จาก 14 ตุลาฯ ถึงอั้ม เนโกะ “อุดมการณ์นักศึกษา” ในสายตา “ยุกติ มุกดาวิจิตร”
เมื่อ “14 ตุลา” เวียนมาถึง สิ่งหนึ่งที่มักถูกตั้งคำถามคือ “อุดมการณ์” ของนักศึกษาวันนี้เข้มข้นเท่านักศึกษาเดือนตุลาฯ 2516 หรือไม่
(ภาพประกอบจากประชาไท)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดกรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตอบโต้การบังคับใส่เครื่องแบบผ่านภาพรณรงค์สุดร้อนแรง
นำไปสู่การวิจารณ์ทำนองว่าเขาหรือเธอสนใจแค่เสื้อผ้า-หน้า-ผม
ทั้งเกิดการนำไปเปรียบเทียบกับนักศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เคียงข้างชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองทองคำ บ้างมองว่ายิ่งไม่อาจเทียบได้กับนักศึกษาจำนวนไม่น้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ขับเคลื่อนเรียกร้องสันติภาพ บริบทของนักศึกษาในเมืองหลวงกับนักศึกษาต่างจังหวัดที่เรียกร้องความเป็นธรรมในระดับความเข้มข้นต่างกัน
จึงท้าทายให้ขบคิดว่าอุดมการณ์เพื่อส่วนรวมของเยาวชนคนหนุ่มสาวในนาม “นักศึกษา” วันนี้ ยังคงอยู่ต่างกันสักกี่มากน้อย
"ยุกติ มุกดาวิจิตร" อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ประกาศตัวว่าปฏิเสธ “เครื่องแบบ” ทั้งมักเชื้อชวนให้นักศึกษาตั้งคำถามและท้าทายกรอบอำนาจนิยม ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราในประเด็นดังกล่าวว่า
“แรกๆ ผมก็ไม่เข้าใจเขานะ นักศึกษาแต่ละรุ่นก็ต่างกัน แต่ละยุคสมัยมันก็มีโจทย์ที่ต่างไป แต่อย่างน้อยสมัยของผม แน่นอน ไม่ได้มีภาพอย่างรุ่น 14 ตุลาฯ ผมเป็นรุ่นที่อยู่ตรงกลางระหว่างรุ่นคนเดือนตุลาสมัยนั้นกับนักศึกษาสมัยนี้ แต่รุ่นผมก็ยังมีความคิดที่เชื่อมโยงกับประเด็นใหญ่ๆ ทางสังคม รุ่นผมก็เคลื่อนไหวให้มีการปิดป่าช่วงคุณสนั่น ขจรประศาสน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร รุ่นผมเคยจัดงานที่ลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาแล้ว แต่ปัจจุบันผมก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่าทำไมนักศึกษาไม่สนใจเรื่องพวกนี้ แต่ขณะเดียวกันผมก็พยายามเข้าใจเขาด้วยว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยนไป ทำไมเขาจึงสนใจเรื่องแบบนี้ ก็พยายามมองเขา”
รศ.ดร. ยุกติมองว่า นักศึกษาวันนี้ ไม่ใช่ผู้ถูกกระทำเหมือน 40 ปีก่อน แต่มีความเป็นตัวของเขาเองมากขึ้น เขามีที่ทางทางสังคมแล้ว ปัญหาพื้นฐานในทางการเมืองของเขาไม่ได้รับความกระทบกระเทือนมากเหมือนยุคก่อน ขณะที่นักศึกษาเมื่อ 40 ปีที่แล้วเขามองไม่เห็นอนาคตว่าเขาจะอยู่กับระบอบแบบนั้นได้อย่างไร
“เราให้เกียรตินักศึกษาสมัยนั้นที่เขาออกมาสู้เพื่ออุดมการณ์ แต่นักศึกษาเมื่อ 40 ปี ที่แล้วเขาก็เป็นผลผลิตของคนกลุ่มใหม่สมัยนั้นคือการขยายตัวของคนเมืองจำนวนมาก ในแง่หนึ่งเราก็เรียกว่ากลุ่มคนชั้นกลางในยุคนั้น เนื่องจากการขยายฐานการศึกษา การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การพยายามขยายภาคอุตสาหกรรม ภาคส่งออก ตั้งแต่นโยนบาย จอมพล สฤษดิ์ มันก็เกิดคนกลุ่มหนึ่งขึ้นมา นักศึกษาก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งในนั้น แล้วทำไมนักศึกษาจึงออกมา อาจไม่ใช่แค่ นักศึกษาเท่านั้น แต่นักศึกษาเป็นหัวขบวนเพราะเขาเริ่มมองไม่เห็นอนาคตว่าเขาจะอยู่กันไปอย่างไร