วิกฤติเยาวชนไทยเล่นพนันตั้งแต่-7ขวบ-นักวิชาการจี้รบ.ชูเป็นวาระชาติ
ผลวิจัยระบุเด็กไทยเริ่มเล่นพนันตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ขณะที่กลุ่มนศ.เล่นพนัน 29.2% พอเกิดปัญหาใช้วิธีกู้ยืมเงิน ด้าน ดร.ธีรารัตน์ แนะรัฐบาลออกโรงดึงปัญหาการพนันเป็นนโยบายระดับชาติ ย้ำปัญหาพนันไม่ใช่ปัญหาส่วนตัว
วันที่ 10 ตุลาคม 2556 มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงษ์ ร่วมกับเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน จัดเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อป้องกันเด็กไทยและเยาวชนจากการพนัน ความท้าทายในการจัดการสำหรับบริบทของสังคมไทย โดยมีนายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน กล่าวเปิดงาน ณ ห้องประชุมคอนเวนชั่นฮอลล์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
ทั้งนี้ภายในงาน มีเวทีเสวนาในหัวข้อ “การป้องกันเด็กและเยาวชนไทยจากการพนัน ภายใต้ค่านิยมและความท้าทายในบริบทของสังคมไทย” โดยรศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์การพนันในประเทศไทยในปี 2554 พบว่า คนไทยเริ่มเล่นการพนันครั้งแรกอายุไม่เกิน 24 ปี ถึง 63% และพบว่า อายุน้อยสุดที่เริ่มเล่นการพนันนั้นมีอายุเพียง 7 ปี
ทั้งนี้ในปี 2556 ทางศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ได้มีการสำรวจการเล่นพนันในกลุ่มนักศึกษาพบว่า มีนักศึกษาเล่นพนัน 29.2% โดย 5 อันดับแรกของการเล่นพนันที่พบคือ ไพ่ บิงโก หวยใต้ดิน สลากกินแบ่งรัฐบาล และพนันบอล ซึ่งพนันบอลเป็นการพนันที่ส่งผลกระทบรุนแรงมากที่สุดในกลุ่มของนักศึกษา สำหรับช่องทางของการเล่นพนันบอลนั้น มี 3 ช่องทางสำคัญในการรับข้อมูล คือ สื่อออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ และสื่อหนังสือกีฬา
"ขณะนี้เยาวชนคุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ หากระบบอินเทอร์เน็ตกระจายทั่วประเทศและครอบคลุมมากกว่านี้ การเล่นพนันในกลุ่มนักศึกษาอาจจะสูงขึ้นอีก"
รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวถึงผลกระทบจากการเล่นพนันก่อนการสำรวจ 1 ปี พบว่า เด็กเล่นพนันเพื่อต้องการให้ได้เงินที่เสียไปคืน 39% เคยคิดที่จะลดหรือเลิกการพนัน 62% เคยถูกเตือนให้ลด/เลิก 38% ประสบปัญหาจากการพนัน 30% ประสบปัญหาทางการเงินจากการพนัน 11% และส่วนใหญ่แก้ปัญหาโดยการกู้ยืมเงิน 69%
"การเล่นพนันบอลของนักศึกษาเคยใช้เงินสูงสุดต่อคู่อยู่ที่ 4,071 บาท จำนวนเงินที่เล่นเฉลี่ยต่อคู่ 822 บาท เฉลี่ยต่อสัปดาห์อยู่ที่ 2,215 บาท ทั้งนี้ปัญหาที่มีผลกระทบรุนแรงคือปัญหาด้านหนี้สิน เนื่องจากหนี้พนันเป็นหนี้ที่พอกพูน"
ประกาศให้การพนันเป็นปัญหาสาธารณสุข
ด้านดร.ธีรารัตน์ พันทวีวงศ์ธนะเอนก สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า จากการศึกษารูปแบบของการแก้ปัญหาเรื่องการพนันในแคนนาดาและนิวซีแลนด์ พบว่า รูปแบบที่ใช้แก้ปัญหานั้นเขาเน้นให้สังคมมองเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ หากเปรียบเทียบแล้วอย่างประเทศแคนนาดาเองอาจจะวิกฤตมากกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำเนื่องจากคนแคนนาดามองการพนันเป็นเรื่องของงานอดิเรก เป็นเรื่องของการใช้เวลาว่าง แต่เขากลับสามารถจัดการปัญหาได้อย่างเป็นระบบและน่าสนใจ
"ปัญหาการพนันไม่ใช่ปัญหาเดี่ยวๆ ที่จะจัดการเพียงคนคนเดียว การพนันทำให้คนหมดเงิน ไม่มีเงินเกิดการลักเล็กขโมยน้อย ก่ออาชญากรรม แต่การพนันในเมืองไทยกลับไม่ถูกจัดให้เป็นปัญหาสาธารณสุข ทั้งที่การพนันเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาต่างๆถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ"
ดร.ธีรารัตน์ กล่าวอีกว่า มาตรการหลักของแคนนาดา คือ การรณรงค์สร้างความตระหนักในการรับรู้ให้เกิดขึ้นทั้งแจกแผ่นพับ เสนอข้อมูลความรู้ให้นักเรียน เปิดโอกาสให้ให้เด็กเลือกว่า จะเล่นหรือไม่เล่นพนัน แต่ก่อนการเลือกจะมีการฉายวีดิโอให้เด็กดูถึงผลพวงทั้งหมดก่อนที่เด็กจะตัดสินใจเลือก ซึ่งทำแล้วได้ผล
