อดีต รมว.พาณิชย์ มองธรรมาภิบาลภาคธุรกิจดีขึ้น ติงการเมืองเป็นตัวสร้างปัญหา
'ณรงค์ชัย อัครเศรณี' มองแนวโน้มธรรมาภิบาลธุรกิจดีขึ้น ติงภาครัฐนำปัญหาการเมืองมาตัดสินส่วนรวม บทลงโทษผู้ทำผิดไม่ชัดเจน ด้านอดีตนายก 'อานันท์' ชี้แนวทางพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องเร่งแก้เหลื่อมล้ำในสังคม ให้ความยุติธรรมคนรุ่นต่อไป
วันที่ 10 ตุลาคม โคซ์ ราวนด์ เทเบิ้ล Caux Round Table เครือข่ายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับโลก หอการค้าไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมจัดประชุมระดับโลกด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในด้านคุณธรรม จริยธรรมในภูมิภาคอาเซียน "The 2013 Bangkok Conference: Global Dialogue on Sustainable Development" โดยมีผู้บริหารจากทั้งภาคธุรกิจไทย ต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญ นักคิดและภาคประชาสังคมร่วมประชุม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในงาน มุ่งเน้นความยั่งยืนภายใต้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทศพิธราชธรรม ณ ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และทูตองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย กล่าวว่าวิกฤตการณ์โลกขณะนี้มีความน่ากังวล 3 ประการ ได้แก่ 1.การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม 2.ลัทธิทุนนิยมที่ขาดการควบคุม และ3.ปัญหาความอดยากหิวโหยเรื้อรัง ที่มีกว่า 1 ใน 8 ของประชากรโลกที่เผชิญปัญหาอยู่
"แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับโลกปัจจุบันนี้ตองยึดหลักคุณค่าร่วมกันในทุกภาคส่วนของสังคม และมุ่งเน้นแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมโดยเร่งด่วน"
ด้านนายไมเคิล เจ แซนเดิล ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาการเมืองและความเป็นธรรม มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดโลกได้แปรเปลี่ยนจากตลาดเศรษฐกิจกลายเป็นตลาดสังคม ทำให้ทุกอย่างในโลกเป็นเพียงสินค้าที่ใช้เงินซื้อขายได้ แต่ทุกคนต้องการให้ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถใช้เงินซื้อขายได้จริงหรือไม่ หรือว่าพลเมืองจะยังมีจิตสำนึกของจริยธรรมและศีลธรรมที่เงินไม่สามารถซื้อหาได้
"การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องยึดแนวคิดให้ความยุติธรรมสำหรับคนรุ่นต่อไป ให้การพัฒนาด้านคุณธรรมของพฤติกรรมร่วมกัน ทำความดีร่วมกัน รับผิดชอบต่อสังคม มีจริยธรรมของตลาด ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะนำมาซึ่งความยุติธรรม"
ขณะที่ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มาร่วมในงาน กล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงเรื่องทุนนิยมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่าเป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงกันมายาวนาน จนมาปัจจุบันมีแนวคิด 'ทุนนิยมที่มีศีลธรรมเป็นฐาน' ทำความเข้าใจปัญหาของโลกเป็นหลัก ซึ่งมีการนำมาปฏิบัติมากขึ้น
"ภายหลังที่เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤติก็ได้รับบทเรียนมากขึ้น ภาคธุรกิจคิดถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าเดิม แนวโน้มธุรกิจประเทศไทยเข้าสู่แนวโน้มที่คิดถึงส่วนรวมมากกว่าเดิม โดยมีสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) คอยวางแนวทาง ธุรกิจสมัยใหม่ก็ไม่ได้คิดถึงแต่ผู้ถือหุ้น (shareholder) อย่างเดียว แต่คิดถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วม (stakeholder) ด้วย ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี"
ส่วนภาครัฐ ดร.ณรงค์ชัย เห็นว่า แนวโน้มยังไม่ชัดเจนว่าดีหรือไม่ แต่ดูจะเป็นปัญหามากกว่า และไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย บางประเทศนำปัญหาทางการเมืองมาเป็นตัวตัดสินมากกว่าปัญหาส่วนรวม จะเห็นว่าธรรมาภิบาลของฝั่งธุรกิจดีขึ้นเป็นลำดับ เพราะหากทำไม่ดีจะโดนลงโทษ ส่งผลให้ธุรกิจเดือดร้อนเสียหาย แต่ทางฝั่งการเมืองยังขึ้นๆ ลงๆ เพราะเมื่อทำไม่ดีการลงโทษไม่ค่อนชัดเจน โดยส่วนตัวจึงมองว่าปัญหาทางการเมืองของทั่วโลกเป็นตัวสร้างปัญหา ไม่ใช่ตัวแก้ปัญหา แม้แต่สหรัฐอเมริกาวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นก็มาจากปัญหาทางการเมือง