นักวิจัยได้งานถ้วนหน้า!!รัฐอัดงบ50ล.จ้างสำรวจผลกระทบน้ำมันรั่วทะเลระยอง
เผยรายชื่อนักวิจัย สำรวจผลกระทบน้ำมันดิบ กรมทรัพยากรทางทะเล จัดงบเริ่มต้นกว่า 50 ล.บาท! ด้านเครือข่ายประมงจี้ รัฐต้องชี้แจงข้อมูลผลกระทบแก่ประชาชน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้นำเสนอเอกสารรายงานผลการดำเนินการกรณีอุบัติภัยน้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่ทะเลจังหวัดระยอง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อรับทราบถึงแนวทางการปฏิบัติและการแก้ไขปัญหาในเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วครั้งนี้
โดยเอกสารดังกล่าว มีใจความตอนหนึ่งระบุถึง “แผนสำรวจ ประเมินผลกระทบและฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม” ที่มีรายชื่อนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบสำรวจ พร้อมงบประมาณที่ตั้งไว้ ได้แก่ การสำรวจด้านสมุทรศาสตร์ งบประมาณ 25 ล้านบาท ศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือคุณภาพน้ำเบื้องต้น แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ ลูกปลาวัยอ่อน สัตว์พื้นทะเล สารมลพิษในน้ำ สารมลพิษในดิน ผู้รับผิดชอบสำรวจในกลุ่มนี้ได้แก่ ผศ.ดร.ธีรพงศ์ ด้วงดี, ดร.ภาสิณี วรชนะนันท์, รศ.ดร. เชษฐพงษ์ เมฆสัมพันธ์ ม.เกษตรศาสตร์
การสำรวจระบบนิเวศปะการัง งบประมาณ 20 ล้านบาท ศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือ ปะการัง ปลา หอย เอคโคไนเดิร์ม จุลินทรีย์ แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ สัตว์หน้าดิน คุณภาพน้ำ
ผู้รับผิดชอบสำรวจในกลุ่มนี้คือ ดร.ภาสิณี วรชนะนันท์ ม.เกษตรศาสตร์, รศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ จุฬาฯ, ผศ.ดร. ธรรมศักดิ์ ยีมิน และสถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำ จุฬาฯ
การสำรวจผลกระทบการแพร่กระจายของไฮโดรคาร์บอนละลายน้ำจากกรณีน้ำมันรั่วไหลในทะเล งบประมาณ 1.5 ล้านบาท สำรวจโดย ผศ.ดร.อนุกูล บูรณะประทีปรัตน์ ม.บูรพา
ติดตามการสะสมของ oil dispersant ในระบบนิเวศน์ทางทะเล งบประมาณ 8 แสนบาท สำรวจโดย ดร. อภิญญา นวคุณ ม.บูรพา
ติดตามการสะสมของปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในระบบนิเวศน์ทางทะเล งบประมาณ 1 ล้านบาท สำรวจโดย ดร.ถนอมศักดิ์ บุญภักดี
สำรวจความเป็นพิษของน้ำมันดิบ และ oil dispersant ต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล งบประมาณ 2.5 ล้านบาท สำรวจโดย ดร.ภาสิณี วรชนะนันท์ ม.เกษตรศาสตร์
สำรวจการพัฒนาดัชนีชี้วัดทางชีวภาพ งบประมาณ 2 ล้านบาท ผศ ดร ปภาศิริ บาร์เนท ดร ซูตา บุญภักดี ม บูรพา
การประเมินมูลค่าผลกระทบจากกรณีน้ำมันรั่วต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล งบประมาณ 2 ล้านบาท สำรวจโดย รศ.ดร. อรพรรณ ณ บางช้าง ม.สุโขทัยฯ
จัดทำแผนที่ประเมินความเปราะบางของระบบนิเวศน์ งบประมาณ 3 ล้านบาท สำรวจโดย ดร.สุชาย วรชนะนันท์ ม.เกษตรศาสตร์
ทั้งนี้ กรอบระยะเวลาในการสำรวจถูกวางไว้ในเบื้องต้นคือนับแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2556 และการสำรวจประเมินผลในระยะยาวที่วางไว้ถึงปี 2560
ขณะที่ นายจัตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกเครือข่ายสมาคมประมงเรือเล็กพื้นบ้าน จ.ระยอง และนายธีระพล ลายประดิษฐ์ เจ้าหน้าที่เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและเครือข่ายกลุ่มประมงเรือเล็กชายฝั่ง จ.ระยอง ยังคงทวงถามถึงรายงานการศึกษาถึงผลกระทบในด้านต่างๆ จากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดถึงผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วครั้งนี้ให้คนในพื้นที่ได้รับทราบแต่อย่างใด