รำลึก100ปี"ป๋วย"ดึงกูรู ต้านอภิมหาโกง มหากาพย์จำนำข้าว
โครงการเตรียมงานรำลึก 100 ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมเครือข่ายองค์กร เตรียมจัดสัมมนา 'มหากาพย์จำนำข้าว สู่มหกรรมกอบกู้สุจริต' 15 ต.ค.56 ดึง 'อัมมาร-หม่อมอุ๋ย-ผู้ว่าแบงค์ชาติ' และกูรูร่วมคับคั่ง
วันที่ 10 ตุลาคม โครงการเตรียมงานรำลึก 100 ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป และองค์กรภาคี เตรียมจัดงานประชุมสัมมนาใหญ่เรื่อง "งานมหากาพย์จำนำข้าว สู่มหกรรมกอบกู้สุจริต" ในวันที่ 15 ตุลาคม 2556 (08.00-17.50 น.) ณ ห้องประชุม 212 อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาฯ โดยมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นวิทยากรคับคั่ง อาทิ ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์, นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย ศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมต.คลัง ฯลฯ ร่วมให้ข้อมูล
ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม ในฐานะผู้ร่วมจัดงาน กล่าวว่า ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา นายต่อตระกูล ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม แจ้งมาเข้าร่วมสัมมนาเพิ่มด้วย แต่ว่า 'ยิ่งลักษณ์' ยังไม่ได้ตอบว่าจะมาหรือไม่
ทั้งนี้ ในงานสัมมนามีหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ จำนำข้าวเสียหายใหญ่หลวง ใครได้ประโยชน์, กลไกตลาดข้าว กลโกงขาเข้า, กลไกตลาดข้าว กินรวบขาออก, ไหนว่าชาวนารายย่อยได้ประโยชน์, จำนำข้าว...ล้มเหลวแล้วล้มลุก, มหากาพย์จำนำข้าว...โง่หรือจงใจ และทางออกที่สุจริตเพื่อกอบกู้วิถีข้าวไทยในอนาคต
นายวิชัย อัศรัสกร เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นได้ติดตามเรื่องจำนำข้าวมาตลอด เห็นว่าโครงการนี้จุดเริ่มต้นอาจมีเจตนาที่ดี แต่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาก็ประเมินได้แล้วว่าดีหรือไม่
"ที่ผ่านมามีการถกเถียงมาตลอดเรื่องตัวเลขการขาดทุนว่ายอดเท่าใด แต่ที่ชัดเจนและไม่มีการถกเถียงกันเลยคือขาดทุนแน่ๆ ดังนั้น การขาดทุนขนาดนี้คุ้มแล้วหรือไม่ ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นเคยจัดประชุมเรื่องจำนำข้าวและเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบมาประชุม สิ่งที่เห็นตรงกันคือโครงการนี้เปิดโอกาสให้มีการทุจริตตั้งแต่ขั้นตอนแรก จึงน่าจะนำมาเป็นบทเรียน สังคมควรจะได้รับรู้สิ่งเหล่านี้ ควรจะศึกษา เพราะงบประมาณจำนวนมากที่ใช้อยู่มากถึงขั้นหลายแสนล้านบาท และจะมีผลกระทบต่อภาระทางการคลัง"
ด้านนายบรรยง พงษ์พานิช ที่ปรึกษาสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประการแรกที่ควรตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบายรับจำนำข้าวคือโครงการนี้เริ่มมาได้อย่างไร เมื่อรู้แต่แรกและมีนักวิชาการเตือนแล้วว่าจะเสียหาย ขาดทุน ซึ่งนโยบายนี้มีเจตนา 2 เรื่อง ได้แก่
1.ช่วยชาวนา เป็นเรื่องที่ยอมรับ แต่เมื่อนำเงินทั้งหมดที่เสียหายจากโครงการไปช่วยชาวนาจะต้องได้คนละกว่า 1 แสนบาท แต่ความเป็นจริงไม่ได้เช่นนั้น เงินหายไปจากการโกง และที่แน่นอนกว่านั้นความเสียหายน้อยยิ่งกว่าเมื่อเทียบเทากับการออกแบบให้โกงได้ นั่นทำให้เกิดความเสียหายมากกว่า
2.ความต้องการปั่นราคาข้าวโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จากที่เป็นผู้ส่งออก 1 ใน 3 ของทั้งโลก ประเทศไทยผลิตเป็นอันดับ 6 ผลิตข้าวเพียง 4% ของข้าวทั้งโลกที่ผลิตได้ปีละ 470 ล้านตัน และข้าวที่ซื้อขายในตลาดโลกมีประมาณ 30 ล้านตัน
"ใครก็มองออกว่าปั่นราคาไม่ได้ อย่างที่บราซิลเคยพยายามปั่นราคาน้ำตาลก็ไม่สำเร็จ ทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่ารัฐที่แสนดีแสนเก่งไม่มีในโลก ฉะนั้น ประเทศอื่นมีแต่ลดบทบาทรัฐ แต่ประเทศไทยยึดเอาตลาดที่เป็นของเอกชนมาเป็นของรัฐ ความเสียหายครั้งนี้จึงใหญ่หลวงมาก และผมค่อนข้างมั่นใจว่าเสียหายหลายสิบเท่าของเงินที่โกงไป"
ด้านตัวแทนเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทางเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมีแนวคิดว่า การทำธุรกิจทุกวันนี้จะดึงกำไรให้แต่เจ้าของไม่ได้ ต้องแบ่งให้สังคมและสิ่งแวดล้อมไปด้วย ซึ่งกรณีของข้าวไทยเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ที่คนทั้งโลกยอมรับ โครงการจำนำข้าวจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะทำให้ต่อจากนี้ไม่มีแรงจูงใจให้ชาวนาผลิตข้าวคุณภาพดี หรือแม้แต่ข้าวเกษตรอินทรีย์ปลอดสารที่สามารถเรียกราคาพรีเมี่ยมได้ นอกจากนั้น การรักษาสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการทำนาข้าว โครงการนี้อาจบิดเบือนการทำเกษตรอื่นๆ ก็ได้
กลุ่มองค์กรร่วมจัดได้แก่ กลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.), ศูนย์วิจัยเพื่อต่อต้านการทุจริต ป๋วย อึ้งภากรณ์, เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN), เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์, ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาแผ่นดินเชิงคุณธรรม, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)