ในทิศทางของสังคมโลก เขาก็มองว่าคนเราน่าจะมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น นักศึกษาก็อาจจะเป็นกลุ่มคนที่เป็นตัวแทนชนชั้นกลางในสมัยนั้น ที่มองเห็นว่าเราไม่อาจอยู่ในระบอบเผด็จการได้อีกต่อไป มองเห็นผลประโยชน์ของกลุ่มคน มันก็สอดคล้องกันว่าเมื่อสังคมก้าวหน้า เขาก็รับรู้ว่าเขามองไม่เห็นอนาคตอันใกล้ที่เขาจะมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางทางการเมืองของตัวเขา ประชาธิปไตยจึงเป็นคำตอบ”
รศ.ดร.ยุกติ กล่าวด้วยว่าจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมนั้น ในแง่หนึ่งได้เรียกร้องให้คนออกมาทำงานเพื่อมวลชน เพื่อส่วนรวม เพื่อกลุ่มก้อนที่ใหญ่โต แต่ตนมองว่าถึงที่สุดแล้วมันก็ตอบโจทย์ตัวเองเพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งที่คนเหล่านั้นมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีคนที่ทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จในโลกทุนนิยม ดังนั้นการที่เขาต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มันก็เป็นช่วงหนึ่งของชีวิต เป็นประเด็นที่กระตุกจิตสำนึกของส่วนรวม แต่เมื่อเรามองในระยะยาวมันอาจไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป
“เมื่อเรามองในแง่ของปัจเจกหรือท่าทีที่เขามีต่อการใช้ความรุนแรงโดยรัฐในเวลาต่อมา คนที่เคยปกป้องสิทธิเสรีภาพ คนจำนวนมากที่เคยแสดงออกในตอน 14 ตุลาฯ บางกรณีเรากลับเห็นท่าทีที่เปลี่ยนไป เราจึงเห็นว่าประเด็นที่เขาเรียกร้องมันเป็นการสร้างสำนึกต่อกลุ่ม จริงอยู่ หลายคนมีสำนึกที่ต่อเนื่อง แต่ผมก็เห็นว่ามันก็ยังมีนะที่ไม่ได้ต่อเนื่องมาตลอด ยิ่งนักศึกษาปัจจุบันเรายิ่งเห็นชัดเลยว่าเขาไม่ได้คำนึงถึงกลุ่มสักเท่าไหร่ ไม่ต้องเรียกร้องอะไรมากมาย เพราะเขามีอนาคตที่มันชัดเจน”
ทั้งนี้ รศ.ดร. ยุกติ ก็ยอมรับว่าสิ่งหนึ่งที่ตนมองเห็นจากนักศึกษาในวันนี้คือเมื่อปล่อยให้นักศึกษาทำในสิ่งที่เขาสนใจ มันทำให้ตนมองเห็นมิติใหม่ๆ ทางสังคมว่าสังคมปัจจุบัน ได้เรียนรู้จากนักศึกษาว่าถ้าให้เขาได้พูด แม้เขาอาจไม่ได้พูดตามกระแสแต่เขาก็มีแง่มุม มีความคิดของเขา ถ้าเราให้ความเห็นอะไรลง ไป แล้วเขาเรียนรู้ได้ เขาก็สามารถที่จะเอาวิธีคิดหรือสำนึกรับผิดชอบทางสังคม ไปจัดการกับปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ได้
“ดังนั้น เราก็ควรให้เขาได้พูดและรับฟังประเด็นของเขาเพื่อแลกเปลี่ยนกับเขา และในที่สุด ทำอย่างไรจะดึงประเด็นใหญ่ๆ ออกมาจากเรื่องเฉพาะหน้าที่เขาสนใจ ผมคงไม่ไปเรียกร้องเขา แต่ลองให้เขาพูด แล้วบอกว่าเรื่องที่เขาสนใจมันเชื่อมโยงกับประเด็นที่ใหญ่กว่ายังไง ผมเชื่อว่าในอนาคตเขาจะสนใจประเด็นที่มันใหญ่ขึ้นเองและรับผิดชอบสังคมในประเด็นที่กว้างขึ้นได้ อย่างตอนนี้มีประเด็นเรื่องชุดนักศึกษา ก่อนนี้ก็มีเรื่องระบบโซตัสที่ผมมองว่าทั้งเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพและเป็นเรื่องสาธารณะ เพราะทุกคนก็พูดถึงโซตัส"
"ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงไปถึงกลุ่มนักเรียนที่พูดเรื่องระบอบการศึกษา ผมว่าเขาฉลาดทีเดียวที่เลือกเรื่องที่คนมองข้าม อย่างเรื่องผมเกรียน เพราะเขามองว่าโรงเรียนต่างหากที่ผิดระเบียบไม่ใช่นักเรียน เพราะกฏกระทรวงศึกษาฯไม่ได้มีกฏให้บังคับว่านักเรียนต้องผมเกรียน เพียงระบุว่าให้สุภาพ รองทรงก็ได้ แต่โรงเรียนบังคับ นี่คือประเด็นที่ทำให้เห็นว่าผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจก็ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริงและมันสะท้อนถึงอุดมการณ์อำนาจนิยม การใช้อำนาจ การไปมุ่งเน้นระเบียบวินัย การแสดงออกทางสังคมเขาก็จุดประเด็นไปสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น เป็นประเด็นที่เริ่มยากแล้ว แต่เราจะเห็นลักษณะที่ว่าปัญหาของสังคมเปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับยุค 40 ปีที่แล้ว แต่กับปัจจุบัน ผมมองว่าจิตสำนึกเขาไม่ได้หายไปไหน เขาเพียงกำลังมองหาว่าประเด็นมันอยู่ตรงไหนและมองหาจังหวะ”
รศ.ดร.ยุกติมองว่านักศึกษาที่จุดประเด็นกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ใกล้ตัว แต่ถ้าเขามีจุดยืนที่มั่นคงพอและจุดประเด็นไปยังเรื่องที่สังคมประสบปัญหาร่วมกันได้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะเป็นการจับประเด็นปัญหาที่ทำให้สังคมต้องหันกลับมามอง หรือในกรณี “อั้ม เนโกะ” ที่รณรงค์ต่อต้านการบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษา เมื่อเขากล้าที่จะทำเช่นนั้น ก็ต้องกล้าที่จะยอมรับและเผชิญกับผลสะท้อนของสังคมที่ตามมาจากนั้นด้วย
และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าภาพโปสเตอร์ที่อั้มเนโกะ ใช้รรรงค์ในประเด็นดังกล่าวเกินเลยขอบเขตความเหมาะสมหรือไม่ รศ.ดร. ยุกติ มองว่า
“ผมไม่รู้สึกอะไร คือถ้าเขาเป็นนักเรียนในโรงเรียนผมจะตั้งคำถามอีกแบบหนึ่ง แต่ว่าเขาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว ดังนั้น ในแง่หนึ่งการที่เราไปจับเขาใส่ชุดนักศึกษาเรายิ่งไปทำให้เขาเป็นเด็ก การที่เขาท้าทาย มันก็คง เป็นเพราะเขาอยากแสดงให้เห็นว่าเขาอยากพูดในประเด็นที่ผู้ใหญ่พูดกัน เพราะแม้กฎหมายหลายอย่างจะลักลั่น ระบุความเป็นผู้บรรลุนิติภาวะไว้ต่างกัน
แต่ถ้าเรายึดเรื่องการมีสิทธิ์เลือกตั้งเมื่อมีอายุ 18 ปี วันนี้ เขาก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกตั้งแล้วและสามารถที่จะถูกเลือกได้ด้วยนะ เขาเป็นวัยที่ก้าวเข้ามาสู่สาธารณะ
ดังนั้น เมื่อเขาก้าวเข้ามาแสดงเรื่องนี้ ถ้าถามว่าความไม่เหมาะสมคืออะไร การรณรงค์ทางสังคมมันก็มีทางเลือกหลายๆ แบบ คือถ้าเป็นผมทำประเด็นนี้ ผมก็ไม่ใช่คนที่จะทำอะไรแบบนั้น เรามีวิธีการสื่อสารที่ต่างกันไป แต่ถ้าวิธีนี้มีคนมองว่ามันหยาบโลน ล่อแหลม เราก็ยังเห็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมใช้คำหยาบด่าทอกัน”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าภาพโปสเตอร์ของอั้มเนโกะถือว่าเกินเลยขอบเขตความเหมาะสมหรือไม่ รศ.ดร.ยุกติ กล่าวว่า “ผมว่าเราแสดงความคิดเห็นได้ว่าเราไม่เห็นด้วยกับการแสดงออกแบบนี้ แต่ถ้าถามว่าเกินเลยขอบเขตไหม ผมมองว่าไม่เลยเพราะไม่ได้เกินขอบเขตของกฏหมาย เมื่อไหร่ที่เกินเลยกรอบกฏหมายนั่นแหละเกินขอบเขต ตราบใดที่ไม่เกินเลยกฎหมายก็ไม่เกินขอบเขต”