ขณะที่นิวซีแลนด์ให้ความสำคัญกับเรื่องการพนันจนกระทั่งมีมูลนิธิเพื่อปัญหาการพนันนิวซีแลนด์ ซึ่งในนิวซีแลนด์เด็กที่เล่นการพนันส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเห็นคนในครอบครัวเล่นและเพื่อนเป็นผู้แนะนำ แต่ก็ใช้เรื่องการเก็บภาษีมาช่วยจัดการโดยรัฐเป็นคนดูแล ขณะที่อัตราการเก็บภาษีของการพนัน จะเก็บตามผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยนำข้อมูลมาจากคนที่มาขอความช่วยเหลือ หากผู้ประกอบการรายใดหรือการพนันประเภทไหนส่งผลกระทบมากก็จะจ่ายภาษีมาก และมีการกำหนดอัตราภาษีทุกๆ 3ปี อีกทั้งยังประกาศให้การพนันเป็นปัญหาสาธารณสุข มีการจัดทำนโยบายระดับชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาการพนัน
ดร.ธีรารัตน์ กล่าวว่า อยากเห็นการแก้ปัญหาในบ้านเราที่ชัดเจน ต้องทำตอนเริ่มต้น ก่อนที่จะเยียวยา และต้องรู้ก่อนว่าอาการเราหนักแค่ไหน มีสัดส่วนที่แน่นอนในประเทศเท่าไร พอรู้ข้อมูลแล้วต้องจัดทำชุดข้อมูลความรู้ไปเป็นระลอกๆ ทั้งนี้ในช่วงแรกต้องสนับสนุนการสร้างพื้นที่สีขาว ระยะกลางรัฐบาลต้องเตรียมพร้อมว่า จะกำหนดเป็นวาระแห่งชาติได้อย่างไร และต้องมองว่า นี่คือวาระแห่งชาติ เป็นปัญหาสาธารณะสุข ไม่ใช่ปัญหาส่วนตัว รัฐบาลต้องเขามาดูแล ด้วยการแก้ปัญหาแบบบูรณาการแต่ไม่ใช่เพิ่มเป็นรายวิชาแก้ปัญหาพนัน วิชาเยียวยาพนันเอา แต่ต้องเน้นไปที่การแทรกซึมลงไปในทุกรายวิชา ปรับปรุงกฎหมายและใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ส่วนในระยะยาวต้องมีการจัดการให้ทั่วถึงทั้งงานวิจัย สายด่วน คู่มือ เพื่อให้ประชาชนหยิบจับได้ง่าย
กม.ไม่ทันองค์ความรู้ของการพนัน
ขณะที่ ดร.วิเชียร ตันศิริมงคล คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ก้าวหน้าในบางเรื่อง แต่เรื่องการพนันล้าหลังมาก ขณะนี้องค์ความรู้การพนันมีมากขึ้น แต่กฎหมายของเรากลับไม่ทันองค์ความรู้ของการพนัน คำว่า ไม่ทันในที่นี้หมายถึงไม่ทันในแง่ของระบบ
"ตำรวจไทยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายพนันดีหมด แต่ความรู้ในหลักของปฏิบัติขึ้นอยู่กับหน่วยงาน ไม่มีการแก้กฎหมาย อยู่กันแบบไทยๆ และปล่อยให้อุตสาหกรรมการพนันเป็นสีเทา และเจ้าหน้าที่มองว่า การพนันเป็นการผิดกฎหมายที่ไม่รุนแรง" ดร.วิเชียร กล่าว และว่า ดังนั้นการจัดการหรือแก้ไขปัญหาจะต้องช่วยกันคิดว่าจะบริหารจัดการอย่างไร กับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ความหวังยังอยู่ที่พวกเราไม่มีบทลงโทษผู้กระทำความผิดที่รุนแรง เราทำเรื่องการพนันมาหลายปี มีการสร้างองค์ความรู้ผ่านเครือข่าย แต่สิ่งที่ขาดอยู่ตลอดคือเครือข่ายเดินไม่เต็มสูบ พวกเราเหมือนคนเล็กคนน้อยในการแก้ปัญหาสังคม ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วย เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ขณะนี้เราอาจมองปัญหาในมุมมองที่ต่างกัน ดังนั้นอาจจะต้องมีการพูดคุยกันเพื่อให้เข้าใจปัญหาในมุมเดียวกัน
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายในงานมีการแถลงการณ์และมอบหนังสือต่อผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จากกลุ่มเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน โดยเสนอข้อเรียกร้องดังนี้
1.ขอให้รัฐดำเนินการปราบปรามการพนันอย่างจริงจัง
2.ขอให้เพิ่มพื้นที่สีขาวสำหรับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชน
3.ขอให้ส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อสร้างความรู้เท่าทันการพนันแก่เด็กและเยาวชน
4.ขอให้เพิ่มหลักสูตรทักษะชีวิต ที่สามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนรู้ในระบบเพื่อเสริมความแข็งแรงแก่เด็กและเยาวชนไทย ไม่ให้กลายเป็นผู้พ่ายแพ้แก่สังคม