้นก็ตาม ตนมองว่าไม่มีรัฐบาลชุดไหนที่อยากให้สื่อมีเสรีภาพจริงๆ เขาต้องการสื่อที่ควบคุมได้ เรามี กสทช.ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อ มาจากการสรรหาโดย ส.ว. แต่เวลานี้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งเหมือน ส.ส.ทั้งหมด จึงไม่รู้ว่าในอนาคต กสทช. จะเป็นอย่างไร จะถูกการเมืองแทรกแซงหรือไม่
“เวลาเราพูดถึงเสรีภาพของสื่อ ก็หมายถึงเสรีภาพของคนในสังคม ที่จะได้รับสิ่งที่เขาควรรู้ ใครทำชั่วทำเลวอะไรไว้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเปลี่ยนไปในทางใด ยิ่งกำลังจะมีทีวิดิจิตอลอีกหลายสิช่องเกิดขึ้น” นายเทพชัยกล่าว
ทบทวนตัวเองก่อนถูกโดดเดี่ยว
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เดิมศัตรูสิทธิเสรีภาพสื่อก็คืออำนาจทหาร แต่นับแต่สื่อกระโดดเข้าตลาดหุ้น ทำธุรกิจเต็มตัว แล้วเจอวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้ฝ่ายโฆษณาเข้ามามีบทบาทเหนือกอง บ.ก. เนื้อหาบางอย่างถูกกำหนดโดยฝ่ายโฆษณา จนวันนี้เราแยกแทบไม่ออกว่าอะไรเป็นข่าว อะไรเป็นโฆษณา มีอะไรก็พูดได้ไม่เต็มปาก แถมบางครั้งสื่อไปช่วยบิดข่าวตามสปอนเซอร์ จึงไม่แปลกที่โทนข่าวจะเริ่มเปลี่ยนไป ข่าวสืบสวนไม่เข้มข้นเช่นก่อน ความน่าเชื่อถือของสื่อก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ วันนี้คนเริ่มตรวจสอบสื่อ แม้ยังรวมกลุ่มไม่ได้ แต่เป็นหน่ออ่อนขึ้นมา แล้วในอนาคต วันที่สื่อถูกอำนาจรัฐเข้ามาจัดแถว พอหันไปขอความช่วยเหลือ ประชาชนอาจจะโดดเดี่ยวสื่อ แล้วบอกว่าควรจะเข้าแถว อันนี้จะน่ากลัวกว่า
“สื่อควรจะยอมรับความจริง หันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง โดยเฉพาะการกำกับดูแลกันเอง ที่เป็นแค่เสือกระดาษมานาน ผมอยากเสนอให้รสื่อแต่ละแห่งมีหน่วยตรวจสอบภายใน ข่าวหรือภาพอะไรที่ไม่เหมาะสม ไม่ลงได้ไหม หรือถ้าลงแล้วมีผลกระทบ ใครรับผิดชอบ” นายมานะกล่าว
“เทคโนโลยี-คนอ่าน” เปลี่ยน จะรับมือเช่นไร
นายจักรกฤษ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า หลังวิกฤตเศรษฐกิจ ในปี 2540 หนังสือพิมพ์ปิดตัวจำนวนมาก ไม่นานจากนั้นก็ค้นพบการทำสื่อแบบใหม่ เป็นการเริ่มต้นของยุคที่มีอุตสาหกรรมสื่อ จากช่วงนั้นถึงช่วงนี้ ความเป็นสื่อมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่สถาบันเชิงอุดมการณ์ แต่เป็นไปในเชิงธุรกิจ สื่อคล้ายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมข่าว ทำข่าวโดยคำนึงถึงผลประกอบการ เพื่อที่กิจการจะได้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ฝ่ายโฆษณาเข้ามามีบทบาทสูงขึ้นในกอง บก. ถึงขั้นซื้อโฆษณาหุ้นปกหนังสือพิมพ์ได้แล้ว
“ถ้าจะให้สรุปก็คือการลิดรอนเสรีภาพ โดยอำนาจทหารยังไม่เปลี่ยน แต่การรุกเข้ามาของทุนมีมากขึ้น” นายจักรกฤษ์กล่าว
ด้านนายสมชัย สุวรรณบรรณ ผอ.สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา สื่อจะตั้งหลักยังไง กระแสข่าวเยอะแยะที่เข้ามา เราจะเลือกอะไรมานำเสนอ แนวโน้มทั่วโลกคือคนอ่านข่าวจากกระดาษน้อยลง แล้ววิธีในการรับสื่อ ความลุ่มลึกของคนเสพจะน้อยลงไป โลกอนาคตจะเป็นโลกปรนัย คือติ๊กๆๆ ดังนั้นถ้านำเสนออะไรหนักๆ คนจะไม่ค่อยรับ แล้วประเด็นที่เราเห็นว่าสำคัญกับที่คนอ่านเห็นว่าสำคัญ ก็อาจแตกต่างกัน วิธีการควบคุมสื่อก็เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ คำถามคือสื่อจะตั้งหลักอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น