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าคิดอย่างไรต่อการที่มีคนเปรียบเทียบว่านักศึกษาในกรุงเทพฯ ไม่มีพลังขับเคลื่อนเท่า นักศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และนักศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ร่วมสู้กับชาวบ้านต้านเหมืองทองคำ รศ.ดร.ยุกติ ตอบว่ากรณีที่เกิดขึ้นก็เป็นมิติที่น่าสนใจ เพราะนั่นหมายความว่าความรู้สึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมของแต่ละที่แต่ละถิ่น ตอบโจทย์ถิ่นฐานของตัวเองมากขึ้น แต่สำหรับในกรุงเทพฯ นักศึกษาจะไปสู้เพื่อใคร
“ถ้านักศึกษาจะไปทำเรื่องสลัมหรือปัญหาเรื่องอื่นๆ ก็มีคนทำไปหมดแล้ว แม้แต่ NGO วันนี้ก็มีบทบาทลดลงแล้ว เพราะตอนนี้เอ็นจีโอกับรัฐก็แยกกันไม่ออกแล้วเพราะรัฐเป็นแหล่งทุนใหญ่ เอ็นจีโอก็ได้รับทุนตรงส่วนนี้แม้จะเป็นเงินภาษีแต่ก็ถือเป็นเงินของรัฐ มันแยกกันไม่ออกหรอก แล้วนักศึกษาเขาจะทำอะไร นักศึกษาผมก็มีนะ ที่เขาสนใจประเด็นเรื่องการพัฒนาชนบท แต่ประเด็นคือเมื่อไปออกค่ายอาสาฯ เขาก็ไปพบว่าชาวบ้านเขาก็จัดการชีวิตเขาได้ แล้วเหมือนกัน เพราะปัจจุบันรัฐวิ่งเข้าไปในทุกที่ จะดีหรือไม่ดี ไม่รู้นะ จะเรียกว่าประชานิยมหรือสวัสดิการก็แล้วแต่"
"แต่สำหรับในภาคใต้ ที่นั่นปัญหาใหญ่มากแล้วรัฐก็เป็นคู่ขัดแย้ง ประเด็นมันชัด หรืออย่างเรื่องเขื่อน เรื่องเหมือง ประเด็นมันก็ชัด ถ้ามีนักศึกษาเข้าไปต่อสู้มันจะเป็นภาพพลังบริสุทธิ์ แต่นักศึกษาในกรุงเทพฯ ถ้าไปออกค่ายอาสาฯ เขาก็จะได้เรียนรู้ว่าคนชนบทเขาอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้ว"
"ขณะที่เมื่อก่อนชาวนายังถูกเก็บภาษีอยู่เลย ตอนนั้นปัญหามันต่างจากตอนนี้ ดังนั้น นักศึกษาที่จะขับเคลื่อนตอนนี้ต้องหาประเด็นใหม่ แต่ถ้าถามว่าประเด็นใหญ่มีไหม มีสิ คุณจะให้ใหญ่ขนาดไหนล่ะ เรื่องมาตรา 112 เขาก็ทำ แต่ต้องถามมหาวิทยาลัยว่ายอมให้ขับเคลื่อนหรือเปล่า พลังบริสุทธิ์นะ แต่แม้มหาวิทยาลัยไม่ยอม นักศึกษาเขาก็ทำ ดังนั้น ในธรรมศาสตร์และจุฬาฯ ช่วง 4-5 ปีนี้ ผมมองเห็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ”
สุดท้าย ผู้สื่อข่าวถามว่าสังคมไทยควรให้ความสำคัญต่อการรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาฯ แค่ไหนและควรรำลึกด้วยการทำความเข้าใจในมิติใดบ้าง รศ.ดร.ยุกติ ตอบว่า
“ก็ยังจำเป็นนะ และผมยังยืนยันว่าการนำเสนอประวัติศาสตร์ ของ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 มันไม่ควรจะเป็นข้อมูลด้านเดียวที่ทำให้นักศึกษาธรรมศาสตร์มาฟูมฟาย หลงใหลกับประวัติศาสตร์ของตัวเอง แต่ผมยืนยันว่าเราควรจะต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตรงนี้ในแง่มุมที่เป็นภาพกว้างของสังคม เพราะมันยังมีสิ่งที่ถูกปิดซ่อนอีกเยอะแยะและมันทำให้เรามองข้ามเงื่อนไขที่แท้จริงที่ทำให้สังคมเรามาสู่จุดที่มันเป็นภาวะวิบัติแบบนั้นขึ้นมาอีก ถ้าเราเรียนรู้มิติในแบบที่ครบถ้วน มันคงทำให้สังคมเรียนรู้ได้มากขึ้น"
"ผมเคยตั้งคำถามว่าวิธีที่เราพูดถึงความรุนแรงเดือนตุลาคมในธรรมศาสตร์ มันสร้างความเคียดแค้นชิงชังมากเกินไปหรือเปล่า เราพูดในมิติที่จะไม่ให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังกันมากเกินไปได้ไหม ผมยืนยันว่าถ้าเราจะพูด เราก็ควรที่จะไม่พูดเพื่อความเกลียดชังหรือเพื่อให้เป็นเชื้อมูลของความรุนแรงแต่ควรพูดเพื่อให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ว่ามันเกิดอะไรขึ้นและแก้ไขมัน” รศ.ดร.ยุกติระบุ